เรื่อง เอาการเลือกตั้งไปแก้ปัญหา  กลับเป็นตัวสร้างปัญหา

เรื่อง เอาการเลือกตั้งไปแก้ปัญหา 
กลับเป็นตัวสร้างปัญหา
บ้านเรามีทรรศนะต่อประชาธิปไตยเช่นเดียวกับชาวอเมริกา คือเป็น สถาบันประชาธิปไตย (Democratic Institution) ซึ่งส่วนสำคัญ หมายถึง การเลือกตั้ง นั่นเอง มีการเลือกตั้งจึงจะเป็นประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้งเป็นเผด็จการ 

เพราะอเมริกาสร้างการปกครองประชาธิปไตยเสร็จตั้ง 200 กว่าปีแล้ว จึงไม่ต้องพูดถึงหลักการปกครองประชาธิปไตยทั้ง 5 หลักอีกแล้ว

เพราะสร้างเสร็จ หมดปัญหาไปแล้ว อย่างมากเขาพูดเพียง การเลือกตั้งซึ่งเป็นสถาบันประชาธิปไตยก็พอแล้ว ประเทศเขามีประชาธิปไตยอยู่ตัวแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีก 

แต่บ้านเราคิดจะเลือกตั้งลูกเดียว โดยไม่คิดสร้างการ ปกครองแบบประชาธิปไตย ให้สำเร็จเหมือนอย่างเขาเสียก่อน ผู้ปกครองจึงพังมาตลอด

เมื่อก่อนการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 ผู้คนเข้าใถูกต้องว่า การปกครองแบบ ประชาธิปไตย คืออะไร ดังเช่นคำพูดของ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “ท่านวรรณ” กล่าว ไว้ว่า “การปกครองแบบประชาธิปไตย คือ อำนาจอธิปไตยของปวงชน เสรีภาพของบุคคล” แต่มาสมัยนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย กลับบอกว่า “ประชาธิปไตย” คือ เลือกตั้งทุกระดับ เช่น เลือกตั้งนายกฯ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เลือกตั้งวุฒิฯ เป็นต้น 

ซึ่งนอกจากห่างไกลการขยายระบอบ ประชาธิปไตยแล้ว จริงๆ กลับกลายเป็นการกระชับระบอบเผด็จการ ให้หนักขึ้นไปอีก

การเลือกตั้งบ้านเรา คือ วิธีการเพื่อให้ได้ผู้แทนของคนรวย ไม่ใช่วิธีการเพื่อให้ได้ผู้แทนของประชาชนคนทั่วไป 

เพราะการเลือกตั้งบ้านเราเป็นการเลือกตั้งแบบเผด็จการ ที่อยู่ภายใต้ การปกครองแบบเผด็จการ จึงเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก

แย่งอำนาจกันเองในขบวนการเผด็จการด้วยกัน ประชาชนเบื่อหน่ายเอือมระอา ประชาชนรู้ดีว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งไม่ใช่ผู้แทนของประชาชน แต่เป็น ผู้แทนของนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในขบวนการเผด็จการเท่านั้น 

แต่ประชาชนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นความคิดของขบวนการเผด็จการ ที่คิดจะแก้ปัญหาของประเทศ โดยไม่ต้องสร้างประชาธิปไตยด้วย
การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง 

เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และเลือกตั้งทุกระดับ อันเป็นการเลือกตั้งที่ผิดหลักวิชา ไม่สามารถทำได้ทางวิชาการอย่างสิ้นเชิง 

ซึ่งขณะนี้ผลของมันได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และเริ่มเป็นลางร้ายที่จะตาม มาอีกด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการกระชับระบอบเผด็จการให้หนักลงแล้ว 
ยังกลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีในการเปลี่ยนรูปของรัฐ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกประเทศ และเปลี่ยนรูปการปกครองจากระบบรัฐสภา สู่ระบบประธานาธิบดี อีกด้วย 

แม้จะมีการเลือกตั้งถูกหลักวิชาอยู่บ้าง เช่น เลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้งสุขาภิบาล เทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็ตาม ก็พากันล้มเหลวตามไปด้วย ฝากความหวังอะไรไว้ไม่ได้เลย
ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภานั้น

“การเลือกตั้ง” ย่อมกลายเป็น “การเลือกแบบ เผด็จการ” และ ยิ่งเลือกตั้งมากเท่าไร ก็ยิ่งกระชับระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น 
อำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนน้อย หรือกลุ่มนายทุนใหญ่ต่อไป 

โดยยิ่งเลือกตั้งยิ่งได้ผู้แทนคนร่ำรวย ผู้มีอิทธิพล นักเลือกตั้ง หัวคะแนนเข้ามาใช้ อำนาจ และขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง

อันเป็นการกระชับอำนาจให้เป็นของคนส่วนน้อย แน่นหนาเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลือกตั้งทุกระดับ ก็ยิ่งกระชับอำนาจกลไกทุกระดับให้ตกเป็นเครื่องมือ โดยผู้แทนคนส่วนน้อยเหล่านั้นนั่นเอง 

และเป็นการเปิดช่องให้บุคคลากรบางฝ่าย ใช้การเลือกตั้งเป็น เครื่องมือ ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และพลิกประเทศ จากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ จาก ประเทศรัฐเดียวเป็นประเทศหลายรัฐ จากระบบรัฐสภาสู่ระบบประธานาธิบดี 

นอกเหนือจะใช้เป็น เครื่องมือกระชับอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยแล้ว และถ้าพลิกประเทศได้จริงก็จะมีสภาพเช่น เดียวกับ “ระบอบเผด็จการมาร์กอส” เกิดสภาพอนาธิปไตยไปทั่วประเทศ และจบลงที่ สงคราม กลางเมือง

การเลือกตั้งแบบเผด็จการของบ้านเรา 
แม้จะตั้งองค์กรกลางสักร้อยองค์กร หรือตั้งคณะ กรรมการเลือกตั้งแห่งชาติสักร้อยคณะ หรือตั้งองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ
จำนวนสักร้อยองค์กร ก็ไร้ ประโยชน์ 

เพราะถ้ายังไม่ยอมเปลี่ยนการปกครองให้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็จะแก้ ปัญหาเลือกตั้งไม่ได้ และยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าคิดจะเอาการเลือกตั้งไปแก้ปัญหาประเทศชาติ เพราะแม้แต่ ตัวการเลือกตั้งเองก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเลย 

การเลือกตั้งกลับเป็นตัวการของปัญหาที่เป็นอยู่ใน ขณะนี้ การแก้ปัญหาประเทศชาติ และปัญหาการเลือกตั้ง ต้องทำตามหลักวิชา คือ “สร้างการปกครอง แบบประชาธิปไตย” ให้สำเร็จเท่านั้น ทางอื่นและวิธีอื่นทำไม่ได้ 

ยิ่งจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ แก้ปัญหา ก็ต้องล้มเหลวซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา อันเป็น

“การสร้างประชาธิปไตยบนแผ่นกระดาษ  ไม่ใช่การสร้างประชาธิปไตยบนแผ่นดิน”

อ.วันชัย พรหมภา  บรรยาย
ไพบูลย์ สถาปนาวิสุทธิ์  เรียบเรียง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่