"ไข้เลือดออก" ภัยร้ายใกล้ตัวที่ต้องระวัง! เปิดสาเหตุ อาการ และแนวทางการป้องกัน


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “ไข้เลือดออก” ได้กลับมาระบาดมากอีกครั้ง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เข้าสู่ฤดูฝนก็ตาม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้อากาศร้อนและชื้น จึงส่งผลให้ยุงลาย ที่ทำหน้าที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้ตัวให้มากยิ่งขึ้นพร้อมกันในบทความนี้

ไข้เลือดออก คืออะไร
ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบมากในเขตร้อนและมักจะระบาดในช่วงฤดูฝน แต่อย่างที่บอกไปเบื้องต้น ว่าแม้ไทยจะยังไม่เข้าสู่ฤดูฝน แต่ด้วยอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้ยุงลายเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โรคไข้เลือดออกระบาดตามไปด้วย ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคที่มีความรุนแรงและสามารถส่งผลให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

สาเหตุของโรคไข้เลือดออก
สำหรับสาเหตุของการเกิดไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีมากถึง 4 สายพันธุ์ (DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4) โดยการกัดของยุงลายตัวเมียที่มีเชื้อไวรัสเหล่านี้อยู่  เริ่มจากเมื่อยุงลายตัวเมียกัดคนที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออก เชื้อจะติดมากับเลือดที่ยุงดูดไป ทำให้ยุงตัวนั้นมีหน้าที่เป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายตัวเมียที่มีเชื้ออยู่ไปกัดคนถัดไป เชื้อไวรัสที่อยู่ในตัวยุงก็จะแพร่เข้าไปในตัวคนที่ถูกกัด ทำให้เป็นไข้เลือดออกออกในที่สุด

อาการของโรคไข้เลือดออก เป็นแบบไหน?
อาการของโรคไข้เลือดออกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ทั้งนี้จะมีอาการที่เป็นจุดสังเกตได้ดังนี้
• ไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 38 องศาเซลเซียส
• ปวดศีรษะ
• อ่อนเพลีย
• ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือกล้ามเนื้อ
• มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
• เบื่ออาหาร
• มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง (จุดสังเกตสำคัญ)
• บางกรณีอาจเกิดเลือดออกตามไรฟัน หรือจมูก (จุดสังเกตสำคัญ)
• อาจเกิดภาวะช็อกได้ (ในรายที่รุนแรง)

แนวทางการรักษา โรคไข้เลือด
โรคไข้เลือดออกไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาจะเน้นไปที่การประคองอาการไม่ให้ทรุดลง โดยจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้แพทย์อาจมีการให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้อาเจียน และยาบำรุงเลือด หากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจต้องให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และการให้ยาปฏิชีวนะ และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก
สำหรับวิธีการการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด ก็คือ การป้องกันไม่ให้โดนยุงลายกัดนั่นเอง นอกจากนี้โดยอาจการลดประชากรของยุงเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคได้ดังนี้ 
1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น เปลี่ยนน้ำในแจกันหรือภาชนะใส่น้ำทุกสัปดาห์ ปิดฝาถังน้ำให้มิดชิด เก็บขยะและเศษวัสดุที่เป็นแหล่งน้ำขัง
2. ทายากันยุง หรือจุดยาไล่ยุง
3. สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อป้องกันการถูกยุงกัด
4. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งที่มียุงชุม

ทั้งนี้โรคไข้เลือดออก ถือเป็นโรคที่อันตราย อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการสงสัยว่าตนเองอาจเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีต่อไป

ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์, โรงพยาบาลพญาไท

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tnnthailand.com/news/health/160267/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่