JJNY : 5in1 ‘แอมเนสตี้’ ทวงคืนอนาคต│ก้าวไกลเสนอ 6 นโยบายการศึกษา│จิรัฏฐ์มองทักษิณ│ศิริกัญญาย้อนอนุทิน│“ลิซ่า”โต้ฝั่งรบ.

ปล่อยผ้าหน้าสภาฯ ‘แอมเนสตี้’ ทวงคืนอนาคต ‘ปล่อยเด็กที่ถูกขัง’ ชี้ 3 ปีผ่านไป ไทยถอยหลัง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4373869
 
 
ปล่อยผ้าหน้าสภาฯ ‘แอมเนสตี้’ ร้อง 3 ข้อ ‘ปล่อยเด็กที่ถูกขัง’ คืนอนาคต 3 ปีผ่านมาไทยมาตรฐานลด
 
เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ด้านหน้าทำเนียบ ประตู 5 ฝั่งกระทรวงศึกษาธิการ และหน้ารัฐสภาไทย กรุงเทพฯ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2567 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ‘ปล่อยผ้าเรียกร้องรัฐไทยหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพเด็ก’
 
โดยผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งรวมถึง น.ส.อันนา อันนานนท์ หรือ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยืนถือป้ายข้อความที่หน้าทำเนียบรัฐบาล “ฟังเสียงของเด็กและปกป้องเสียของพวกเขา ในพื้นที่การชุมนุมประท้วง รัฐต้องยกเลิกข้อกล่าวหาต่อแด็กและเยาวชนโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข” ก่อนเดินทางไปปล่อยป้ายข้อความที่หน้ารัฐสภา ซึ่งข้อความอาทิ “หยุดข่มขู่และดำนเนิคดีอาญาต่อเด็ก ที่ออกมาใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง” ท่ามกลางประชาชนที่สัญจรบนถนนหน้ารัฐสภา
 
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และทุกฝ่ายที่เกี่ยวให้หยุดข่มขู่คุกคาม หยุดติดตาม และยุติการดำเนินคดีอาญากับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
 
โดย ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและชุมนุมประท้วงโดยสงบมากกว่า 286 คน รวม 215 คดี ในจำนวนนี้มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ มีมากกว่า 20 คน รวม 23 คดี และมีเด็กประมาณ 2 คน ต้องมีชีวิตที่ไร้อิสรภาพเพราะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากคดีนี้
 
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่กระบวนการยุติธรรม ดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ หากมองตามหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากล สะท้อนให้เห็นว่าทางการไทยกำลังลิดรอนสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเด็กอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532 (UNCRC) ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ทั้งการใช้สิทธิในการพูดและแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิการได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัย เข้าถึงการศึกษา และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่การที่รัฐไทยดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มาร่วมชุมนุมช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เหมือนการลดมาตรฐานเกินกว่าที่ประชาสังคมโลกจะยอมรับได้ เพราะเด็กทุกคนไม่เพียงแต่เป็นอนาคตของชาติ แต่พวกเขาคือปัจจุบันที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
 
วันเด็กไม่ควรเป็นเพียงแค่วันที่ผู้ใหญ่ให้คำสอนว่าเด็กควรปฏิบัติตัวอย่างไร แต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ และรัฐควรคำนึงถึงความสำคัญ และสิทธิต่างๆ ของพวกเขา ตามสิทธิที่ถูกเขียนเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศและในประเทศ วันเด็กแห่งชาติปี 2567 นี้ แอมเนสตี้ เรียกร้องให้ทางการไทยหยุดข่มขู่และดำเนินคดีอาญาต่อเด็ก” นางปิยนุชกล่าว
 
นางปิยนุช กล่าวถึงการทำในวันนี้ว่าการ ‘ปล่อยผ้าเรียกร้องรัฐไทยหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพเด็ก’ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่เมื่อช่วงต้นปี 2566 แอมเนสตี้ฯ จัดทำรายงานเรื่อง ‘ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพตั้งแต่เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2565 สัมภาษณ์เชิงลึกกับเด็กนักกิจกรรมทั้งหมด 30 คน พบว่า มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกถูกข่มขู่คุกคามและติดตามตัวเวลาไปสถานที่ต่างๆ เช่น บ้าน โรงเรียน หรือสถานที่อื่นๆ
 
นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็กบางคนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนนอกเครื่องแบบ นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ปิดกั้นและสกัดไม่ให้ใช้สิทธิในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น โดยใช้ยุทธวิธีกดดันคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน จนทำให้เด็กบางคนต้องเจอความรุนแรงในครอบครัว หลุดจากระบบการศึกษา ที่ร้ายแรงสุดคือการที่เด็กได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตอย่างหนักหลังถูกสลายการชุมนุมและถูกดำเนินคดี
 
ทางการไทยมักตอบโต้ต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กผ่านการดำเนินคดี ข่มขู่คุกคาม และคุมขังเด็กที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังใช้วิธีการปราบปรามสิทธิเด็กโดยทางอ้อม เช่น เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการกดดันผ่านผู้ปกครองและโรงเรียนให้เด็กอยู่ห่างจากการชุมนุมประท้วง ทั้งที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ พ.ศ.2535 ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และประกันสิทธิของเด็กที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้พวกเขาใช้สิทธิเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้ สิทธิเหล่านี้ช่วยให้เด็กขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนและประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองได้” นางปิยนุชชี้
 
เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงเรียกร้องไปถึงรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตาม 3 ข้อ ดังนี้
1. ปล่อยตัวเด็กทุกคนที่ถูกกักขังเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข
2. ยุติการดำเนินคดีทั้งหมด ถอนคำพิพากษาเอาผิด และหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ
3. แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศรับรองให้มีวิธีปฏิบัติระดับชาติที่สอดคล้องกับการคุ้มครอง การเคารพ และส่งเสริมสิทธิของเด็กในการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
 
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังเชิญชวนร่วมติดแฮชแท็ก #WhatsHappeninginThailand #ThailandChildrenDay #วันเด็ก เพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาลไทย ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และผู้คนทั่วโลก เพื่อให้ข้อเรียกร้องเกิดขึ้นจริง อีกด้วย



ก้าวไกล แถลงเสนอ 6 นโยบายการศึกษา แนะยกเครื่องหลักสูตรใหม่ ชี้เด็กไทยเรียนเยอะ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_8050025

ก้าวไกล แถลงเสนอ 6 นโยบายการศึกษา แนะยกเครื่องหลักสูตรใหม่ ชี้เด็กไทยเรียนเยอะ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ชงเน้นทักษะสมรรถนะปรับวิธีการสอน
วันที่ 13 ม.ค. 2567 ที่พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ น.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเรื่องนโยบายการศึกษา
 
นายพริษฐ์ กล่าวว่า นโยบายปฏิรูปการศึกษา พรรคก้าวไกลต้องการเห็นระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อ 3 เป้าหมายหลัก ประกอบด้วย 1) การพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ 2) ความเสมอภาค และ 3) ความสุขหรือสุขภาวะทางร่างกายและทางสภาพจิตใจที่ดีของผู้เรียน โดยที่ทั้งสามเป้าหมายต่างสัมพันธ์กัน จะบรรลุแค่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งไม่ได้
 
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล มี 6 ข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทย ประกอบด้วย
 
1) ควรจัดทำหลักสูตรใหม่ ที่เน้นทักษะสมรรถนะ ทำให้เด็กได้ใช้เวลาในการเรียนอย่างคุ้มค่า แปรเวลาเรียนให้เป็นทักษะที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากระบบการศึกษาไทยอยู่ในสภาวะที่เรียนมากได้น้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแต่ละประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
 
แต่ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนของไทยไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการแปรเวลาเรียนเหล่านั้นให้ออกมาเป็นทักษะที่ตอบโจทย์ สาเหตุหนึ่งก็คือปัญหาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ไม่ได้เน้นหรือวางเป้าหมายในการพัฒนาทักษะสมรรถนะอย่างเพียงพอ
 
โดยยังไม่มีคำยืนยันว่ารัฐบาลชุดใหม่จะผลักดันหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปี ทั้งจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล คำแถลงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และในการตอบคำถามในสภาฯเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณในปี 2567
 
ซึ่งหากไม่จัดทำหลักสูตรใหม่นี้ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปี เท่ากับว่าประเทศไทยจะอยู่กับหลักสูตรการศึกษาเดิมเป็นเวลาถึง 20 ปี จากครั้งล่าสุดที่มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่
 
สำหรับ พรรคก้าวไกล หลักสูตรฉบับใหม่ที่เน้นทักษะสมรรถนะควรประกอบด้วย
 
การปรับเป้าหมายและวิธีการสอน (เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นทักษะการวิเคราะห์ วิชาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะสื่อสาร)
การลดชั่วโมงเรียน การบ้าน หรือ การสอบแข่งขันที่หนักจนเกินไป การเพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ (เช่น ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก)
การเพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน (เช่น การสร้างแพลตฟอร์มให้นักเรียนสามารถประเมินคุณภาพหนังสือเรียน รวมถึงการเปิดเผยข้อสอบย้อน TCAS หลังพร้อมเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้น)

2) ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการสอน เพื่อคืนครูให้ห้องเรียน และให้นักเรียนมีเวลาอยู่กับครูมากขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะสมรรถนะที่สำคัญ มีการวิเคราะห์ออกมาว่าประมาณ 40% ของเวลาครูถูกใช้ไปกับงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น งานธุรการ การนอนเวร รวมถึงการต้องเขียนรายงานผลดำเนินงานตามนโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นมา
 
3) ป้องกันการตกหล่นออกจากระบบการศึกษา ปัจจุบันการศึกษายังไม่ได้ฟรีจริง มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองทั่วประเทศต้องแบกรับอยู่ในการส่งลูกหลานเข้าสู่การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เคยวิเคราะห์ไว้ว่ากลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะตกหล่นจากระบบการศึกษา ปัจจุบันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแอบแฝงในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าชุดต่างๆ ถึงประมาณ 2,000-6,000 บาทต่อปี
 
ปัจจุบันมีสองโครงการที่พยายามเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน คือ (1) ทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นโครงการที่ กสศ. คัดกรองและจัดสรรโดยตรง และ (2) โครงการทุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ที่ กสศ. มาช่วยคัดกรอง โดย สพฐ. เป็นคนจัดสรรงบประมาณให้
ในส่วนของทุนเสมอภาค แม้งบประมาณปี 2567 มีการปรับอัตราต่อหัวขึ้นให้ก็จริง แต่เป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันได จาก 3,000 บาทต่อหัวเป็น 4,200 บาทต่อหัว แต่ไม่ได้ขึ้นทั้งหมดทันทีในปี 2567 แต่ใช้เวลา 3 ปีขึ้นเป็นขั้นบันได
 
พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าแทนที่จะขึ้นแบบขั้นบันไดควรเป็นการขึ้นทันทีให้เป็น 4,200 บาท ในส่วนทุนปัจจัยขั้นพื้นฐานฯ พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีการขยายสองด้าน
 
คือ ขยายให้เด็กยากจนที่ตกสำรวจ 1 ล้านคน และ ขยายจากปัจจุบันที่ได้แค่เพียงชั้นประถมกับมัธยมต้น ให้เด็กในระดับก่อนประถมและมัธยมปลายได้รับด้วย ซึ่งข้อเสนอสำหรับทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณรวมกันไม่เกิน 3 – 5 พันล้านบาทต่อปี
 
4) การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่หลายครั้งขาดแคลนอุปกรณ์และขาดแคลนครู ปัญหาที่เจออยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาครูกระจุกโรงเรียนกระจัดกระจาย
 
แม้สัดส่วนนักเรียนต่อครูในระบบทั้งหมด (16.9 : 1) ดูเหมือนว่าครูในภาพรวมจะเพียงพอที่ แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของครูมีปัญหาจนทำให้มีครูไม่ครบทุกระดับชั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่