สิงคโปร์ โปร่งใสที่สุดในเอเชีย ศาลและกฎหมายซื้อไม่ได้

สิงคโปร์ โปร่งใสที่สุดในเอเชีย ศาลและกฎหมายซื้อไม่ได้

สิงคโปร์ โปร่งใสที่สุดในเอเชีย ศาลและกฎหมายซื้อไม่ได้ สิงคโปร์นั้นทำได้อย่างไร?
หากกล่าวถึงเพื่อนบ้านที่สุดแสนจะร่ำรวยของเราอย่างสิงคโปร์นั้น นอกเหนือจากสิ่งที่เรารู้ ในเรื่องของฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ประชาธิปไตยแบบเอเชีย หรือการปกครองอำนาจอย่างยาวนานของตระกูลลี แต่สิ่งที่น้อยคนจะรู้ นั่นคือ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มี “การทุจริตน้อย” เป็นลำดับที่ 5 ของโลก 

 
นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะการปกครองในลักษณะแบบสิงคโปร์ ที่อาจจะเรียกได้ว่า “กึ่ง ๆ อำนาจนิยม” รวบอำนาจไว้ ไม่ได้มี “แหล่งที่มาของอำนาจ” โดยประชาชนอย่างแท้จริง ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งมาก็ตาม ซึ่งโดยปกติมักจะ “เต็มไปด้วยการคอรัปชัน” อย่างมาก แต่สิงคโปร์ก็สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชียที่ตามมาด้วยดัชนีการทุจริตต่ำและการปราบปรามอย่างจริงจัง

คุณอลัน ลิม ประธานหอการค้าสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ได้เล่าเรื่องความโปร่งใสของสิงคโปร์ให้ฟังว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เรื่องของครอบครัวและการศึกษา หากเด็กได้รับการศึกษาที่ดี ถูกสอนในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น การแบ่งปัน ไม่ขโมยของเพื่อนหรืออยากได้ของคนอื่น เด็ก ๆ จะซึมซับ แล้วจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม 
 
 

สิ่งที่ต่อเนื่องจากการศึกษาที่ดี คือ หน้าที่การงานดี ได้เงินค่าตอบแทนดี จึงทำให้ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงตามไปด้วย เมื่อ GDP สูง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรจะดี ไม่ขาดแคลน ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องทุจริต อย่างไรก็ตาม การศึกษาดี หน้าที่การงานดี ก็ใช่ว่าจะไม่ทุจริตเสมอไป เพราะส่วนใหญ่การทุจริตระดับชาติ มักจะมาจากกลุ่มคนพวกนี้ทั้งสิ้น เมื่อกลับมาทบทวนเรื่องนี้ อาจต้องให้น้ำหนักไปที่ “หน่วยงานกำกับดูแล” เพื่อเข้ามาป้องปรามการทุจริตอีกทอดหนึ่ง 

คุณอลันเล่าให้ฟังต่อว่า “รัฐบาลและ CPIB (Corrupt Practices Investigation Bureau) หรือ สำนักงานสอบสวนการกระทำทุจริตนั้นจัดการเรื่องนี้ได้ดีมาก ๆ CPIB เป็นองค์กรอิสระ ไม่ต้องรอเรื่องจากตำรวจมาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งประชาชนคนใดก็ตามสามารถร้องเรียนการกระทำทุจริต โดยไม่ต้องลงชื่อได้ เพียงแค่มีหลักฐานการกระทำความผิดนั้น จากนั้น CPIB ก็จะเข้าตรวจสอบตามที่ได้รับรายงานมา โดยการถูกตรวจสอบนั้น ทุกคน ทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจขนาดไหนก็สามารถถูกตรวจสอบได้ นี่คือจุดแข็งของสิงคโปร์” 


เมื่อถามต่อว่าแล้วประชาชนจะเชื่อได้อย่างไรว่าระบบนี้โปร่งใสและยุติธรรม?

“Let’s a result speaks for itself. ให้ผลลัพธ์มันส่งเสียงของมันเอง” นี่คือคำตอบจากคุณอลัน การที่สิงคโปร์ติดอันดับหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุด ก็สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของสิงคโปร์นั้นมีประสิทธิภาพ และย้ำว่าศาลและกฎหมายของสิงคโปร์นั้นใช้เงินซื้อไม่ได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ CPIB ระบุว่า สิงคโปร์อาศัยกฎหมายสำคัญสองฉบับในการต่อสู้กับการทุจริต พระราชบัญญัติป้องกันการทุจริต (PCA) และพระราชบัญญัติการทุจริต การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ (CDSA) 

PCA มีขอบเขตกว้างขวางซึ่งใช้กับบุคคลที่ให้หรือรับสินบนทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อ CDSA ถูกนำมาใช้ จะยึดผลประโยชน์ที่ได้มาโดยมิชอบจากผู้กระทำความผิดที่ทุจริต 

กฎหมายทั้งสองฉบับร่วมกันรับรองว่าการทุจริตยังคงเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงและให้ผลตอบแทนต่ำ เมื่อ CPIB เสร็จสิ้นการสอบสวน คดีทุจริตที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดจะถูกส่งไปยังอัยการสูงสุด (AGC) ซึ่งเป็นหน่วยงานอัยการของระบบยุติธรรมทางอาญาของสิงคโปร์ เพื่อขอความยินยอมจากอัยการเพื่อดำเนินการดำเนินคดีในศาล

ส่วนตุลาการสิงคโปร์ เป็นอิสระทางการเมือง เพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง

ขณะที่ CPIB เป็นหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบในการต่อสู้กับการทุจริตในสิงคโปร์ อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้ CPIB สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ

จะเห็นได้ว่า กฎหมายเรื่องการปราบปรามทุจริตของสิงคโปร์ มีการวางบทลงโทษไว้อย่างหนักพอสมควร  หรือว่ากันง่าย ๆ ก็คือ เป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” และที่สำคัญผลบังคับใช้ของกฎหมาย ที่ไม่ได้เป็นเพียงเสือกระดาษที่เขียนขึ้นมาลอย ๆ แต่อย่างที่ทราบกันดีกว่า กระบวนการในการสืบสวนสอบสวนนั้น หน่วยงานภาครัฐย่อมไม่อาจที่จะสืบสาวได้ทุกเรื่องทุจริต เพราะเจ้าหน้าที่ย่อมมีจำนวนน้อยกว่าผู้คิดทุจริตเสมอ 

ที่เพิ่งจะเป็นเรื่องดังไปทั่วโลก เห็นทีจะหนีไม่พ้นคดีความของ “เอส อิสวาราน” อดีตรัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ ที่โดนหลายข้อหาทุจริต รับสินบน รวมกว่า 4.4 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการรับตั๋วเข้าชมการแข่งขันฟอร์มูลาวัน จากมหาเศรษฐีใหญ่ “ออง เบ็ง เส็ง” ด้วย ที่นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี ที่คนระดับรัฐมนตรีเกี่ยวข้องกับการทุจริต

สิ่งที่ปรากฎให้เห็น เป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น จึงต้องเพิ่มเงื่อนไขไปอีกขั้น ในเรื่องของ “การลงโทษทางสังคม” 

ส่วนเรื่องของการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเรื่องต่าง ๆ จะดำเนินการช้า ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อให้ดำเนินการได้เร็ว เพราะเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามลำดับขั้นตอนด้วยความโปร่งใสอยู่แล้ว หากจะจดทะเบียนบริษัท นานที่สุดก็เพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น 

และนี่คือทั้งหมดของสิงคโปร์ ประเทศกึ่งอำนาจนิยมที่มีความเฉพาะตัว ที่สามารถปราบปรามทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการถอดบทเรียนให้เกิดการปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นได้ต่อเรา

https://www.tnnthailand.com/news/world/164584/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่