หลักบริหารเงินตามเเนวพระสูตร

เชื่อว่าหลายๆท่านในพันทิปคงเป็นคฤหัสก์เเละกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ดังนั้นพระสูตรเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน น่าจะเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อย (ท่านใดมีพระสูตรเรื่องนี้ก็เพิ่มได้นะ)

1.หาอาชีพที่สุจริต ตามเเนวทางเเห่ง สัมมาอาชีวะ 

 [๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น
เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้
พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาอาชีวะของพระอริยะ
ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=14&A=3724&Z=3923

อย่างไรเรียกสัมมาอาชีวะ-มิจฉาอาชีวะ?

การค้าขายที่อุบาสกไม่พึงประกอบ ๕ อย่าง
               การค้าอาวุธ
               การค้ามนุษย์
               การค้าสัตว์ขายเพื่อฆ่าเอาเนื้อ
               การค้าของเมา(รวมทั้งสิ่งเสพติดทั้งหลาย)
               การค้ายาพิษ
อาชีพอย่างไร ? คือ ละการค้าขายผิดศีลธรรม ๕ อย่าง เลี้ยงชีพโดยธรรมสม่ำเสมอ. สมจริงดังที่กล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้ อุบาสกไม่ควรทำ ๕ อย่างอะไรบ้าง ? การค้าขายศัสตรา การค้าขายสัตว์ การค้าขายเนื้อสัตว์ การค้าขายน้ำเมา การค้าขายยาพิษ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้แล อุบาสกไม่ควรทำ ดังนี้.

- ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๓๒/๑๗๗.

2.เมื่อได้เงินมาเเล้วควรเก็บรักษาอย่างไร? 

(๑) อุฏฐานสัมปทา เป็นไฉน? คือ กุลบุตรหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันในการงาน ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม ก็ดี พาณิชยกรรม ก็ดี โครักขกรรม ก็ดี ราชการทหาร ก็ดี ราชการพลเรือน ก็ดี ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ดี เธอเป็นผู้ขยัน ชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้าน ในงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอบสวนตรวจตรา รู้จักวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ สามารถทำ สามารถจัดการ, นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา
(๒) อารักขสัมปทา เป็นไฉน? คือ กุลบุตรมีโภคทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมขึ้นด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เธอจัดการรักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้น โดยพิจารณาว่า ทำอย่างไร ราชาทั้งหลายจะไม่พึงริบโภคะเหล่านี้ของเราเสีย พวกโจรไม่พึงลักไปเสีย ไฟไม่พึงไหม้เสีย น้ำไม่พึงพัดพาไปเสีย ทายาทยิ้มจะไม่พึงเอาไปเสีย, นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา
(๓) กัลยาณมิตตตา เป็นไฉน? คือกุลบุตรเข้าอยู่อาศัยในคามหรือนิคมใดก็ตาม เธอเข้าสนิทสนมสนทนาปราศรัย ถกถ้อยปรึกษา กับท่านที่เป็นคหบดีบ้าง บุตรคหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วยจาคะ ประกอบด้วยปัญญา, เธอศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศรัทธา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศีล ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศีล ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยจาคะ ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยปัญญา ของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา, นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา
(๔) สมชีวิตา เป็นไฉน? คือกุลบุตรเลี้ยงชีวิตพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองเกินไป โดยรู้เข้าใจทางเพิ่มพูนและทางลดถอยแห่งโภคทรัพย์ ว่าทำอย่างนี้ รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตาชั่งหรือลูกมือคนชั่งยกตาชั่งขึ้นแล้ว ย่อมรู้ว่าหย่อนไปเท่านั้น หรือเกินไปเท่านี้

https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=23&A=6026

3.ควรใช้จ่ายอย่างไรจึงเหมาะสม? 

อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความ
หมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มา
โดยธรรม ทำพลี ๕ อย่าง คือ
             ๑. ญาติพลี [บำรุงญาติ]
             ๒. อติถิพลี [ต้อนรับแขก]
             ๓. ปุพพเปตพลี [บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้]
             ๔. ราชพลี [บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ]
             ๕. เทวตาพลี [บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา]
นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๔ ฯ
             อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความ
หมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มา
โดยธรรม บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยัง
อารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้ง
อยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว
นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๕ ฯ
             ดูกรคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้แล ถ้า
เมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไป
อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้ว
และโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความ
เดือดร้อน ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้
โภคทรัพย์เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราถือเอาประโยชน์
แต่โภคทรัพย์นี้แล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมไม่มี
ความเดือดร้อน อริยสาวกย่อมไม่มีความเดือดร้อนด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการ
ฉะนี้แล ฯ

https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=22&A=1001&Z=1054

4.เมื่อมีสัมมาทิฐิ การใช้ชีวิตในทางโลก ก็เป็นไปอย่างพอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เดือดร้อน

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าอย่างไร? เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณ จึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้"

https://84000.org/tipitaka/read/?14/279/187

5.ความสุขมีหลายระดับ ผู้มีปัญญาเห็นโทษเเละทางออกของโภคทรัพย์จึงพบกับความสุขที่เเท้จริง 

“วัตถุกาม เป็นไฉน? รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ชื่นชอบใจ เครื่องลาด เครื่องห่ม ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี รัฐ ประเทศ กองทัพ คลังหลวง วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความติดใคร่ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ชื่อว่าวัตถุกาม; อีกอย่างหนึ่ง กามทั้งหลาย ที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ทั้งภายในและภายนอก ชนิดเลว ชนิดปานกลาง ชนิดประณีต ที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นทิพย์ ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ที่บันดาลเอง ที่ผู้อื่นบันดาลให้ ที่ครอบครอง ที่ไม่ได้ครอบครอง ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ธรรมที่เป็นกามาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นรูปาวจรแม้ทั้งหมด ธรรมที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งหมด ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เป็นอารมณ์ของตัณหา ชื่อว่ากาม ด้วยอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความอยาก ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา, เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม"

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1&Z=486

“สมัยต่อมา เด็กนั้น อาศัยความเจริญเติบโต อินทรีย์ทั้งหลายแก่กล้าขึ้น มีกามคุณทั้ง ๕ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ ย่อมปรนเปรอตน...เขาเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมติดใจในรูปที่น่ารัก ย่อมขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก...ฟังเสียงด้วยหู...ดมกลิ่นด้วยจมูก...ลิ้มรสด้วยลิ้น...ต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...ทราบธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมติดใจในเสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่น่ารัก ย่อมขัดใจในเสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก มิได้ตั้งสติไว้กำกับตัว เป็นอยู่โดยมีจิตคับแคบ ไม่รู้จักตามเป็นจริง ซึ่งภาวะหลุดรอดปลอดพ้นของจิต และภาวะหลุดรอดปลอดพ้นด้วยปัญญา ที่จะทำให้บาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ตัวเขา ดับไปได้โดยไม่เหลือ  

“เขาคอยประกอบเอาความยินดียินร้ายเข้าไว้อย่างนี้แล้ว พอเสวยเวทนาอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม เขาย่อมครุ่นคำนึง ย่อมบ่นถึง ย่อมหมกใจอยู่กับเวทนานั้น, เมื่อเขาครุ่นคำนึง เฝ้าบ่นถึง หมกใจอยู่กับเวทนานั้น ความติดใจใคร่อยาก (นันทิ, ความหื่นเหิมใจ) ย่อมเกิดขึ้น ความติดใจใคร่อยากในเวทนาทั้งหลายนั่นแหละ (กลาย) เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย เขาก็มีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย ก็มีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย ก็มีชรามรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความเสียใจ ความคับแค้นผิดหวัง ก็มีพรั่งพร้อม ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้”

https://84000.org/tipitaka/read/?12/453/488

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านเพิ่มเติม : https://book.watnyanaves.net/buddhadhamma/index.php?cid=42&pid=10
ดูเพิ่มเติม : https://www.youtube.com/watch?v=PQJIHeZsUAo&t=2713s
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่