ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย เดือน ก.พ.โตต่ำ ส่งออกหด-เงินเฟ้อติดลบน้อยลง

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทย เดือน ก.พ. โตต่ำ แม้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ภาคส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังหดตัว จากอุปสงค์โลกฟื้นตัวช้า ด้านเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.77% ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.11%

วันที่ 29 มีนาคม 2567 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยรวมขยายตัวในระดับที่ยังต่ำ จากการส่งออกยังคงปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า (ไม่รวมทองคำ) ร้อยละ 2.9% จากเดือนก่อนหน้า

โดยการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลง เนื่องจากหลายกลุ่มสินค้ายังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐ
รวมถึงการส่งออกแผงวงจรรวมและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปจีนและฮ่องกง ยานยนต์ตามการส่งรถกระบะไปออสเตรเลียเป็นสำคัญ และปิโตรเลียมจากการส่งออกไปอาเซียน มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุน
“การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง เสถียรภาพเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และรายจ่ายประจำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อนตามการเลื่อนเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ”

ขณะที่การบริการยังขยายตัวต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มชึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาปรับตัวดีขึ้น 1.2% โดยหลักมาจากหมวดปิโตรเลียมกลับมาเร่งผลิต และหมวดเคมีภัณฑ์ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากปีก่อนหน้า ทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูง รวมถึงการลงทุนรัฐวิสาหกิจ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 0.77% ถือว่าติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.11% จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงที่ 0.43% ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 0.52% ตามราคาอาหารในหมวดพื้นฐาน จากผลของฐานสูงในปีก่อน สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยอ่อนค่าลงต่อเนื่องในเดือน ก.พ. 2567 ขณะที่เดือน มี.ค. 67 เคลื่อนไหวผันผวน

สำหรับแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2567 ระยะถัดไป คาดว่ายังได้รับแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม และระยะต่อไป ต้องติดตาม 
1.การฟื้นตัวของการค้าโลก โดยเฉพาะเกี่ยวกับภาคการผลิต 
2.ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 
3.การใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

Cr. https://www.prachachat.net/finance/news-1532806

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่