หลานม่า (2024): ชีวิตจริงต่าง Gen ย่อยง่ายพอดีคำ

ได้เข้าโรงหนังดูหนังไทยเรื่องแรกในรอบสิบกว่าปี ระหว่างโฆษณารอหนังเริ่ม นั่งทบทวนว่าคือเรื่องอะไร มานึกออกว่าคือ "Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ" (2012) ของมะเดี่ยว ชูเกียรติ หนึ่งในคนทำหนังที่ดึงศักยภาพนักแสดง และเล่าเรื่องราวความรักและครอบครัวได้ "ลึก" ที่สุดของไทย (ไม่นับงานที่ไม่น่าจดจำบางเรื่องที่เหมือนไม่ได้ตั้งใจกำกับ)

GTH หรือ GDH ในปัจจุบัน เก่งในการ 'ย่อย' แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่อง มาปรับเข้ากับเรื่องราวชีวิตและจริตคนไทย ที่ไม่ได้ต้องการความลึกหรือซับซ้อนมากนัก หากได้ดูหนังมามากระดับหนึ่ง จะพบว่าหลายงานของค่ายนี้ได้แรงบันดาลใจจากแหล่งอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่เราอาจจะไม่อินกับมันเท่างานต้นฉบับ

หลานม่า ก็ไม่พ้นความเป็นไปนี้ โดยเฉพาะหากชอบเสพหนังญี่ปุ่น (ที่ไม่ใช่เฉพาะ av) เช่นผม ตลอดเรื่องเห็นได้หลายฉากหลายองค์ประกอบที่ได้แรงบันดาลใจมา โดยเฉพาะหนังของผู้กำกับในดวงใจอย่าง Takashi Yamazaki ที่เพิ่งได้ Oscar จาก Godzilla minus one (2023) ที่บ้านเรายังไม่มีโอกาสได้ชม แต่หากคุณได้ดูงานของผู้กำกับคนนี้ระดับหนังยอดเยี่ยมในชีวิต ทั้งไตรภาค Always: Sunset on Third Street (2005/2007/2012) และ The Eternal Zero (2013) ที่เรื่องหลังสามารถทำให้ผมยิ่งร้องไห้ได้หนักขึ้นตลอดทั้งเรื่องและยิ่งหนักขึ้นทุกครั้งที่ได้ดู หรือจะย้อนไปถึงเรื่องครอบครัวอย่าง Departures (2008) จะเห็นแรงบันดาลใจถูกนำมาย่อยใส่หลายฉาก

ยังไม่ต้องพูดถึงเพลงประกอบ ที่ฟังครั้งแรกก็นึกถึงวง Bump of Chicken จากเรื่อง Always และวง Southern All Stars จากเรื่อง The Eternal Zero เช่นกัน และทางค่ายก็ดูจะเปิดเผยชัดเจนผ่านโปสเตอร์หนังที่แทบจะเป็นโปสเตอร์หนังญี่ปุ่น

พูดมายืดยาวไม่ได้ต้องการดิสเครดิต เพราะหลานม่า ก็สร้างเรื่องราวและเอกลักษณ์ของตัวเองในความเป็นไทย-จีน ได้ชัดเจน และมีแง่งามในการเล่าเรื่องให้ผู้ชมได้รับคุณค่าของสารที่ทางผู้กำกับต้องการสื่อ

จุดแข็งของเรื่อง เป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นจนต้องรอดูชื่อท้ายเครดิต คือ งานกำกับภาพ ที่ทุกฉากมีการออกแบบวางตำแหน่งได้สวยเหลือเกิน จากคุณบุณยนุช ไกรทอง และเคมีของยายหลาน ฝั่งหลานคงไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นนักแสดงอาชีพที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ทำหน้าที่ได้อย่างไม่มีให้ติ แต่ฝั่งอาม่า หรือคุณอุษา เสมคำ ซึ่งไม่ตั้งใจเข้าวงการ และมีผลงานก่อนหน้าน้อยนิด กลับสามารถถ่ายทอดตัวละครหลักแบกเรื่องร่วมกับนักแสดงอื่นได้ เราจะเห็นว่ามีหลายฉากที่หลุด แต่การแสดงระหว่างตัวละครก็เป็นธรรมชาติพอให้ผ่านออกมาได้ และยิ่งเสริมเรื่องราวไปอีก

ผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ถึงเป็นหนังเรื่องแรก แต่สามารถเล่าเรื่องออกมาได้ชัดเจน ไม่บีบคั้นจนตั้งใจ ผมดูเรื่องราวของครอบครัวนี้ เหมือนดังชมชีวิตจริงของครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปรอบตัว ซึ่งในชีวิตจริงแต่ละบ้านนั้นล้วนซับซ้อนและดราม่ายิ่งกว่าในภาพยนตร์ด้วยซ้ำ แต่สารที่ผู้กำกับสื่อผ่านทุกรายละเอียดออกมาได้ คือการทำให้เราถวิลหาความทรงจำบางอย่างจากปู่ย่าตายายญาติผู้ใหญ่ของทุกคน และสะท้อนถึงเรื่องราวการเติบโตจากรุ่นสู่รุ่นในชีวิตจริงของเรา ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้งานชิ้นนี้มีคุณค่าน่าจดจำและประสบความสำเร็จ

เป็นภาพยนตร์ที่มาถูกเวลา ในยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวถูกลดทอนลงตามเทคโนโลยีและความเจริญของวัตถุมากกว่าจิตใจ

เป็นภาพยนตร์ Happy Sad ยิ้มทั้งน้ำตา ไม่ใช่เพราะตัวละครบนจอ แต่เพราะการนั่งทบทวนนึกถึงความรักความสัมพันธ์ของครอบครัวในช่วงเวลาที่เราเติบโต ในวัยที่เราอาจยังไม่เข้าใจบางเหตุผล แต่เมื่อเราเติบโตพอจนเข้าใจมัน ก็อาจไม่มีท่านอยู่เสียแล้ว...

8/10
หนังไทยที่คุ้มค่าในการกลับเข้าชมในโรง ชอบในความ "พอดี" ของทุกองค์ประกอบในเรื่อง ชอบมากในการแทรกสัญลักษณ์ของความรักอันเรียบง่าย ที่คนรุ่นก่อนถ่ายทอดให้ลูกหลานเชื้อไข ถูกโปรยไว้ตลอดทั้งเรื่อง

ขอบคุณที่โลกนี้มีภาพยนตร์

[บทความนี้ขออุทิศให้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายครับ]

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่