‘รีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV’ ทางออกที่ไม่มีใครมองเห็น ลดต้นทุน ช่วยสิ่งแวดล้อม

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย  กฤตพล สุธีภัทรกุล
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1121873

“รถ EV” เป็นที่นิยมมากขึ้น หลายประเทศเริ่มมีนโยบาย "รีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV" มากขึ้น เพื่อหาทางนำ “แบตเตอรี่” กลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธี และปลอดภัย ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต และขุดแร่ธาตุมาใช้เป็นส่วนประกอบ
 
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กำลังสร้างผลกระทบต่อโลกของเราอย่างมาก ทางเดียวที่จะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นได้ ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด ก็คือ หันมาใช้ “รถยนต์ไฟฟ้า” (EV) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การรีไซเคิล “แบตเตอรี่” รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงน้อย

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 100 รุ่นให้เลือกซื้อ และจะมีรถรุ่นใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหมายความว่า เราจำเป็นต้องใช้แร่ลิเทียม โคบอลต์ และนิกเกิลจำนวนมากในการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับกักเก็บพลังไฟฟ้าของ EV
เมื่อยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้น จะต้องมีการกำหนดนโยบายสำหรับใช้ซ้ำ และการรีไซเคิลแบตเตอรี่ และวัสดุที่ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการจัดการกับแบตเตอรี่ที่หมดอายุได้อย่างเหมาะสม สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนในระดับต่ำ และมีอัตราการฟื้นตัวของแร่ธาตุหลักอยู่ในระดับสูง 
 
จำเป็นต้องมีนโยบายรีไซเคิลแบตเตอรี่ รถ EV
โดยทั่วไปแล้ว EV จะมีอายุการใช้อยู่บนท้องถนนเฉลี่ยประมาณ 10-15 ปี แต่แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่านั้น หลังจากใช้งานไปได้ 10 ปี หากแบตเตอรี่อยู่ในสภาพดีจะยังกักเก็บไฟฟ้าได้ราว 70-80% ของความจุที่กำหนดเดิม ซึ่งสามารถถอดแบตเตอรี่ออกจากรถเพื่อนำมาใช้ทำอย่างอื่นต่อได้ รวมถึงส่งคืนเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยจะช่วยลดปริมาณการจัดหาวัสดุ และแร่ธาตุสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลงไปได้
การนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ได้ถึง 70% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ EV ได้มาก เพราะราคาแบตเตอรี่คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของต้นทุนรถยนต์
 
สหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย หรือ UCS องค์การที่ช่วยให้เสียงสนับสนุนวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ เสนอให้ภาครัฐจัดนำนโยบายรีไซเคิลแบตเตอรี่ รถ EV โดยนำ “หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) มาประยุกต์ใช้ให้เป็นก้าวสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการขนส่ง ลดความต้องการวัตถุดิบ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด 
พร้อมแนะนำว่าควรกำหนดอัตราการนำกลับมาแบตเตอรี่ใช้ใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าแบตเตอรี่จะได้รับการรีไซเคิลจริงๆ  นี่เป็นสิ่งสำคัญในการลดปริมาณการขุดใช้แร่ธาตุที่จำเป็น หาก EV ก้าวขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญในอนาคต

สำหรับแนวทาง EPR เป็นการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิตตามต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่ขั้นตอนการวางจำหน่ายสินค้า แต่ต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า​ จนถึงการรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด
ถือเป็นการลดภาระให้กับเจ้าของรายบุคคล ธุรกิจขนาดเล็ก และผู้ถอดประกอบ และอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการรีไซเคิลแบบรวมศูนย์ และยั่งยืนมากขึ้น ในสหรัฐเริ่มใช้ EPR ในสินค้าอื่นๆ เช่น ที่นอน สีทาบ้าน และพรม
 
“จีน” พยายามควบคุมมาตรฐาน “รีไซเคิลแบตเตอรี่”
จีนถือเป็นประเทศที่มีการผลิตแบตเตอรี่มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เป็นผู้นำในด้านการรีไซเคิล และการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ แต่นโยบายการรีไซเคิลแบตเตอรี่ของจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น บางครั้งผู้ผลิตแบตเตอรี่ และผู้ผลิตรถยนต์อาจยังไม่มีการแยกแร่ลิเทียม นิกเกิล โคบอลต์ และแมงกานีสออกจากแบตเตอรี่ที่ถูกวิธี

หยาง หลิน เลขาธิการคณะกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ของสมาคมเทคโนโลยีประหยัดพลังงานอิเล็กทรอนิกส์ของจีน กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ไม่ได้รับกฎหมายประมาณ 1 ใน 5 ของทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งธุรกิจนี้ถือเป็นภัยคุกคามความน่าเชื่อถือของแบตเตอรี่รีไซเคิลในประเทศจีน เพราะแบตเตอรี่เหล่านี้อาจไม่ได้ทำการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงกำหนดนโยบาย และให้คำแนะนำในการแยกชิ้นส่วน และทดสอบกำลังไฟแบตเตอรี่อย่างมีมาตรฐาน พร้อมผลักดันให้มีแพลตฟอร์มสำหรับติดตามวงจรชีวิตของแบตเตอรี่ภายในประเทศ รวมถึงให้ผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกับบริษัทรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้บังคับใช้อย่างเคร่งครัด และไม่มีบทลงโทษหากไม่ทำตามกฎดังกล่าว ทำให้แบตเตอรี่เก่าจำนวนมากยังคงวางจำหน่ายอยู่ในตลาดมืด
การจัดระบบการรีไซเคิลให้ดียิ่งขึ้น จะช่วยให้จีนสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำของโลกในตลาด EV ได้ ผู้ผลิตรถยนต์จะลดต้นทุนลง หากรีไซเคิลแบตเตอรี่ในรถยนต์ได้มากขึ้น และมีแหล่งทรัพยากรที่มั่นคงต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันจีนต้องนำเข้าลิเทียมมากกว่า 50% ส่วนโคบอลต์ และนิกเกิลต้องนำเข้ามากกว่า 90% 
อีกทั้งการจัดระเบียบการรีไซเคิลแบตเตอรี่จะช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนทำการตลาดรถยนต์ในต่างประเทศได้ดีขึ้น สหภาพยุโรปได้กำหนดปริมาณขั้นต่ำของปริมาณแร่ในรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายจะต้องมี ตะกั่ว 85% โคบอลต์ 16% ลิเทียม และนิกเกิลอย่างละ 6% พร้อมต้องมีแบตเตอรี่พาสปอร์ต และคิวอาร์โค้ดภายในปี 2570 เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ 
 
บริษัทรถยุโรปเร่งหาทาง “รีไซเคิลแบตเตอรี่”
Renault ผู้ผลิตรถ EV ชั้นนำของยุโรป กำลังหารือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพในการสกัด และรีไซเคิลลิเทียม และโลหะอื่นๆ จากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว โดยตั้งแต่ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของยุโรปที่รีไซเคิลแบตเตอรี่ในระดับอุตสาหกรรมด้วย
“ในยุโรปยัง ไม่มีใครเป็นเจ้าของนวัตกรรมการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เพื่อนำเอานิกเกิล โคบอลต์ และลิเทียมเพื่อผลิตแบตเตอรี่ใหม่” ฌอง-ฟิลิปป์ บาโฮด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยสิ่งแวดล้อมของ Renault กล่าว

นอกจากนี้ปัจจุบัน ได้หยุดการผลิตรถยนต์ใหม่ทั้งคัน และเปลี่ยนมาเป็นการผลิตประกอบรถยนต์ โดยใช้วัตถุรีไซเคิลบางส่วนแทน เช่น แบตเตอรี่ ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะสามารถรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้ประมาณ 9,000 หม้อ
Renault จะจำหน่ายแบตเตอรี่รีไซเคิลในราคาที่ถูกกว่าสินค้าผลิตใหม่ 30% บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 2,490 ล้านดอลลาร์ และภายในปี 2573 จะมีกำไรมากกว่า 10% 
ขณะที่ Miner Eramet บริษัทเหมืองแร่ และโลหวิทยาข้ามชาติ จับมือกับ บริษัทจำกัดขยะ Suez วางแผนสร้างโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ท่าเรือดันเคิร์ก (Dunkirk) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ภายในปี 2568

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่