เรื่องน่าคิดเกี่ยวกับ “ดอกเบี้ย” กูรูดัง เตือน มนุษย์เงินเดือน ผ่อนเท่าเดิม-หนี้อยู่ยาว

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://www.thairath.co.th/money/personal_finance/banking_bond/2770146

ว่ากันว่า ปีนี้ อาจเป็น ปีแห่งการ “ลดดอกเบี้ย” ของหลายประเทศทั่วโลก หลังจากธนาคารกลางหลายแห่ง มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง ตาม “เงินเฟ้อ”

ตัดมาที่ ดอกเบี้ยประเทศไทย ล่าสุดค้างอยู่ที่ ระดับ 2.50% ต่อปี ซึ่งถูกมองว่า เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป กระทบคนเป็นหนี้ และการขอสินเชื่อใหม่ๆ สะท้อนจาก ตัวเลข หนี้เสีย กำลังปะทุ ออกมา เกิดภาพคนผ่อนหนี้บ้านไม่ไหว, ค้างค่างวดรถ ดันรถมือสองเข้าสู่ตลาดจำนวนมหาศาล นับแสนคัน 
เรื่องน่าคิดเกี่ยวกับ “ดอกเบี้ย”

ล่าสุด กูรูดังด้านการเงินแถวหน้าของเมืองไทย “วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” โพสต์ข้อความ เปิดประเด็นชวนคิดเกี่ยวกับ “เรื่องดอกเบี้ย” ที่น่ากังวลมากขึ้น ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ที่ติดกับดัก ผ่อนต่ำ-ผ่อนหนี้นาน โดยใจความระบุว่า …

หลายท่านปวดหัวกับการผ่อนหนี้ที่ไปก่อในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำในทศวรรษที่ผ่านมา เพราะพออัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับในปีที่แล้ว การผ่อนชำระก็เริ่มเป็นปัญหา จำนวนเงินผ่อนที่คงไว้เท่าเดิมตลอดระยะเวลาสัญญากู้ ซึ่งคิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก แทบจะไม่สามารถลดเงินต้นคงค้างได้เลย เพราะถูกนำไปใช้ในการผ่อนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงินต้นจึงลดลงช้า และมีแนวโน้มว่า หนี้ก้อนนั้นจะคงอยู่ยาวนาน

การผ่อนชำระเงินกู้ระยะยาวแบบให้ผ่อนชำระจำนวนเงินเท่าๆ กันทุกเดือนนั้น เป็นความสะดวกที่สถาบันการเงินอำนวยให้กับผู้กู้ เพื่อให้จดจำได้ง่าย และเพื่อให้สามารถประเมินความสามารถในการชำระคืนได้ง่าย ทั้งยังทำให้ผู้กู้มีวินัยในการผ่อนชำระ จึงเป็นวิธีการที่นิยมมากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์เงินเดือน

แนะ เพิ่มเงินผ่อนต่อเดือน หนี้ลดเร็ว-มีโบนัส ให้เร่งโปะหนี้ 

อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่จะไม่ให้เราผ่อนชำระจำนวนที่มากกว่าที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะเมื่อเรามีรายได้เพิ่ม แต่เดิมอัตราส่วนการผ่อนชำระอาจจะเป็น 30% ของเงินรายได้เดิม แต่หากมีรายได้เพิ่ม เช่นได้รับการขึ้นเงินเดือน หรือได้รับโบนัสมา เราสามารถจ่ายคืนหนี้เพิ่มได้ อยากแนะนำให้ทำ
หลายท่านอาจจะลืมไปว่า เงินที่ผ่อนชำระประจำในแต่ละเดือนนั้น ผ่อนชำระดอกเบี้ยก่อนที่เหลือจึงนำไปผ่อนชำระเงินต้น ดังนั้นเงินทุกบาทที่นำไปจ่ายชำระหนี้เพิ่ม จะนำไปชำระเงินต้นล้วนๆ ซึ่งจะทำให้เงินต้นลดลงเร็วขึ้น

ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้น หากมีเงินกู้ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% กำหนดผ่อนชำระเดือนละ 7,000 บาท ในเดือนแรก เงินที่ผ่อนชำระนั้น จะนำไปจ่ายดอกเบี้ย 5,000 บาท ที่เหลืออีก 2,000 บาท จึงนำไปจ่ายคืนเงินต้น ซึ่งทำให้เงินต้นในเดือนที่สองเหลือเพียง 998,000 บาท 
เงินผ่อนเดือนที่สอง จำนวน 7,000 บาท ก็จะนำไปชำระดอกเบี้ย 4,990 บาท ที่เหลือ 2,010 บาทจึงนำไปชำระคืนเงินต้น ทำให้เงินต้นเหลือ 995,990 บาท ดอกเบี้ยของงวดต่อไปจะเหลือ 4,980 บาท

"ถ้าเราได้เงินโบนัสมาก้อนหนึ่ง และเราตัดสินใจนำมาชำระคืนเพิ่มอีก 20,000 บาทในเดือนที่สอง เงิน 20,000 บาทนี้ ก็จะนำไปชำระคืนเงินต้นทั้งหมด เท่ากับว่า เดือนที่สองได้ชำระคืนเงินต้นถึง 22,010 บาท ทำให้เงินต้นเหลือเพียง 975,990 บาท ดอกเบี้ยของงวดที่ 3 จึงเหลือเพียง 4,880 บาท" 

ดังนั้น หากมีโอกาสจ่ายคืนหนี้เพิ่ม ควรใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ค่ะ  ทั้งนี้หากมีหนี้หลายสัญญา ควรเลือกจ่ายคืนเงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงๆก่อน
ดอกเบี้ยสูง กระทบ สินเชื่อบ้าน-การจำนองแบบย้อนกลับ Reverse Mortgage 

มีคนถามว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การจำนองแบบย้อนกลับ หรือ Reverse Mortgage จะกระทบหรือไม่ กระทบแน่นอน อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินที่ท่านจะได้รับจากการจำนองย้อนกลับก็จะลดลง เพราะนำไปจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

ขออธิบายสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์คำนี้ การจำนองย้อนกลับ ธนาคารไทยใช้ศัพท์ว่า “สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” คือการที่ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ (60-80 ปี)มีบ้าน ที่ปลอดภาระ นำบ้านไปจำนองกับสถาบันการเงิน เพื่อเอาเงินออกมาใช้รายงวด 

ซึ่งจำนวนหนี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป เสมือนหนึ่งเราขายบ้านให้ธนาคารและธนาคารผ่อนคืนค่าบ้านให้เรา จนครบมูลค่าบ้านบวกดอกเบี้ย หรือจนเราจากไป หากเราจากไปก่อนครบมูลค่าบ้าน ธนาคารก็อาจจะนำบ้านไปขายและนำส่วนต่างมาคืนให้กับทายาท หรือสอบถามทายาทว่าต้องการจะซื้อบ้านกลับคืนไปหรือไม่

เท่าที่ทราบ ปัจจุบันมีธนาคารไทยอยู่สองแห่งที่มี “สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กับ ธนาคารออมสิน ให้กู้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 25 ปี อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ประมาณ 6.25-6.845% ซึ่งก็ถือว่ายังไม่สูงจนเกินไป

สรุป “ดอกเบี้ยสูง”  คนเป็นหนี้-นักลงทุน ต้องปรับตัวอย่างไร? 
ข้อแนะนำสำหรับผู้มีหนี้คือ สำรวจดูว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละท่านที่สถาบันการเงินปรับขึ้นมาแล้ว เป็นอัตราเท่าใด และเงินที่ผ่อนชำระเดิม สามารถจ่ายลดเงินต้นไปได้มากน้อยเพียงใด หากส่วนใหญ่นำไปจ่ายแต่ดอกเบี้ย แสดงว่าท่านผ่านชำระจำนวนน้อยเกินไป เสี่ยงต่อการที่หนี้จะกลายเป็นหนี้ระยะยาวมาก 

แนะนำให้ท่านปรับการผ่อนชำระเพิ่มขึ้น กัดฟันหน่อย เพื่ออนาคตที่สบายขึ้น สำหรับผู้ที่หมดภาระหนี้แล้ว มีเงินเหลือมาลงทุน ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นนี้ ก็ควรจะถือโอกาสลงทุนระยะยาวขึ้น จากเดิมที่หลายคนลงทุนในตลาดเงินสั้นๆ เพราะกลัวความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น 

“ตอนนี้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยอาจจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นอีกหากรัฐมีวินัยการเงินการคลังที่ดี และมีโอกาสที่จะปรับลดลง หากอัตราดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกาปรับลดลงในครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของไทยด้วย ว่าต้องไม่ถูกปรับลด”

ข้อแนะนำสำหรับผู้มีเงินลงทุนในตราสารหนี้ คือ ควรคัดเลือกลงทุนในตราสารที่มีคุณภาพดี และหากเลือกได้อาจจะเลือกรุ่นที่ระยะเวลายาวกว่า ซึ่งโดยปกติให้ผลตอบแทนสูงกว่า ยกตัวอย่าง พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ส่วนรุ่น 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.4% 

หากท่านคิดว่ารัฐบาลจะรักษาวินัยการเงินการคลังได้ดี ท่านก็เลือกลงทุน ระยะ 10 ปี หากท่านคิดว่ารัฐบาลไม่สามารถรักษาวินัยการเงินการคลังได้ดี ท่านก็เลือกลงทุนในรุ่น 5 ปี แล้วพอครบ ก็ลงทุนซื้อชนิด 5 ปีรุ่นใหม่ที่จะออกมาซึ่งอาจให้ผลตอบแทนสูงกว่านี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่