สรุปศักยภาพ ย่านลาดกระบัง ที่มีข่าวว่า Tesla เล็งมาตั้งโรงงาน

กระทู้สนทนา

สรุปศักยภาพ ย่านลาดกระบัง ที่มีข่าวว่า Tesla เล็งมาตั้งโรงงาน l BrandCase
ข่าวใหญ่ช่วงที่ผ่านมา คือมีรายงานข่าวว่า Tesla กำลังพิจารณามาตั้งโรงงานในไทย
จากการที่ทาง Tesla ได้เข้ามาดูพื้นที่ลงทุนในไทย หลังนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน
โรดโชว์ที่สหรัฐอเมริกา และได้เชิญชวน Tesla เข้ามาลงทุนในไทย
โดยเงื่อนไขการลงทุนของ Tesla คือต้องใช้พื้นที่ทั้งหมด 1,000-2,000 ไร่
ซึ่งเบื้องต้น มีรายงานว่า Tesla กำลังพิจารณาที่ดิน 2,000 ไร่ “ย่านลาดกระบัง” แต่ว่ายังไม่ได้มีการรายงานว่าเป็นพื้นที่บริเวณไหน
แล้ว ย่านลาดกระบัง มีอะไรดี และมีศักยภาพขนาดไหน ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เขตลาดกระบัง เป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
มีจำนวนประชากร 180,000 คน
และมีพื้นที่ทั้งหมด 124 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 77,400 ไร่
นอกจากนี้ลาดกระบังยังมีพื้นที่ติดต่อกับเขตอื่น ๆ ตั้งแต่
- ทิศเหนือ ติดกับเขตมีนบุรี และเขตหนองจอก
- ทิศใต้ ติดกับอำเภอบางพลี และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ
- ทิศตะวันตก ติดกับเขตประเวศ และเขตสะพานสูง
- ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทีนี้ลองมาดูความโดดเด่นของย่านนี้กัน..
1. เป็นย่านที่มี Ecosystem ในการผลิตรถยนต์ที่ครบครัน
ย่านลาดกระบัง อยู่ไม่ห่างจากพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แบบครบวงจร
ไล่ตั้งแต่
- ไทยซัมมิทกรุ๊ป ซัปพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ ทำโครงรถยนต์
- เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ ซัปพลายเออร์ผู้ผลิต PCB หรือแผงวงจรไฟฟ้าให้กับรถยนต์
นอกจากนี้ ย่านลาดกระบัง ยังอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของซัปพลายเออร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีกจำนวนมาก
อย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมบางชัน
ซึ่งนอกจากจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในหลาย ๆ นิคมอุตสาหกรรมแล้ว
ย่านลาดกระบัง ก็ยังเป็นที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญ
อย่างเช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ที่มีศักยภาพมากพอ ที่จะเป็นแหล่งศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับ งานด้านการผลิตรถยนต์ EV
ทั้งในเรื่องงานวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงเรื่องการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
รวมถึงป้อนวิศวกรให้โรงงานได้ด้วย
2. เป็นฮับด้านโลจิสติกส์ ที่มีการเดินทางสะดวก
โดยย่านลาดกระบัง มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวก และรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น
- ทางบก อย่างเช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี-ระยอง
และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก บางปะอิน-บางพลี
- ทางอากาศ อย่างเช่น สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก
ด้วยขนาดพื้นที่ 20,000 ไร่
- ทางราง อย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
อย่างสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ในจังหวัดระยอง
ซึ่งโครงการนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อก่อสร้าง
เมื่อมีระบบการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็ว
จึงทำให้พื้นที่ลาดกระบัง มีศักยภาพในการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมระดับโลก
และสามารถใช้ประโยชน์จากการคมนาคมขนส่ง ที่มีอยู่ได้อย่างไร้รอยต่อ
อย่างเช่น
- การใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี-ระยอง
ในการขนส่งรถยนต์ที่ผลิตแล้ว จากโรงงานที่ลาดกระบัง
ไปยังที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใช้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ
- สามารถเชื่อมต่อกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่อยู่ในต่างจังหวัดได้
อย่างเช่น
- Stanley ผู้ผลิตชุดโคมไฟยานยนต์ ในจังหวัดปทุมธานี
- อาปิโก ไฮเทค ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์จับยึดสำหรับผลิตรถยนต์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งถ้าหาก Tesla มาเปิดโรงงานผลิตในประเทศไทย และ 2 บริษัทนี้ กลายเป็นหนึ่งในซัปพลายเออร์
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ EV ให้กับ Tesla
บริษัทเหล่านี้ มีศักยภาพจะสามารถผลิตชิ้นส่วนเพื่อส่งให้กับโรงงาน Tesla ในย่านลาดกระบัง
โดยใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนกาญจนาภิเษก สายบางปะอิน-บางพลี
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าย่านลาดกระบัง ก็เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอีกย่านหนึ่ง
แถมยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร และเขตโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก
อย่างไรก็ตาม หากลองมาดูความต้องการของ Tesla ที่อยากจะได้ที่ดินผืนเดียวขนาด 2,000 ไร่ ในย่านลาดกระบัง ที่ต้องเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเท่านั้น
ซึ่งตามหลักการวางสีผังเมืองแล้ว มีเพียงเขตที่ดินสีม่วงเท่านั้น ที่อนุญาตให้สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าได้ โดยมักพบได้ตามนิคมอุตสาหกรรม
และเมื่อดูนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่แถบนั้นแล้ว จะพบว่า
- นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่ 2,559 ไร่
ตัวอย่างบริษัทในนิคม เช่น บจก.3 เอ็ม ประเทศไทย, บจก.เขาช่องอุตสาหกรรม 1979, บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์
- นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีพื้นที่ 677 ไร่
ตัวอย่างบริษัทในนิคม เช่น บจก.มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย), บจก.เฮลซ์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย), บจก.เนสท์เล่ (ไทย)
จะเห็นว่าแค่พื้นที่ 2,000 ไร่ ของ Tesla โรงงานเดียว ก็ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมบางชันทั้งนิคม
และเทียบเท่าเกือบ 80% ของพื้นที่ทั้งนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังแล้ว
พอเป็นแบบนี้ ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า เมื่อทำเลที่จะสามารถตั้งโรงงานของ Tesla ได้ ไม่ใช่พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งที่ว่านี้แล้ว
Tesla จะเลือกพื้นที่ไหนได้บ้าง ในย่านลาดกระบัง เพื่อตั้งโรงงาน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่