สั่งอาหาร 1 ครั้ง Grab แบ่งเงิน ให้ใครเท่าไรบ้าง

สั่งอาหาร 1 ครั้ง Grab แบ่งเงิน ให้ใครเท่าไรบ้าง ? /โดย ลงทุนแมน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจฟูดดิลิเวอรี ได้แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งสำหรับบางคนก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว
ทุกวันนี้คำพูดว่า “สั่ง Grab” ได้กลายเป็นวลีติดปากที่เกิดขึ้น จากคนรอบ ๆ ตัวเรา
แล้วสงสัยไหมว่า เวลาที่เราสั่งอาหารผ่าน Grab ในแต่ละครั้ง ใครได้ส่วนแบ่งเท่าไรบ้าง ?
ต้องบอกว่า การที่ลูกค้าสั่งอาหารผ่าน Grab 1 ครั้ง จะมีผู้เกี่ยวข้องหลัก ๆ ก็คือ
1. ร้านค้า
2. ไรเดอร์
3. บริษัท Grab
ซึ่ง Grab จะทำเงินจากการเก็บส่วนแบ่งค่าบริการราว 21% จากค่าอาหารของร้านค้า
แปลว่าถ้าเราสั่งอาหาร 1 ครั้ง ที่ราคาอาหาร 100 บาท
ร้านค้าจะได้รับเงินไปทั้งหมด 79 บาท ส่วนอีกประมาณ 21 บาท จะถูกทางบริษัท Grab เรียกเก็บไป
ส่วนค่าส่งอาหาร จะขึ้นอยู่กับระยะทาง จำนวนผู้สั่ง และจำนวนไรเดอร์ ที่ให้บริการในช่วงเวลานั้น ๆ
โดยไรเดอร์จะได้รับไปทั้งหมด แต่จะมีการหักค่าธรรมเนียมอีกเล็กน้อย สำหรับในบางประเทศ
เห็นแบบนี้แล้ว ทุกคนก็อาจจะคิดว่า Grab ทำเงินได้เยอะมาก เพราะค่าอาหารทุก ๆ 100 บาท Grab จะได้เงินไป 21 บาท
แต่ความจริงแล้ว เงินที่ Grab ได้ไป ส่วนใหญ่ราว 80% จะถูกนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนพิเศษ (Incentives) ให้ไรเดอร์และร้านค้า ที่มีผลงานดี วิ่งรถเยอะ และขายดี
หรือสรุปง่าย ๆ ก็คือ ทุกค่าอาหาร 100 บาท
1. ร้านค้า ได้เงิน 79 บาท + ค่าตอบแทนพิเศษ
2. ไรเดอร์ ได้เงินค่าส่งอาหาร + ค่าตอบแทนพิเศษ - ค่าธรรมเนียม (เก็บในบางประเทศ)
3. Grab ได้ค่าบริการ 21 บาท - ค่าตอบแทนพิเศษ สำหรับไรเดอร์และร้านค้าอีก รวม ๆ แล้ว 17 บาท
โดย Grab จะเหลือรับราว 4 บาท
จะเห็นได้ว่า หลังแบ่งรายได้เสร็จแล้ว Grab ทำเงินได้แค่ประมาณ 4% จากค่าอาหารเท่านั้น
ที่น่าสนใจก็คือ เงินจำนวนนี้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างเช่น ส่วนลดสำหรับลูกค้า, ค่าใช้จ่ายพนักงานหลังบ้าน, การตลาด, R&D และค่าบำรุงรักษาแพลตฟอร์มที่เป็นค่าใช้จ่ายหลัก
ซึ่งตอนนี้ รายได้ของ Grab ยังไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายและเงินอุดหนุนต่าง ๆ
ผลประกอบการของบริษัทแม่ที่สิงคโปร์ เลยออกมาขาดทุนเป็นหลักหมื่นล้านบาท
หากมาดูงบของ Grab Holdings Limited
ปี 2020 รายได้ 16,800 ล้านบาท ขาดทุน 93,400 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 24,200 ล้านบาท ขาดทุน 123,000 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 51,300 ล้านบาท ขาดทุน 60,200 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2023 รายได้ 61,100 ล้านบาท ขาดทุน 17,100 ล้านบาท
พอเรื่องมันเป็นแบบนี้ ก็กลายเป็นว่าสิ่งที่ Grab ต้องทำก็คือ การหาผู้ใช้งานมาใช้จ่ายในแอป ให้ได้มากที่สุด และใช้ซ้ำ ๆ บ่อยที่สุด
แล้วหวังว่า ณ จุดจุดหนึ่งรายได้จะแซงค่าใช้จ่ายประจำพวกนี้ จนแปลงมาเป็นกำไรได้
แล้วผู้ใช้งาน Grab ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง ?
- ปี 2020 ยอดผู้ใช้งานรายเดือน 14.8 ล้านคน
- ปี 2021 ยอดผู้ใช้งานรายเดือน 17.3 ล้านคน
- ปี 2022 ยอดผู้ใช้งานรายเดือน 19.4 ล้านคน
ที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้งานของ Grab นั้น เรียกได้ว่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเองก็ได้ประโยชน์จากวิกฤติโรคระบาดที่ทำให้คนต้องสั่งอาหารจากที่บ้าน
และด้วยฐานผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ทำให้ผลประกอบการของ Grab มีแนวโน้มขาดทุนน้อยลงเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจะมีกำไร ต้องหาวิธี
- เพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน รวมถึงความถี่ในการใช้บริการ ให้มากขึ้นอีก
- เพิ่มยอดใช้จ่ายต่อออร์เดอร์ ของผู้ใช้งาน
ประกอบกับแนวทางอื่น ๆ เช่น เพิ่มบริการใหม่ ๆ, ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
เพื่อให้รายได้ สามารถเติบโตแซงหน้าต้นทุน และกลายเป็นกำไรได้ นั่นเอง
ทั้งนี้ต้องหมายเหตุด้วยว่า Grab ยังมีรายได้จากบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากฟูดดิลิเวอรี เช่น บริการเรียกรถ, บริการด้านการเงิน
แล้วเรื่องนี้บอกอะไรกับเรา ?
แม้ธุรกิจดิลิเวอรี จะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง แต่ก็ต้องแลกมากับการแข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะการทำการตลาด และค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อดึงดูดร้านค้า ไรเดอร์ และผู้ใช้งาน
อย่าง Grab มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนพิเศษให้กับร้านค้าและไรเดอร์ ในจำนวนไม่น้อย
แล้วพอค่าใช้จ่ายตรงนี้ มารวมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ผลที่ได้ก็คือ Grab ยังขาดทุนอยู่
ดังนั้น การทำความเข้าใจว่า Grab ทำเงินอย่างไร และมีการแบ่งเงินให้ใครบ้าง จะช่วยทำให้เราเห็นภาพรวมในอุตสาหกรรมนี้ และเข้าใจโมเดลธุรกิจของ Grab มากยิ่งขึ้น
สุดท้ายแล้ว ก็ต้องติดตามกันต่อว่า Grab จะสามารถทำกำไรได้ไหม ในอนาคต
หรือจะขาดทุนแบบนี้ ไปเรื่อย ๆ..
ที่มา ลงทุนแมน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่