อาชีพในฝัน-เต้นรำไปทำเงิน - โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เขียน ณ วันที่ 26 ส.ค 2566



ในมุมมองของผมที่เป็น “นักลงทุนอาชีพ” หรือคนที่ทำงานหลักเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาหลายสิบปี และก่อนหน้านั้นก็ทำงานเป็นวิศวกรในโรงงาน เป็นพนักงานด้านการวางแผนและบริหารเงินของกิจการให้บริการเงินกู้และเงินร่วมทุนขนาดใหญ่ และต่อมาก็ทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ให้บริการเป็นที่ปรึกษาและระดมเงินให้กับบริษัทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นบริษัทเอกชนและบริษัทในตลาดหุ้น

ผมก็รู้สึกว่า งานแต่ละอาชีพนั้นมีลักษณะและคุณสมบัติไม่เหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ มีความสุขและความทุกข์ไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับที่มีรายได้ที่แตกต่างกัน

เมื่อคิดย้อนกลับไป ถ้าผมรู้ว่าเราควรจะเลือกก่อนว่าอาชีพไหนที่จะให้ความสุขมากกว่าและได้เงินดีกว่าสำหรับคนที่มีคุณสมบัติแบบที่ผมเป็น ผมก็คงจะไม่ทำงานแบบนั้นทั้งหมด ผมคงจะพยายามหา “อาชีพในฝัน” ทำแล้วมีความสุข และได้เงินมาก ๆ ตั้งแต่แรก ไม่มาเริ่มทำเมื่ออายุกว่า40 ปี ที่ผม “บังเอิญ” ต้องมาเป็น “นักลงทุนอาชีพ” หลังจากที่ต้องตกงานในวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และก็พบว่า อาชีพนักลงทุนนั้นก็คือ “อาชีพในฝัน” ที่ทำแล้วมีความสุข อยากทำทุกวัน เหมือนกับที่วอเร็น บัฟเฟตต์พูดว่า เขาแทบจะ “เต้นแท็ปไปทำงาน” ทุกวัน

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว การลงทุนก็อาจจะไม่ใช่ “อาชีพในฝัน” ที่ทำแล้วมีความสุขและได้เงินมาก เพราะการทำอาชีพอะไรก็ตาม มันก็จะต้องเหมาะกับคุณสมบัติและนิสัยและความชอบของแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผม งานหรืออาชีพที่ผมคิดว่าน่าจะมีความสุขหรือมีทุกข์น้อยกว่า และคนไม่ต้องมี IQ สูงก็ทำได้ น่าจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

ข้อแรกก็คือ มันต้องเป็นงานที่ “มีความหมาย” หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือคนอื่น และอย่างน้อยก็ให้ผลตอบแทนที่ดีพอต่อการใช้ชีวิตของเรา นอกจากนั้นสถานที่ทำงานก็ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษที่กระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา นี่ก็เป็นเรื่องพื้นฐานเบื้องต้น ซึ่งคิดดูแล้ว สมัยที่ผมเป็นวิศวกรเมื่อเกือบ 50 ปี มันไม่ผ่าน

ข้อต่อมาก็คือ งานต้องเหมาะกับนิสัยและความสามารถของเรา ซึ่งจะช่วยให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในงานก็คือสิ่งที่จะก่อให้เกิดความสุข และเงินที่จะได้มากขึ้น

ความสุขในอาชีพและการทำงานที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือการที่เราจะไม่เครียดหรือมีความกังวลที่มากเกินไปที่มักจะเกิดจากการที่ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย และถ้าเป้าหมายนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเกินไป อาจจะเป็นเพราะผู้บังคับบัญชามีความเข้มงวดตั้งเป้าหมายสูงเกินไป และ/หรือบริษัทหรือเราไม่ได้มีความได้เปรียบในการแข่งขันเทียบกับคู่แข่ง เราก็จะเครียด กังวล และไม่มีความสุขในการทำงาน หรือถ้าพูดแบบง่าย ๆ ก็คือ การถูกวัดผลงานแบบเข้มข้นและโดยผู้บังคับบัญชานั้น เป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานมีความสุขน้อยลงมาก

อาชีพที่ทำแล้วมีความสุขก็คือความเป็นอิสระและ/หรือความยืดหยุ่น ซึ่งนี่ก็รวมถึงความเป็นอิสระที่จะสามารถทำงานตามเวลาที่สะดวกของเรา การมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ และการที่สามารถที่จะได้ผลตอบแทนตามผลงานที่ยุติธรรม เช่น ทำดีหรือทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เป็นต้น

เพื่อนร่วมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้อาชีพนั้นก่อให้เกิดความสุขหรือความทุกข์มากกว่ากัน อาชีพบางอย่างอาจจะมีการแข่งขันหรือแก่งแย่งชิงดีมากกว่าอาชีพอื่น ดังนั้น เพื่อนร่วมงานก็มักจะเป็นแหล่งที่จะทำให้มีความสุขหรือความทุกข์ที่สำคัญ ในหลายอาชีพนั้น เพื่อนร่วมงานมักจะต้องช่วยกันมากกว่าแข่งขัน บางอาชีพก็เป็นแบบต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งก็จะทำให้มีความสุขมากกว่าสำหรับการทำงาน

อาชีพบางอย่างนั้น มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์หลายข้อดังที่กล่าวถึง นอกจากนั้นก็ยังให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินที่ดีพอ ดังนั้น ก็จะเป็น “อาชีพในฝัน” สำหรับคนที่อยากทำงานอย่างมีความสุข ตัวอย่างก็น่าจะรวมถึงอาชีพต่อไปนี้ ซึ่งผมเองก็สังเกตพบว่าคนที่ทำก็มักจะมีความสุขและก็ไม่ค่อยที่จะเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพบ่อย

กลุ่มแรกก็คือ อาชีพครูอาจารย์และผู้สอนในสาขาวิชาต่าง ๆ เพราะนี่คืออาชีพที่ค่อนข้างอิสระและมีคนนับหน้าถือตา ไม่มีใครมาประเมินผลงานอะไรมากนัก และรายได้นั้นแม้ว่าจะไม่สูงหรือเติบโตมากนัก แต่การหารายได้เพิ่มจากการเป็นครูพิเศษก็ดูเหมือนว่าจะดีทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้จากอาชีพอื่น

ว่าที่จริงในปัจจุบันนั้น คนที่มีทักษะหรือความสามารถบางอย่างสามารถที่จะยึดอาชีพเสริมเป็นครูพิเศษหรือติวเตอร์ได้ไม่ยาก เพราะเด็กหรือคนรุ่นใหม่ต่างก็พร้อมจ่ายเงินเรียนรู้ทักษะสารพัดรวมถึงการทำศิลปะ ทำอาหาร เล่นกีฬา และฝึกภาษา เป็นต้น

อาชีพพนักงานบริการบนเครื่องบินเช่น แอร์โฮสเตสหรือนักบิน นี่ก็เป็นอาชีพที่คนทำมักจะมีความสุข อาจจะเนื่องจากได้ท่องเที่ยวด้วย รายได้ดี การทำงานเมื่อทำแล้วเสร็จก็จบเป็นเที่ยว ๆ ไม่ต้องมีความกังวลหรือต้องรับผิดชอบงานต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าจะต้อง “ให้บริการ” คนอื่น แต่ก็ดูเหมือนว่าคนรับบริการก็มักจะประพฤติปฏิบัติดีกว่าการรับบริการบนพื้นดิน

อาชีพพิธีกร ผู้ประกาศและนักแสดงในสื่อต่าง ๆ ก็มักจะเป็นอาชีพที่คนทำมีความสุขและมีรายได้ดี จริงอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนมีความสามารถที่จะทำได้ แต่การฝึกฝนก็ทำได้ไม่ยากเหมือนกับการเป็นวิศวกรหรือวาณิชธนกิจ อาชีพพิธีกรนี้ก็เช่นเดียวกับอาชีพในฝันอื่น ๆ ที่เมื่องานจบแล้วความเครียดก็จบ ไม่ต้องเก็บกลับบ้านไปคิดหรือกังวลอีกต่อไป จริงอยู่ การเป็นนักแสดงก็อาจจะต้องมีการท่องบท แต่ก็เป็นเรื่องที่จะติดอยู่ในสมองในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่น่าจะทำให้ “นอนไม่หลับ” เหมือนงานอื่นในบางอาชีพ

สุดท้ายที่จะพูดถึงและน่าจะเป็น อาชีพในฝันสำหรับคนจำนวนไม่น้อยก็คือ “นักลงทุน” โดยเฉพาะในตลาดหุ้น และสิ่งที่ผมจะเน้นก็คือ เป็น “นักลงทุนระยะยาวแบบ VI” ในแบบของวอเร็น บัฟเฟตต์ และตัวผมเอง ซึ่งก็ยึดถือแบบอย่างของบัฟเฟตต์ โดยที่ความแตกต่างอาจจะมีอยู่บ้างในแง่ที่ว่าบัฟเฟตต์ยังต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์จำนวนมาก แต่ผมเองนั้นรับผิดชอบเฉพาะคนในครอบครัว

การเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลระยะยาวแบบ VI นั้น เป็นการลงทุนที่มีความสุขด้วยเหตุผลมากมาย แต่จะมีความสุขจริง ๆ ในระยะยาวได้จะต้องมีเงื่อนไขว่าเรา “ประสบความสำเร็จ” จนกระทั่ง “มีอิสรภาพทางการเงิน” แล้ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราอาจจะต้องมีเงินเริ่มต้นมากพอที่จะไม่ต้องทำงานอย่างอื่นแต่ก็มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้

ซึ่งนั่นก็คือ เราจะต้องมีเงินต้นอย่างน้อย 200 เท่า ของรายจ่ายประจำเดือน เราถึงจะยึดอาชีพเป็นนักลงทุนระยะยาวแบบ VI ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท เราจะต้องมีเงินต้นถึง 10 ล้านบาท ก่อนที่จะคิดเป็น “นักลงทุนอาชีพ”

ถ้ายังมีไม่ถึง เราจะต้องหาเงินให้ถึง อาจโดยการทำงานประจำอย่างอื่นและมีอาชีพหรืองานเสริมเป็นนักลงทุนสมัครเล่นไปก่อน และถ้าอยากทำงานอย่างมีความสุขก็อาจจะเลือกงานในฝันอย่างอื่นไปก่อน เช่น อาจจะเป็นนักบินหรือแอร์โฮสเตสที่มีรายได้ดีและเก็บเงินให้มากพอแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น VI เต็มตัว เป็นต้น

อาชีพนักลงทุนระยะยาวแบบ VI นั้น ข้อดีก็คือ เราเป็นเจ้านายตนเอง มีอิสระเสรีในการทำอะไรก็ได้ที่เราชอบ ไม่มีเวลาทำงานตายตัว ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอหุ้น ว่าที่จริงไม่ว่าเราจะอยู่แห่งไหนของโลก เราก็ซื้อขายหุ้นได้ แต่จริง ๆ เราก็ไม่จำเป็นที่จะทำงานตอนตลาดหุ้นเปิด เพราะส่วนใหญ่แล้วเราจะซื้อขายหุ้นน้อยมาก ปีหนึ่งก็ทำไม่กี่ครั้ง แต่เราก็ทำงานทุกวันโดยการศึกษาข้อมูลทั้งในหนังสือและในชีวิตจริง

ข้อเสียของอาชีพ VI ข้อหนึ่งนั้นก็คือ การที่เราจะไม่มี “หัวโขน” ในสังคม เราจะไม่มีสถานะอะไรที่คนทั่วไปจะยกย่องนับถือโดยเฉพาะในสังคมไทยที่ยังอนุรักษ์นิยมและคนคุ้นชินกับตำแหน่งหน้าที่ที่เป็น “ทางการ” และ “อำนาจตามวัฒนธรรมและประเพณี” มากกว่าความสามารถและผลงานที่คน ๆ นั้นมอบให้แก่สังคม

จริงอยู่ว่าในภาวะปัจจุบัน นักธุรกิจและเจ้าของกิจการธุรกิจที่ “ร่ำรวย” ก็เป็น “Class” หรือ “ชนชั้นทางสังคม” ที่กำลังได้รับการชื่นชมยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เทียบเคียงกับคนในกลุ่มที่มี “หัวโขน” แล้ว แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังห่างชั้นจาก “เจ้าของธุรกิจ” มาก แม้ว่า “VI” โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นเจ้าของธุรกิจเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของส่วนใหญ่เท่านั้น

26 ส.ค 66
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/blogs/finance/stock/1085464
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่