JJNY : 'ไข่เศรษฐา' ราคาพุ่ง│แจ้งข้อกล่าวหา ‘อดีตรมต.-ขรก.แรงงาน’│ออก4หมายจับ‘มาเฟียหมูเถื่อน’ │เศรษฐา เซ็นแล้วฉบับ กก.

'ไข่เศรษฐา' ราคาพุ่งขึ้นแผงละ 9 บาท - สมาคมหมูแจ้งขึ้นราคาให้ทันต้นทุน คาดตรุษจีนโลละ 148 บ.
https://ch3plus.com/news/economy/morning/382126
 
 
วานนี้ (10 ม.ค. 67) เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ได้แก่
 
• สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด
• สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด
• สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด
• สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด

ได้ออกประกาศ ราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร วันที่ 11 มกราคม 2567 อยู่ที่ฟองละ 3.80 บาท (น้ำหนัก 20.5 กก.ขึ้นไป) ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงราคา จะแจ้งให้ทราบภายหลัง

อย่างไรก็ดี จากการปรับราคาในครั้งนี้ จะทำให้ราคาไข่ไก่ขึ้นปรับแผงละ 9 บาท ทั้งขายปลีกและขายส่ง
------------
วานนี้ (10 ม.ค. 67) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 9 มกราคม 2567 ขอให้ฟาร์มครบวงจร ห้างค้าส่ง ห้างค้าปลีก 9 แห่ง ที่จะเริ่มต้นผลักดันราคาสุกรขุนหน้าฟาร์ม ตั้งแต่วันพระที่ 10 มกราคมนี้ เป็นต้นไป

ให้เข้าสู่ต้นทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่า จะเข้าถึงต้นทุนได้ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ได้ก่อนตรุษจีนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อช่วยผู้เลี้ยงหมูฝ่าวิกฤติหมูเถื่อน ที่ต้องแบกรับภาระขายหมูต่ำกว่าราคาต้นทุน มานานกว่า 10 เดือน

โดยปัจจุบัน ราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่ 68-74 บาท ต่างกันแต่ละภูมิภาค ซึ่งถ้าปรับขึ้นไปให้ถึงต้นทุนที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม นั่นหมายความว่า ราคาจะปรับขึ้นถึง 6-12 บาทต่อกิโลกรัม และจะถูกส่งไปยังราคาขายปลีกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 134-148 บาทต่อกิโลกรัม ก่อนตรุษจีนนี้



ดีเอสไอ แจ้งข้อกล่าวหา ‘อดีตรมต.-ขรก.แรงงาน’ หักหัวคิวส่งคนไทยไปฟินแลนด์ 36 ล้าน
https://www.matichon.co.th/local/news_4369571

ดีเอสไอ มีมติกล่าวหา อดีตรมต.-ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน รวม 4 ราย ความผิด 157พบหลักฐานโยง ค่าหักหัวคิว ขบวนการส่งแรงงานไทยไป ฟินแลนด์ เสียหาย 36 ล้านบาท
 
เมื่อวันที่ 10 มกราคม คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดยกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ร่วมสอบสวน มีมติร่วมกันให้กล่าวหากับ อดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน อีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86
 
โดยจะเร่งสรุปสำนวนการสอบสวนส่งสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป
 
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีการค้ามนุษย์ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 81/2566 เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องแรงงานไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในสาธารณรัฐฟินแลนด์ที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบว่าเป็นคดีความผิดที่ส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร จึงเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนต่อไป และอัยการสูงสุดได้มอบหมายพนักงานอัยการมาร่วมสอบสวน ซึ่งมีการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากสาธารณรัฐฟินแลนด์ในความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมาทางการสาธารณรัฐฟินแลนด์ได้ส่งพยานหลักฐานสำคัญตามที่ทางการไทยร้องขอให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ
 
โดยจากการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และพยานหลักฐานที่ได้จากความร่วมมือระหว่างประเทศกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐฟินแลนด์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของสาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นค่า “หัวคิว” (DOE MAMAGEMENT) หรือค่าดำเนินการ เฉลี่ยรายละ 3,000 บาท
 
โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทประสานงานฝั่งไทยได้นำมาเรียกเก็บจากคนงานที่ไปทำงานอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามจริง โดยในปี พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นช่วงดำเนินคดี มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการ ได้มีมติกล่าวหาบุคคลดังกล่าว รวม 4 คน และจะนำส่งสำนวนคดีพิเศษดังกล่าว ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
 
“การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ที่มีหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ต้องมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยิ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ยิ่งต้องให้ความสำคัญเพราะกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้
 
จึงไม่ควรมีนักการเมือง หรือผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้จะเป็นคดีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. DSI ก็ควรต้องช่วยเหลือและสนับสนุนกรปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ



ด่วน! ออก 4 หมายจับ ‘เฮียเก้า’ น้องชายนักการเมืองคนดัง ‘มาเฟียหมูเถื่อน’ พร้อมสมุน.
https://www.dailynews.co.th/news/3072635/

ศาลอาญาอนุมัติ 4 หมายจับ 'เฮียเก้า' น้องชายนักการเมืองคนดัง 'มาเฟียหมูเถื่อน' พร้อมสมุน DSI เดินเครื่องทันควันเตรียมหิ้ว 4 หมายจับล็อกตัว ฟันอ่วม พ.ร.บ.ศุลกากร-พ.ร.บ.ปศุสัตว์-อั้งยี่ซ่องโจร-ฟอกเงิน พร้อมเปิดปฏิบัติการค้น 5 จุดทั่วกทม. ลุยยึดพยานหลักฐานสำคัญ.

จากกรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) คดีหมูเถื่อนภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดี นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ดำเนินการรับคดีพิเศษเพิ่มเติมอีก 2 คดี ในคดีหมูเถื่อน กรณีขบวนการนำเข้านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อสอบสวนหาผู้ร่วมขบวนการทั้งหมดสำหรับดำเนินคดีทางอาญาตามฐานความผิด ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 11 ม.ค.67 พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับ 4 หมายแก่ 4 บุคคลในข้อหา หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 , หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 , นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอันเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกอบมาตรา 68 และมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา , มาตรา 209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน 
 
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับการเข้าค้นพื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพมหานครนั้น เบื้องต้นมีทั้งหมด 5 จุด เป็นทั้งบริษัทชิปปิ้งเอกชนและห้องเย็น โดยการเข้าตรวจค้นในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจยึดพยานหลักฐานสำคัญและพยานวัตถุ 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรายชื่อ 4 บุคคลที่ถูกหมายจับศาลอาญาที่ 111-114 ลงวันที่ 9 ม.ค.67 ประกอบด้วย 
1.นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า น้องชายต่างมารดานักการเมืองชื่อดัง และในฐานะนายกสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชีย 
2.นายหยาง ยา ซุง 
3.นายกรินทร์ บุตรชายของนายหลี่ 
และ 4.น.ส.นวพร เชาว์วัย ฝ่ายบริหารจัดการด้านบัญชีของนายหลี่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่