JJNY : ปาเลสไตน์ในกาซาเผชิญวิกฤต│กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานปิดถนน│พิธานำส.ส.ฟังปัญหาเด็กรหัสจี-ค้าชายแดน│ปชช.ร้องค่าครองชีพ

ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำสะอาด ต้องใช้น้ำทะเลแทน
https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/210076

 
ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องใช้น้ำทะเลเพื่ออาบน้ำและซักเสื้อผ้า หลังเผชิญกับการขาดแคลนน้ำสะอาด บางส่วนต้องต่อแถวรอน้ำเป็นเวลานานหลายชั่วโมงในแต่ละวัน
 
ตั้งแต่รุ่งเช้าไปจนถึงพลบค่ำ ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเมืองราฟาห์ ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันไปกับการเข้าแถวรอเติมน้ำสะอาดลงในถังที่เตรียมมา หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ท่ามกลางการปิดล้อมพื้นที่ของอิสราเอล
 
โมฮัมเหม็ด รากิบา พลเรือนในกาซาที่กำลังช่วยคนอื่น ๆ เติมน้ำลงในถังขนาด 20 ลิตร เปิดเผยว่า บางคนไม่สามารถหาน้ำได้เลย แม้จะต้องต่อแถวรอทั้งวัน

"เราหาน้ำไม่ได้ เวลาที่รอก็นานมาก บางครั้งเราได้น้ำ แต่บางครั้งก็ไม่ได้ อย่างที่เห็น ชีวิตคนทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับสายยางนี้ ราว 20,000 ครอบครัวต้องพึ่งสายยางนี้ สถานการณ์เลวร้ายมาก ไม่มีน้ำ ไม่มีแป้ง ไม่มีการขนส่ง ไม่มีรถ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บางคนก็ไม่สามารถหาน้ำได้เลย" รากิบาบอก 
  
ส่วน บาการ์ อัล คาเชฟ เปิดเผยว่า ทั้งชาวปาเลสไตน์ผู้พลัดถิ่นและชาวบ้านดั้งเดิมล้วนขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ไม่ว่าจะน้ำสะอาดหรือน้ำเค็ม "ส่วนความทุกข์ของเรา อย่างที่เห็น มีคนพลัดถิ่นและชาวบ้านที่ยังอยู่ในภูมิภาค ล้วนไม่มีน้ำ ทั้งน้ำสะอาดหรือน้ำเค็ม ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่นี้ราว 30,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ทางตะวันออกและตะวันตกของจุดผ่านแดนราฟาห์จึงมาเติมน้ำกันที่นี่"
 
นอกเหนือจากผู้คนที่ต้องต่อแถวยาวเพื่อรอน้ำสะอาดในเมืองราฟาห์แล้ว ชาวปาเลสไตน์ในเมืองเดอี์ อัล บาลาห์ (Deir Al-Balah) ต้องหันไปพึ่งน้ำทะเล สำหรับใช้ในการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และซักเสื้อผ้าแทน หลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก
 
นาเฮด คาห์อิล อัล-ลอฮ์ ชาวเมือง เปิดเผยว่า ที่ตัดสินใจมาอาบน้ำทะเลและซักเสื้อผ้าที่นี่เพราะกลัวโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาด “เรากลัวโรคระบาด จึงมาลงทะเลเพื่ออาบน้ำ ซักเสื้อผ้า อาบน้ำลูก เพราะไม่มีน้ำให้เราดื่ม แม้กระทั่งน้ำดื่ม เราต้องซื้อตามถนนและมีราคาแพงมาก เราซื้อน้ำอาบและซักเสื้อผ้าไม่ได้ เพราะผ่านมาสักพักหนึ่งแล้ว ใครที่มีเงินเก็บก็หมด เลยต้องมาทะเลและอาบน้ำในทะเลกัน
 
ทั้งนี้ ดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด เชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์อย่างหนัก นับตั้งแต่สงครามครั้งล่าสุดปะทุขึ้นหลังนักรบของกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกก่อเหตุโจมตีอิสราเอลอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา สังหารผู้คนกว่า 1,400 ศพ และมีผู้ตกเป็นตัวประกันกว่า 240 ราย ก่อนอิสราเอลจะตอบโต้ด้วยการปิดล้อมฉนวนกาซา ที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์กว่า 2.3 ล้านคน ตลอดจนระดมโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการภาคพื้นดินหนักหน่วง เป็นเหตุให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วกว่า 10,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วยกว่า 4,200 คน และมีแนวโน้มที่จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายจะเพิ่มสูงขึ้นอีก หากยังไม่มีการยุติสงคราม
 

 
กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานปิดถนนไปจีน ทำสินค้าแพง
https://tna.mcot.net/world-1270815

ย่างกุ้ง 11 พ.ย.- เหตุกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในรัฐฉานจับมือกันโจมตีกองทัพเมียนมาและปิดถนนสายสำคัญไปยังจีน 2 สาย ทำให้การค้าข้ามพรมแดนหยุดชะงัก ส่งผลให้สินค้าราคาแพงขึ้น รัฐบาลขาดรายได้จากภาษี และขาดการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ
 
การสู้รบในรัฐฉาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาดำเนินมา 2 สัปดาห์แล้ว และทำให้มีคนพลัดถิ่นเกือบ 50,000 คนตามข้อมูลของสหประชาชาติ ชาวเมืองมูเซ (Muse) ที่มีพรมแดนติดกับจีนเผยว่า ไม่มีรถบรรทุกสินค้าเข้ามาตั้งแต่เริ่มมีการสู้รบเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ทั้งที่ปกติจะเข้ามาวันละหลายร้อยคันเพื่อนำผักผลไม้ไปจีนและนำเครื่องใช้ไฟฟ้า ยา สินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาจากจีน โดยได้ยินเสียงยิงปืนใหญ่และยิงปืนปะทะอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ชาวเมืองล่าเสี้ยว (Lashio) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 160 กิโลเมตรเผยว่า ได้รับผลกระทบจากการสู้รบเรื่องสินค้าราคาแพงขึ้น ข้าวสาร 1 กระสอบได้ปรับราคาขึ้นจาก 160,000 จ๊าต (ราว 2,766 บาท) เป็น 190,000 จ๊าต (ราว 3,284 บาท) หากการสู้รบยืดเยื้อ พวกเขาจะยิ่งลำบาก

ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาระบุว่า ช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ด่านข้ามแดนมูเซและด่านข้ามแดนชินฉ่วยฮ่อ (Chinshwehaw) เป็นช่องทางการค้าข้ามพรมแดนของเมียนมามากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด 5,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 193,084 ล้านบาท) นักวิเคราะห์ชี้ว่า การค้าในจำนวนนี้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,294 ล้านบาท) มาจากการส่งแก๊สธรรมชาติผ่านเมืองมูเซเข้าไปยังจีน และน่าจะมีการค้าข้ามพรมแดนผ่านตลาดมืดอีกมากที่ไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขของทางการ ขณะที่กระทรวงต่างประเทศจีนเผยเมื่อวันศุกร์ว่า เข้าใจว่าโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ.-สำนักข่าวไทย



พิธา นำส.ส.ลุยพบพระ ฟังปัญหาเด็กรหัสจี-ค้าชายแดน ลั่น ‘ก้าวไกล’ พร้อมผลักดันแก้ปัญหา
https://www.matichon.co.th/politics/news_4277260

’พิธา‘ เยือนพบพระ-แม่สอด รับฟังปัญหาเด็กรหัสจี-การค้าชายแดน ลั่น ‘ก้าวไกล’ พร้อมผลักดันแก้ปัญหา มอง เป็นโอกาสของอาเซียนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมด้วยนายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ ส.ส.ตาก เขต 2 พรรคก้าวไกล และนายดริษฐ์ ปานเนียม ส.ส.จ.ตาก เขต 3 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยส.ส.กทม ทั้งส.ส.เขต และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้ไปพบปะกับชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ที่บริเวณงานวันเกษตรอำเภอพบพระ ตำบลช่องแคบ อ.พบพระ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายพิธาไปถึงมีประชาชนเข้าไปรายล้อมมอบดอกไม้ ขอลายเซ็น และขอบันทึกภาพทันที จากนั้นนายพิธาได้ขึ้นเวทีในบริเวณงาน และพูดคุยกับประชาชนว่า ขอขอบคุณชาวจังหวัดตากที่ลงคะแนนให้กับส.ส.พรรคก้าวไกล 2 คน
 
ทั้งนี้ นายพิธา ได้เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านแม่ปะเหนือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 297 คน คิดเป็นเด็กสัญชาติไทย 20 เปอร์เซ็นต์ เด็กเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยง จำนวน 20% และเด็กมุสลิมเมียนมา 60% นักเรียนเมียนมาบางส่วนยังไม่ได้รับรหัสเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา (รหัส G) โดยสถานการณปัจจุบัน เด็กรหัส G ทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 120,000 คน มีเพียง 3 หมื่นคนที่ได้รับเลข 13 หลักแล้ว
 
ทั้งนี้ จังหวัดตาก เป็นจังหวัดที่มีลูกหลานแรงงานข้ามชาติหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย มีการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนรัฐบาล และศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าระบบโรงเรียน (หรือ Migrant Learning Center) มากกว่า 64 แห่ง
 
นายพิธากล่าวระหว่างประชุมรับฟังปัญหา ว่า หลังจากเดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียนแม่ปะเหนือ ตนเห็นกระบวนการการทำงานของโรงเรียน และทราบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการจัดการกับปัญหาและช่วยเหลือเด็กๆ เห็นว่ามีการทำงานกันมาโดยตลอดในการช่วยเด็กนักเรียนไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไหน กลุ่มที่ 1 คือโรงเรียนรัฐ กลุ่มที่ 2 คือศูนย์การเรียนรู้ (หรือ MLC) ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีข้อดีต่างกัน หากอยู่ในโรงเรียนในระบบ เด็กจะสามารถเติบโตและใช้ชีวิตในประเทศไทยได้ง่ายกว่า ขณะที่ MLC จะยืดหยุ่นมากกว่าในการรับเด็กที่เกินอายุ หรือเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตน หรือเด็กที่เข้ามาในช่วงเวลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่วงที่โรงเรียนรับสมัคร
 
นายพิธากล่าวต่อว่า ได้รับเรื่องแล้ว จะนำไปคิดร่วมกับ ‘ครูจวง’ นายปารมี ไวจงเจริญ ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย หรือ “เด็กรหัส G” ซึ่งญัตติดังกล่าวถูกสภาฯ ปัดตก ไม่ได้รับความเห็นชอบ ขณะเดียวกัน ต้องขอชื่นชมความพยายามของชาวแม่สอดที่มีการตั้งศูนย์ประสานงานในการรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถจัดการศึกษาได้ตามแนวคิด Education for all ได้เป็นอย่างดี แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการ

นายพิธากล่าวทิ้งท้ายว่า ในมุมมองของพรรค ก.ก. เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศไทยหรือประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประชาคมอาเซียน ในอดีตการบริหารกิจการชายแดน จะคิดในกรอบความมั่นคงระดับชาติ (National Security) แต่สำหรับตน มองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) โดยเฉพาะหากมองว่าเราเป็นประชาคมอาเซียนที่มีอาณาเขตติดกัน รวมถึงเศรษฐกิจของไทย หากไม่มีพี่น้องชาวเมียนมา ลาว มาทำงาน เศรษฐกิจไทยก็ไปต่อไม่ได้ พรรคก้าวไกลจึงไม่เคยมองว่าเรื่องของพี่น้องในประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาระของเรา แต่มองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาอาเซียนไปด้วยกัน ผู้นำประเทศควรมองเห็นโอกาส ในมุมสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยต้องโอบรับสนับสนุน เป็นโอกาสที่จะทำให้เด็กไทยได้อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม สำหรับพรรคก้าวไกลหวังว่าจะมีโอกาสได้ขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างยั่งยืนต่อไป
 
พร้อมกันนี้ นายพิธาและ ทีม ส.ส. ร่วมเยี่ยมชมการเรียนการสอนของห้องเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนแม่ปะเหนือ รวมถึงทักทายครูประจำและเด็กนักเรียนในโรงเรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธาได้รับฟังปัญหาข้อมูลการค้าชายแดนจากหน่วยงานต่างๆเช่นตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตากศุลกากรหอการค้าจังหวัดตาก รวมไปถึงการได้รับหนังสือร้องทุกข์จากผู้บริหารท้องถิ่นอำเภอพบพระเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกิน และการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่ารวมไปถึงปัญหาการเกษตร ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อนำไปพิจารณาผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป
 
โดยระหว่างการเยือนพื้นที่ของนายพิธาในวันนี้ นายปารมี ได้เดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ (MLC) นิวโซไซตี้ อำเภอแม่สอด ซึ่งมีนักเรียน 186 คน มีหลักสูตรการเรียนเป็น 3 ภาษา คือ ไทย เมียนมา และอังกฤษ โดยนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจะได้วุฒิการศึกษาทั้งของไทยและเมียนมา ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐและไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายของนักเรียน แต่บริหารโดยเงินบริจาคจากชุมชน และองค์กรต่างๆ
 
นายปารมีกล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน นักเรียนในศูนย์การเรียนรู้ฯ มีแนวโน้มจะศึกษาต่อในประเทศไทยมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสนับสนุนการเรียนการสอนด้วยภาษาไทยเพิ่มขึ้น และมีการช่วยเหลือให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศไทยหรือสามารถศึกษาต่อ เพราะฉะนั้น การเร่งรัดเรื่องการออกเลขประจำตัวของนักเรียนที่ติดรหัส G จึงสำคัญมาก ตนจะพยายามผลักดันผ่านคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่