บันทึกการประชุมพิเศษ ช่วงรอยต่อระหว่าง ร.6 - ร.7 เรื่องรัชกาลที่ 6 สวรรคตและตั้งพระเจ้าแผ่นดินขึ้นแทน

ช่วงนี้กำลังอยู่ในช่วงค้นคว้าเขียนหนังสือด้านเกร็ดราชประเพณีโบราณยิบย่อยต่างๆ เลยมาเจอกับเอกสารฉบับนี้ระหว่างค้นคว้าเข้า เป็นเอกสารที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งมาปรากฎบนหนังสือที่ระลึกเปิดอนุสวรีย์ ร.7 ปี 2521 แล้วก็ไม่ได้พบการตีพิมพ์ซ้ำที่ไหนอีก เลยเอามาลงให้อ่านกันว่า ประชุมตอนนั้นจริงๆเป็นอย่างไร

บวกกับเรื่องหลายๆอย่างที่อ่านกันหลายอันมักจะเป็นเรื่องเล่า อย่าง เจ้าฟ้าบริพัตรพูดคุยร้องขอกับเจ้าฟ้าประชาธิปกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน หรือเหล่าเจ้าฟ้าขุนนางแห่กันก้มกราบถวายบังคม พอเจอเอกสารจริงๆกลับกลายเป็นอีกแบบนึงไปเลย เลยคิดว่าการเอามาลงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลายๆคนที่ศึกษาอยู่ครับ

ตัวสะกดต่างๆอาจจะดูแปลกๆ ทั้งหมดคือ ผมคัดมาจากต้นฉบับที่พบ 100% ครับ

---------------------------------------------------------

หจช.ม ร.7 บ. 1.1/2
การประชุมพิเศษ
เรื่อง รัชกาลที่ 6 สวรรคตและตั้งพระเจ้าแผ่นดินขึ้นแทน
26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2468
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 1:46 ก.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคต ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ครั้นเวลาประมาณ 2.00 ก.ท. พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ากับท่านเสนาบดีประชุมกันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตามราชประเพณี มีผู้เข้าประชุมคือ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช,
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต,
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโฑขทัยธรรมราชา,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิสโมสร,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ,
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์,
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์,
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ,
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน,
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร,
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร,
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ,
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ,
มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย,
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาอภัยราชา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม,
มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง,
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม,
จางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ,
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ,
นายพลเอก เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกระลาโหม,
มหาเสวกเอก เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ,
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต สภาเลขานุการ จดรายงานประชุม.

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ผู้เป็นประธานในที่ประชุมรับสั่งว่า บัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตลง ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ในเรื่องการข้างหน้าไว้แก่เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งจะได้แสดงต่อที่ประชุมบัดนี้.

เรื่องรัชทายาท.
เสนาบดีกระทรวงวังอ่านแถลงการณ์และสำเนาพระหัตถเลขาใจความว่า มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาได้เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติสืบต่อพระองค์ นอกจากจะทรงมีพระราชโอรสไว้ก็ย่อมพระราชกุมารจะได้รับราชสมบัติ และถ้าเป็นเช่นนั้นก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงสำเร็จราชการแทนระหว่างพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์.

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชรับสั่งว่า พระประสงค์ข้อนี้ก็แจ่มแจ้งดูไม่มีปัญหาอะไรที่จะสงสัย : จึงผู้เป็นประธานรับสั่งถามความเห็นที่ประชุมว่า จะรับรองปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือไม่.

เสนาบดีมหาดไทยว่า ไม่มีข้อขัดข้องอันใด ควรรับรอง.

ผู้เป็นประธานรับสั่งขอให้ที่ประชุมใคร่ครวญดูให้ดีอีกครั้งว่าอย่างใดจะเป็นทางดีทางเจริญสำหรับบ้านเมืองที่สุด ถ้าท่านผู้ใดไม่เต็มใจ ก็จะไม่ทรงรับราชสมบัติ แต่ถ้าไม่มีใครไม่เต็มใจก็เป็นอันต้องทรงน้อมตามความเห็นของที่ประชุมรับรัชทายาท.

ท่านเสนาบดี (ขุนนาง) ได้ลงกราบถวายบังคม 3 ครั้งพร้อมกัน.

เป็นอันยุติปัญหาข้อนี้

เรื่องการพระบรมศพ.

เสนาบดีวังยื่นบันทึกพระบรมราชโองการพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2468. โปรดให้ราชเลขาธิการอ่านเสนอที่ประชุมเป็นอันยุติโดยพระราชบริหาร.

ต่อจากนี้ที่ประชุมปรึกษาการเบ็ดเตล็ดเป็นเรื่องๆ คือ

พระบรมนามาภิไธย เสนาบดีวังถามขึ้นว่าจะใช้อย่างไร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุทรงเห็นว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้ทรงรับราชาภิเษกนี้ ถ้าจะใช้ว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ก็เป็นคำฟั่นเฝือ, คำว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชก็ไม่สู้จะตรงกับแบบแผน : อนึ่ง ตามนิยมปัจจุบันเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริย์เสด็จล่วงลับไปแล้วก็จำต้องมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นแทนติดต่อมิให้ขาดตอนกัน ส่วนการราชาภิเษกนั้นเป็นงานแผ่นดินจำจะต้องหาฤกษ์ เพื่อให้ถูกต้องตามนิยมของประชาชนส่วนมาก : ฉะเพาะครั้งนี้กำลังเป็นเดือนอ้ายอาจจะต้องรอไปถึงเดือนญี่ ซึ่งเป็นเวลาช้านานอยู่ เพราะฉะนั้นเห็นควรให้ใช้ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไปพลางโดยมิต้องรอการราชาภิเษก. เสนาบดีมหาดไทยเห็นควรประกาศให้ประชาชนพลเมืองทราบโดยทันที. ในที่สุดจึงตกลงให้ขนานพระนามาภิไธยในระหว่างนี้ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” ส่วนการประกาศให้ทำอย่างรัชกาลก่อน คือ กล่าวถึงการสวรรคตและบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ได้ขึ้นเถลิงราชสมบัติ. โปรดให้เสนาบดีมุรธาธรร่างขึ้นเสนอที่ประชุมในเดี๋ยวนั้น. ส่วนพระบรมนามาภิไธยเต็มซึ่งจะจารึกในพระสุพรรณบัตร เป็นอันยังไม่ตกลงเด็ดขาดในทางใด.

กำหนดการพิธีที่จำเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุเห็นควรกำหนดถือน้ำพิเศษวันที่ 27 แต่การสวดมนต์ถือน้ำตกในค่ำวันที่ 26 ให้กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาทรงจุดเทียนต่างพระองค์: การสาบาลองคมนตรีวันที่ 28.

การเบ็ดเตล็ด ที่ประชุมได้ตกลงข้อความเบ็ดเตล็ดซึ่งเกิดปัญหาขึ้นคือ ธงมหาราชเดิมคงใช้ต่อไป: รุ่งขึ้นให้มีการยิงปืนถวายคำนับพระบรมศพ 22 นัด: เวลาสรงน้ำทรงเครื่องคลอดจนตั้งพระบรมศพเสร็จ ให้ทหารบกทหารเรือยิงปืนถวายคำนับทุกนาที, การไว้ทุกข์ เครื่องยศเวลาแต่งเต็มยศ ครึ่งยศ ให้ผู้แต่งเครื่องแบบใช้ผ้าโปร่งดำพันเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ภู่กระบี่ หน้าหมวก ฯลฯ และ ผู้ที่นุ่งผ้า (ขาว) ให้ใช้ผ้าโปร่งขาวพัน: กระบวนแต่งพระบรมศพจัด 4 ริ้ว มีทหารราบ 11 รายทางเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ประตู แถลงราชกิจไปจนถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท: ให้ตำรวจหลวงรักษาพระองค์เชิญพระลองจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้นายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เชิญขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท: ให้กระทรวงทบวงการและสำนักมหรศพ ฯลฯ ปิดถวายคำรพตามสมควร.
.เลิกประชุมเวลา 3 ก.ท.ล่วงแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่