เหตุให้ทุคติปรากฏ | พุทธวจน


เหตุให้ทุคติปรากฏ

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๕/๑๖๕.
 -บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๐๕/๑๘๙.

จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง.
จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :-
 (๑) เป็นผู้มีปกติทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต
(๒) เป็นผู้มีปกติถือเอาสิ่งของที่มีเจ้าของมิได้ให้ คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้านหรือในป่าก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย
(๓) เป็นผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น 
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง.
จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้ บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวไม่เห็น เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่นหรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ 
(๒) เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น พอใจยินดี เพลิดเพลินในการแตกกันเป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก 
(๓) เป็นผู้มีวาจาหยาบ อันเป็นวาจาหยาบคาย กล้าแข็ง แสบเผ็ดต่อผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เขาเป็นผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น 
(๔) เป็นผู้มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาล ไม่กล่าวตามจริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง.
จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง) เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้ 
(๒) เป็นผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้าย ว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงเดือดร้อน จงแตกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้เป็นต้น
(๓) เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล) , ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) , การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) , ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้ 
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง.
จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถสิบ.
จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถทั้งสิบประการเหล่านี้เป็นเหตุ นรกย่อมปรากฏ กำเนิดเดรัจฉานย่อมปรากฏ เปรตวิสัยย่อมปรากฏ หรือว่าทุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลผู้ถูกนำตัวไปเก็บไว้ในนรก.

(สูตรอื่นๆ แทนที่จะนับจำนวนกรรมบถมี ๑๐ ได้ทรงขยายออกไปเป็น ๒๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำอีกสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๓๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ และทรงขยายออกไปเป็น ๔๐ คือ ทำเองสิบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำสิบ ยินดีเมื่อเขาทำสิบ สรรเสริญผู้กระทำสิบ ; จึงมีกรรมบถ สิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ. ทสก. อํ. ๒๔/๓๕๒–๓๓๒/๑๙๘–๒๐๑. 
ในสูตรอื่น แสดงผลแห่งการกระทำแปลกออกไป จากคำว่า “เหมือนถูกนำไปเก็บไว้ในนรก” นั้น ทรงแสดงด้วยคำว่า “เป็นผู้ขุดรากตนเอง” ก็มี, “ตายแล้วไปทุคติ” ก็มี, “เป็นพาล” ก็มี.ทสก. อํ. ๒๔/๓๓๒-๓๓๓/๒๐๒–๒๐๓.)
https://etipitaka.com/read/thaipb/11/0/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่