OR ร่วมศึก “เวอร์ชวลแบงก์” แท็กทีม KTB-AIS-กัลฟ์ เขย่าตลาด

แบงก์กรุงไทยซุ่มดึง “โออาร์” ยักษ์ค้าปลีกน้ำมันเข้าร่วมพันธมิตรใหม่ “เวอร์ชวลแบงก์” ด้วยจุดเด่นเครือข่ายธุรกิจ-ฐานข้อมูลลูกค้า ผสานกำลัง “เอไอเอส-GULF” ยักษ์สื่อสารและพลังงาน ชูดรีมทีมสร้างธุรกิจการเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบ “ผยง ศรีวณิช” เผยคีย์สำคัญของธนาคารไร้สาขาคือ “พันธมิตร” ที่มีทั้งช่องทาง-ฐานลูกค้าและข้อมูล ชี้โจทย์สำคัญแบงก์ชาติแผนธุรกิจต้องตอบโจทย์กลุ่มด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ จับตาคลังประกาศเกณฑ์เปิดรับสมัครผู้สนใจขอใบอนุญาตภายในไตรมาส 1/67 ขณะที่เครือซีพียังซุ่มเงียบ ฟาก “เคแบงก์” เปิดทางคู่แข่งลุยก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ธปท.ได้นำส่งร่างหลักเกณฑ์ กลับไปให้กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

หากไทม์ไลน์เป็นไปตามคาดการณ์ ธปท.คาดว่าภายในไตรมาส 1/2567 กระทรวงการคลังจะออกประกาศหลักเกณฑ์ และเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดรับสมัครผู้สนใจเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับคัดเลือกที่จะได้รับใบอนุญาต (License) โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะมีเวลาในการเตรียมตัวเป็นเวลา 1 ปี และคาดว่าภายในครึ่งปีแรกของปี 2569 จะสามารถเริ่มต้นดำเนินการได้ ทั้งนี้ในเบื้องต้น ธปท.จะมีการเปิดให้ใบอนุญาต Virtual Bank เพียง 3 ใบ

ดรีมทีม “เวอร์ชวลแบงก์”
แหล่งข่าวระดับสูงจากแวดวงการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มที่มีความสนใจและเตรียมในการยื่นสมัครขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มากที่สุด น่าจะเป็นธนาคารกรุงไทยและพันธมิตร ซึ่งที่ผ่านมาทางผู้บริหารก็ประกาศนโยบายชัดเจนว่า สนใจและต้องการใบอนุญาต Virtual Bank โดยแบงก์กรุงไทยได้มีการเตรียมพร้อมและเจรจากับพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อปลายปี 2565 ได้มีการเซ็นข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ (เอ็มโอยู) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ศึกษาแผนการร่วมลงทุนในการเป็นผู้ให้บริการ “Virtual Bank”
และล่าสุดธนาคารกรุงไทยก็ได้มีความตกลงกับพันธมิตรใหม่อีกรายคือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ถือเป็นพันธมิตรที่ช่วยสร้างช่องทางและโอกาสในการเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจของโออาร์ มีทั้งในส่วนของสถานีบริการน้ำมัน และส่วนของร้านค้าธุรกิจน็อนออยล์ต่าง ๆ ที่มีช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

OR เติมเต็มช่องทาง-ข้อมูล
แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่องทางของโออาร์ ครอบคลุมตั้งแต่สถานีบริการน้ำมัน โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2566 มีจำนวน 2,203 แห่ง, ร้านคาเฟ่ อเมซอน 4,045 สาขา, ร้านสะดวกซื้อ 2,186 สาขา รวมทั้งยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มในเครืออีกหลายแห่ง เช่น โอ้กะจู๋ และที่สำคัญมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าทั้งหมดอยู่ในสมาชิก Blue Card ประมาณ 8 ล้านคน

“โออาร์มีทั้งช่องทาง ฐานข้อมูลลูกค้าหลากหลายพฤติกรรม รวมทั้งเงินทุนในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแบงก์กรุงไทยในการสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ Virtual Bank ที่ดี ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นการขยายแนวรบธุรกิจโออาร์ เข้าสู่บริการทางการเงินอย่างเต็มตัว และเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในแวลูเชนของโออาร์”

ขณะที่เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายเบอร์หนึ่ง ที่มีฐานลูกค้ามือถือและอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์รวมประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งนอกจากฐานลูกค้าในมือมากกว่าครึ่งประเทศ ซึ่งหมายถึงฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า พฤติกรรมของลูกค้าจำนวนมหาศาลที่จะมาใช้ในการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแรง และกระแสเงินสดของบริษัทที่ค่อนข้างมาก

ผยงชี้ “พันธมิตร” คือหัวใจ
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงเป้าหมายในการขอใบอนุญาต “Virtual Bank” ว่า จากการดำเนินการที่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ด้วยบริการที่ไม่มีสาขา ทำให้ลดต้นทุนอาคารสถานี และจำนวนพนักงาน
ทำให้เวอร์ชวลแบงก์มีต้นทุนให้บริการที่ต่ำ ทำให้สามารถนำเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากและสินเชื่อที่จูงใจประชาชนได้ และทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ทำให้เกิดความคิดแผลง ๆ เพื่อไปแข่งขันกับขาใหญ่ คิดนอกกรอบจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมได้

โดยธุรกิจ Virtual Bank ในยุโรป เกิดขึ้นได้เพราะค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์แพง ทำให้เวอร์ชวลแบงก์มีช่องว่างการแข่งขัน ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า แต่เมืองไทยค่าธรรมเนียมแบงก์ฟรี ดังนั้นการแข่งขันของเวอร์ชวลแบงก์ในประเทศไทยต้องแข่งในการเข้าถึงข้อมูล และลูกค้าที่อยู่นอกระบบแบงก์พาณิชย์
“คีย์เวิร์ดของ Virtual Bank คือ พันธมิตร โดยพันธมิตรจะฉายภาพว่าแลนด์สเคปการแข่งขันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ฐานข้อมูลลูกค้า คุณภาพลูกค้า และตลาดเป้าหมาย”
นายผยงขยายความว่า ถ้าพันธมิตรเป็นร้านสะดวกซื้อ เวอร์ชวลแบงก์ก็ต้องมีข้อมูลที่ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถปล่อยกู้กลุ่มลูกค้าร้านสะดวกซื้อ ด้วยดอกเบี้ยที่ดีและหนี้เสียน้อย หรือในอีโคซิสเต็มของผู้ให้บริการสื่อสารจะทำอย่างไร แต่ละพันธมิตรก็จะดีไฟน์พื้นที่ของการแข่งขันและบริการ
แผนธุรกิจตอบโจทย์ ธปท.

นายผยงกล่าวว่า ถือเป็นโจทย์ท้าทายในหลายด้านที่จะต้องใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน และที่สำคัญ Virtual Bank ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญของ ธปท.ในการพิจารณาใบอนุญาตคือ แผนธุรกิจจะต้องตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อยและเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอ

ให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นความยากของ Virtual Bank ในการที่จะต้องเข้าถึงข้อมูลของธุรกิจนอกระบบ (Informal Economy) เพราะไม่มีฐานข้อมูลหลัก ต้องเป็นการใช้ข้อมูลทางเลือกต่าง ๆ มาประมวล
“เวอร์ชวลแบงก์จะต้องมีวิธีการใหม่ ๆ ภาคพิสดารบ่อย ๆ เพราะในแง่ของอีโคโนมีออฟสเกล สู้ธนาคารดั้งเดิมไม่ได้ ซึ่งเราแค่หวังว่า ข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาจากพันธมิตร จะทำให้เราได้เปรียบเพียงพอที่จะสู้กับอีโคโนมีออฟสเกลของแบงก์พาณิชย์ ดังนั้นพันธมิตรแต่ละรายที่เข้ามาต้องมาพร้อมกับ Unique Data เพราะถ้ามาพร้อมกับข้อมูลทั่วไป ก็จะได้แค่เงินทุน แต่ไม่ได้ดาต้าอะไรมาเสริม”

KBANK เปิดทางคู่แข่ง ลุยก่อน
ขณะที่นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากกติกาที่ ธปท.ประกาศก่อนหน้านี้ ยังมีความรู้สึกว่า ยังไม่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ประกอบกับประโยชน์และแรงจูงใจที่ให้ไม่ได้มากนัก ขณะเดียวกันกสิกรไทยมีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจคล้ายกับ Virtual Bank เช่น บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK) รวมถึงบริการที่อยู่ภายใต้บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) ซึ่งน่าจะเพียงพอในการดูแลลูกค้ากลุ่มรายย่อย และกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร

สิ่งเดียวที่จะแตกต่างกันระหว่างธนาคารกับ Virtual Bank ก็คือ เงินฝาก เมื่อใดที่มีการรับเงินฝากก็จะต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะจะต้องบริหารจัดการเงินฝากให้สามารถนำมาคืนผู้ฝากเงินได้ ทำให้ต้องมีกติกาค่อนข้างเข้มงวด ดังนั้นกสิกรไทยจึงมองว่า ถ้าเป็นการนำเงินฝากของแบงก์ที่ได้มาไปส่งต่อให้บริษัทลูก น่าจะดีกว่าจะต้องเพิ่มความรับผิดชอบทางด้านเงินฝากจากการเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank

“เท่าที่ดูร่างกติกาที่ออกมาเรายังมองว่าไม่แตกต่าง แต่ก็ยังไม่รู้ว่ากติกาจะประกาศออกมาจะเป็นอย่างไร กำลังรอดูอยู่ ซึ่งเราอาจจะขอรอดูเพื่อน ๆ ก่อนว่าทำอย่างไรบ้าง” ซีอีโอเคแบงก์กล่าว

จับตา SCBX-กลุ่ม ซี.พี.
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นที่แสดงความสนใจก็คือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ประกาศร่วมมือกับ “KakaoBank” ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ จัดตั้ง “Consortium” เพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank จาก ธปท. นอกจากนี้นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX ระบุว่า อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเพิ่มเติมอีก 1 ราย
นอกจากนี้อีกกลุ่มธุรกิจที่มีความสนใจยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ก็คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ที่มีเครือข่ายธุรกิจที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการหลากหลาย ทั้งกลุ่มทรู ที่เป็นผู้ให้บริการสื่อสารยักษ์ใหญ่ รวมถึงธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาว่าจะมีการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์รายใดหรือไม่

https://www.prachachat.net/finance/news-1488511
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่