ผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้รับความเสียหายจากการรักษา มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสูงสุด 4 แสนบาท



ผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้รับความเสียหายจากการรักษา มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสูงสุด 4 แสนบาท ต้องยื่นเรื่องภายใน 2 ปี จริงหรือไม่?

ตามที่มีข่าวสารในประเด็นเรื่องผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้รับความเสียหายจากการรักษา มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสูงสุด 4 แสนบาท ต้องยื่นเรื่องภายใน 2 ปี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง) สปสช. กระทรวงสาธารณสุข แพทย์สภา ราชวิทยาลัยและสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ตลอดจนหน่วยบริการสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมดำเนินการเพื่อจัดสิทธิประโยชน์บริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชนผู้มีสิทธิอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน แต่โอกาสที่จะเกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากการรับบริการย่อมเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีมาตรการรองรับเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการและเป็นการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยหากเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดความขัดแย้งและการฟ้องร้องระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการในระบบสุขภาพได้ 

โดยสปสช. กำหนดประเภทความเสียหายและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท  ระยะเวลา ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย

การเขียนคำร้องต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
1 ชื่อ-นามสกุล ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย
2 ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล
3 ชื่อของหน่วยบริการที่ให้การรักษาพยาบาล
4 วันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และวันที่ทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
5 สถานที่ ที่สามารถติดต่อผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายได้โดยสะดวก
6 ระบุภาระที่ผู้รับบริการจะต้องรับผิดชอบเศรษฐานะ

หลักฐานประกอบคำร้องของผู้ได้รับความเสียหาย ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือสูติบัตร หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมีการมอบอำนาจ) เอกสารหรือหลักฐานที่แสดงรายละเอียดข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา

สถานที่ยื่นคำร้อง

-หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

-สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ในจังหวัดที่เกิดเหตุ) หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-13

-หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) “ศูนย์สิทธิบัตรทอง”

-สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร

-สอบถามเพิ่มเติมที่ “สายด่วน สปสช.โทร1330” 

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทรสายด่วน 1330 หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. พิมพ์ @nhso สอบถามข้อมูล

  หน่วยงานที่ตรวจสอบ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://1th.me/zypfV
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่