พาไป " แค่รู้จักนิรสุขภูมิ " ไม่ว่างเว้นจากความทุกข์เวทนา

กระทู้สนทนา


ได้เคยพาไปรู้จักกับสวรรค์ชั้นต้นๆแล้ว https://ppantip.com/topic/42495517

วันนี้จะพาไปรู้จัก ผลของผู้ประกอบเหตุไม่ดีไม่มี รับโทษอย่างไม่มีข้อแม้ข้อยกเว้นใดๆ ไม่ว่าจะหนักแค่ไหน นานแค่ไหน ก็ขอเป็นกำลังใจให้ก้าวข้าม อบายภูมินี้กันทุกๆท่านครับ เพราะถ้าสุขก็สุขนาน ทุกข์ก็ทุกข์นาน
ขอบคุณที่มา : เพจ https://www.facebook.com/JohannesburgMeditation?mibextid=ZbWKwL
...................................................

☀️ส่อง​ "อบายภูมิ​ 4"
🌏รู้​จัก​ 4​ ภูมิอัน​เป็น​ดินแดน​ลงทัณฑ์​อดีต​มนุษย์​ที่ทำบาปอกุศล​🌏

อบายภูมิ 4​ คือ​ ปรโลกในฝ่ายทุคติ​ เป็น​ 4​ ภพภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ เป็นสถานที่ที่สัตว์ไปเกิดแล้วไม่มีโอกาสกระทำกุศลกรรมหรือความดีเลยแม้แต่น้อย เป็นภูมิที่ต่ำที่สุดในบรรดาภูมิทั้งหมด

อบายภูมิมีทั้งหมด 4 ภูมิ ได้แก่​ นิรยภูมิ, เปตติวิสยภูมิ, อสุรกายภูมิ และติรัจฉานภูมิ

🌟1.อบายภูมิ​ 4​ ​มีลักษณะ​โดย​ย่ออย่าง​ไร​บ้าง​ ?

🌏1. นิรยภูมิ หรือ นรก จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 1
เป็นปรโลกฝ่ายทุคติภูมิ ที่มีโทษแห่งการกระทำอกุศลหรือความชั่วที่หนักที่สุดในบรรดาอบายภูมิทั้งหลาย เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ล้วนๆ ปราศจากความสุขโดยสิ้นเชิง สัตว์ที่ไปเกิดอยู่ในโลกนรกนี้ไม่มีความสุขแม้แต่วินาทีเดียว สัตว์ที่ตกลงไปสู่นรก เพราะบาปกรรมชั่วที่ตนกระทำไว้เป็นอาจิณกรรม เมื่อตกลงไปแล้วจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสไม่มีเวลาว่างเว้นจากการลงทัณฑ์ทรมาน นรกมีที่ตั้งอยู่ใต้เขาตรีกูฏ มีทั้งหมด 8 ขุมใหญ่ ที่เรียกว่า มหานรก และยังมีขุมบริวาร เรียกว่า อุสสทนรกอีก 128 ขุม มีนรกขุมย่อย ที่เรียกว่ายมโลกอีก 320 ขุม สัตว์ที่ใช้กรรมในมหานรกหมดแล้ว จะต้องมารับกรรมในอุสสทนรก และยมโลกต่อไป จนกว่าจะหมดกรรมที่ตนได้กระทำไว้

🌏2. เปตติวิสยภูมิ หรือ ภูมิเปรต จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 2 เป็นดินแดนที่มีแต่ความเดือดร้อน อดอยาก หิวกระหาย เปรตแบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่ที่นิยมแบ่งกันมาก คือ เปรต 12 ตระกูล ที่อยู่ของเปรตนั้นมีอยู่ที่ซอกเขาตรีกูฏ และมีปะปนอยู่กับมนุษยโลกด้วย แต่เป็นภพที่ละเอียดกว่า เหตุที่ทำให้มาเป็นเปรตเพราะทำอกุศลกรรมประเภทตระหนี่ หวงแหนทรัพย์เป็นหลัก การเกิดเป็นเปรตนั้นมี 2 ลักษณะ คือ ผ่านมาจากมหานรก อุสสทนรก และยมโลก กับจากมนุษย์ผู้กระทำอกุศลกรรม ละโลกแล้วไปเกิดเป็นเปรต

🌏3. อสุรกายภูมิ จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 3 เป็นดินแดนที่ปราศจากความร่าเริง อสุรกายมีลักษณะคล้ายกับเปรตมาก แยกแยะได้ลำบาก และอยู่ในภพภูมิเดียวกันกับเปรต คือ ซอกเขาตรีกูฏ มีรูปร่างที่ประหลาด เช่น หัวเป็นหมูตัวเป็นคน มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากเช่นเดียวกับเปรต คือ อยู่ด้วยความหิวกระหาย แต่หนักไปทางกระหายน้ำมากกว่าอาหาร ที่ต้องเกิดมาเป็นอสุรกายเพราะความโลภอยากได้ของผู้อื่นในทางมิชอบ

🌏4. ติรัจฉานภูมิ จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 4 เป็นอบายภูมิอันดับสุดท้าย ที่มีความทุกข์ทรมานน้อยกว่าสัตว์ที่เกิดในนรก เปรต และอสุรกาย ที่ชื่อเดียรัจฉาน เพราะมีลำตัวไปทางขวาง อกขนานกับพื้น และจิตใจก็ขวางจากหนทางพระนิพพานด้วย ที่อยู่ของสัตว์เดียรัจฉานนี้ อยู่ปะปนกับมนุษย์ทั่วไปที่เราเห็น สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามจำนวนเท้าของสัตว์ ตั้งแต่ สัตว์ไม่มีเท้า, สัตว์มี 2 เท้า, สัตว์มี 4 เท้า,และสัตว์มีเท้ามากกว่า 4 ขึ้นไป

🌟2.อะไร​คือที่มาของการให้ผลและใช้กรรมในอบายภูมิ​ 4 ?

ใน​ "อัคคิสูตร" พระพุทธ​องค์​ตรัส​ไว้ว่า​

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟ 3 กองนี้ 3 กองเป็นไฉน คือ ไฟคือ ราคะ 1 ไฟคือโทสะ 1 ไฟคือโมหะ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟ 3 กองนี้แล ฯ

ไฟคือราคะ ย่อมเผาสัตว์ผู้กำหนัดแล้วหมกมุ่นแล้วในกาม ทั้งหลาย ส่วนไฟคือโทสะ ย่อมเผานรชนผู้พยาบาท มีปรกติฆ่าสัตว์ ส่วนไฟคือโมหะ ย่อมเผานรชนผู้ลุ่มหลง ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไฟ 3 กองนี้ย่อมตามเผาหมู่สัตว์ผู้ไม่รู้ สึกว่าเป็นไฟ ผู้ยินดียิ่งในกายตน ทั้งในภพนี้และภพหน้า สัตว์เหล่านั้นย่อมพอกพูนนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอสุรกาย และปิตติวิสัย เป็นผู้ไม่พ้นไปจากเครื่องผูกแห่งมาร

ส่วนสัตว์เหล่าใดประกอบความเพียรในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งกลางคืนกลางวัน สัตว์เหล่านั้นผู้มีความสำคัญ อารมณ์ว่าไม่งามอยู่เป็นนิจ ย่อมดับไฟ คือ ราคะได้ ส่วนสัตว์ทั้งหลายผู้สูงสุดในนรชน ย่อมดับไฟคือโทสะได้ด้วย เมตตาและดับไฟ คือ โมหะได้ด้วยปัญญาอันเป็นเครื่องให้ถึง ความชำแรกกิเลส สัตว์เหล่านั้นมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน ดับไฟมีไฟคือราคะเป็นต้น ได้ ย่อมปรินิพพานโดยไม่มีส่วนเหลือ ล่วงทุกข์ได้ไม่มี ส่วนเหลือ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอริยสัจผู้ถึงที่สุดแห่งเวท รู้แล้วโดยชอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่ง ซึ่งความสิ้นไปแห่งชาติ ย่อมไม่มาสู่ภพใหม่ ฯ"

🌟3.อายุขัยและระยะเวลา​ให้ผลของกรรมในอบายภูมิ​ 4​ เป็น​อย่างไร​ ?

ไม่ว่าอบายภูมิใด ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานฝ่ายเดียวเป็นเวลายาวนานมาก อายุของสัตว์​ในอบายภูมิ​นั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมที่กระทำ บางตนกว่าจะสิ้นอายุขัยพ้นจากมหานรกใช้ยาวนานมาก ตั้งแต่ 1,620,000 ล้านปีมนุษย์ ถึง​ 1​ อันตรกัป ใช้กรรมในมหานรกเสร็จต้องไปรับเศษกรรมที่อุสสทนรกต่อ​อีก​ยาวนาน​ ​กระทั่งกรรมเบาบาง ก็จะวิ่งหนีทะลุมิติไปเข้าเขตของยมโลก​เพื่อไปรับวินิจฉัยต่อไป

คัมภีร์มหาวังสะ พระบาลีตรัสไว้ว่า "อบายภูมิทั้ง 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน อายุการให้ผลของกรรมไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกรรมที่ผู้กระทําว่าหนักเบาเพียงไร"  ในอรรถกถากล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมราชได้มีความดําริอย่างนี้ว่า เหล่าสัตว์ที่ทํากรรมอันลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาลลงทัณฑ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราจึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ขอเราจึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเถิด"

🌟4.ดำรงชีวิตอย่าง​ไร​ ที่ไม่ต้องไปรับกรรมในอบายภูมิ​ 4​ ?

ใน​" จุนทสูตร" พระ​สัมมาสัมพุทธเจ้า​ตรัส​ว่า

“อกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ เป็นความไม่สะอาดด้วย เป็นตัวการที่ทำให้ไม่สะอาดด้วย
ดูก่อนจุนทะ ก็เพราะมนุษย์ประกอบอกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ นรกจึงปรากฏ​ กำเนิดเดียรัจฉานจึงปรากฏ เปตวิสัยจึงปรากฏ หรือว่าทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงปรากฏมีขึ้น”

☀️อกุศลกรรมบถ 10 ประการ
อกุศลกรรมบถ 10 คือทางอันนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ ความไม่สบายทั้งปวง

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่าคนเราพึงเลี่ยงสิ่งที่จะนำไปสู่หนทางแห่งความชั่ว ความเสื่อมทั้งปวง ซึ่งสามารถจำแนกแยกแยะได้ 3 หมวดใหญ่ และ 10 หมวดย่อย ซึ่งเรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 นั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย

🚩ความชั่วทางกาย 3 ข้อ

1. ปาณาติบาต หมายถึง การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การเบียดเบียน ห่มเหง รังเกสัตว์
2. อทินนาทาน หมายถึง การลักทรัพย์ การเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่เต็มใจให้มาเป็นของของตน
3. กาเมสุมิจฉาจาร หมายถึง การประพฤติผิดทางกาม การผิดลูกผิดเมียผู้อื่น

🚩ความชั่วทางวาจา 4 ข้อ

1. มุสาวาท หมายถึง พูดเท็จ พูดโกหกหลอกลวง พูดไม่มีมูลความจริง
2. ปิสุณวาจา หมายถึง พูดส่อเสียด พูดยุยงให้เขาแตกความสามัคคีกัน
3. ผรุสวาจา หมายถึง การพูดคำหยาบ มีวาจาไม่สุภาพ
4. สัมผัปปลาปะ หมายถึง การพูดเพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ไม่มีเหตุมีผล

🚩ความชั่วทางใจ 3 ข้อ

1. อภิชฌา หมายถึง ความละโมบหรือความโลภ มุ่งหมายอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน
2. พยาบาท หมายถึง การคิดร้าย ปองร้ายต่อผู้อื่น มีความมุ่งมั่นที่จะทำลายประโยชน์และความสุขของผู้อื่น
3. มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มีบุญคุณ ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ เป็นต้น

ทุก​ ๆ​ ท่าน​คงจะเห็นได้ว่าบุคคลใดที่เต็มไปด้วย อกุศลกรรมบถ 10 นี้ จะหาความสุขใดๆไม่ได้เลย มีความชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมหมู่มาก ชีวิตจะมีแต่ความตกต่ำ​

☀️กุศลกรรมบถ 10 ประการ​

ด้วยกาย 3 คือ
1. ไม่ฆ่าสัตว์
2. ไม่ลักทรัพย์
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม

ด้วยวาจา 4 คือ
1. ไม่พูดปด
2. ไม่พูดส่อเสียด
3. ไม่พูดคำหยาบ
4. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

ด้วยใจ 3 คือ
1. ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
2. ไม่มีจิตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
3. ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม

🌟5.​ บทสรุป​ : จากเรื่องส่อง​ "​อบายภูมิ​ 4" พอสังเขป​มาถึง​บรรทัด​นี้​ ทุกท่าน​ได้​พบความจริง​ประการ​หนึ่ง​ของ​โลก​และ​ชีวิต​ว่า​ ภพภูมิต่าง​ ๆ ที่บังเกิดขึ้นมาในสังสารวัฏ เช่น นิรยภูมิ, เปตวิสัย, อสุรกายและภูมิของสัตว์เดียรัจฉาน อบายภูมิเหล่านี้ เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ที่มีกาย วาจาและใจไม่บริสุทธิ์ มีไว้เพื่อลงโทษมนุษย์ที่ประพฤติผิดจากทำนองคลองธรรม เป็นการขังสัตว์เอาไว้ไม่ให้หลุดจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไปได้ ซึ่งจะได้รับความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจแสนสาหัส แตกต่างจากคุกหรือกรงขังในโลกมนุษย์มากมายหลายเท่านัก ภพภูมิต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในสังสารวัฏนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุคติหรือทุคติภูมิ ต่างเป็นสิ่งที่มารองรับผลแห่งกรรมที่ทำเอาไว้ในสมัยเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น

ดังนั้น หากต้องการสุคติภูมิ หรือโลกสวรรค์มารองรับชีวิตของเราในปรโลก​ ไม่ต้อง​ไป​ทุคติหรืออบายภูมิ​ ก็ต้องเติมความสะอาดบริสุทธิ์ทางกาย วาจา และใจ คือบำเพ็ญ​กุศลกรรมบถ​ 10​ และสำคัญ​ที่สุด​คือ​ต้องหมั่นทำใจให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวให้ได้ จึงจะเป็น​วิธีการ​ดำเนินชีวิต​ที่ถูกต้อง​สมบูรณ์​และมั่นคงปลอดภัยมากที่สุด☀️

🔰ที่มา​ :

1. อัคคิสูตร​ พระไตรปิฎกเล่มที่ 25  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 17​ ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ

https://84000.org/tipitaka/read/?25/273/301

2.จุนทสูตร​ พระไตรปิฎก เล่มที่ 24  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16​ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต

https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=24&A=6275&Z=6419

3.บรรยาย​ธรรมะ​จาก​โรงเรียน​อนุบาล​ฝัน​ใน​ฝัน​วิทยา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่