จันทรุปราคาบางส่วน คืนวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม ต่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566

กลางดึกของคืนวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 เข้าสู่เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 หากใครยังไม่นอนและท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆบัง น่าจะสังเกตเห็นว่าดวงจันทร์เต็มดวงในคืนนี้ไม่ค่อยปกตินัก ขอบดวงจันทร์ด้านซ้ายมือ จะแหว่งเว้าไปเล็กน้อย เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่ดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาในเงามืดของโลก แต่ครั้งนี้บังแค่เพียงบางส่วน และเป็นส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น


[ภาพจำลอง - สร้างจาก Stellarium]

จันทรุปราคาเกิดจากอะไร
ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเงาของโลก

สังเกตได้จากที่ไหนบ้าง
สังเกตได้ทุกที่ทั่วประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่อยู่ในซีกโลกด้านกลางคืนขณะที่ดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงาโลก รวมถึงด้านตะวันออกของอเมริกา ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย[1] ขอเพียงไม่มีอะไรมาบังเท่านั้น



สังเกตได้เวลาใด
สำหรับประเทศไทย[2] ดวงจันทร์เริ่มแตะเงามัวตั้งแต่ประมาณตี 1 แต่จะเห็นดวงจันทร์เริ่มแหว่งจริง ๆ ในเวลา 02:35 น. เป็นจังหวะที่เงามืดเริ่มแตะผิวดวงจันทร์ จากนั้นดวงจันทร์ถูกบังมากที่สุดเวลา 03:14 น. (ลึกประมาณ 12% วัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์) และสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนเวลา 03:53 น. หลังจากเวลานี้ อาจยังสังเกตเห็นว่าดวงจันทร์ยังแลดูหม่นหมองต่อไป เนื่องจากยังอยู่ในเงามัวอีกระยะหนึ่ง


[ภาพจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย]

สำหรับประเทศอื่น ๆ ในย่านนี้ เวลาของจันทรุปราคาเป็นเวลาเดียวกัน (อยู่ประเทศไหน ๆ ที่เป็นเวลากลางคืนก็เห็นดวงจันทร์แหว่งมาก-น้อยเหมือนกัน) แต่เวลาตามนาฬิกาสามารถแตกต่างกันได้หากอยู่คนละเขตเวลา เช่น ญี่ปุ่นเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง จึงบังลึกที่สุดเวลา 05:14 น. ตามเวลาท้องถิ่น[3] สิ่งที่ต่างกันอีกอย่างหนึ่งคือตำแหน่งของดวงจันทร์บนฟ้า (ทิศทางและมุมเงยเหนือขอบฟ้า)

มองไปทางทิศใด
ขณะเกิดปรากฏการณ์ ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตก จึงต้องอยู่ในสถานที่ซึ่งท้องฟ้าทิศนี้เปิดโล่ง

เห็นอะไรอีกบ้าง
นอกจากดวงจันทร์ มีดาวหลายดวงบนท้องฟ้าที่พอจะสังเกตได้ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือดาวพฤหัสบดี ซึ่งกำลังจะอยู่ใกล้โลกและสว่างที่สุดในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะเกิดจันทรุปราคา ดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างดวงจันทร์ประมาณ 7°


[ภาพจำลอง - สร้างจาก Stellarium]

ถ้าอยู่บนดวงจันทร์จะเห็นอะไร
จะเห็นโลกบังดวงอาทิตย์ไปบางส่วน แต่ถ้าอยู่บริเวณใกล้ขั้วใต้ ด้านที่หันมาทางโลก จะเห็นโลกบังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง

ทำไมถึงมีเงามืดกับเงามัว
เพราะดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีลักษณะเป็นดวงกลมโต เงาที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงเช่นนี้แบ่งเป็นเงามืดและเงามัว หากเราไปอยู่ในเงามืดจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังหมดทั้งดวง แต่หากไปอยู่ในเงามัว จะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังบางส่วน

ทำไมถึงไม่เกิดจันทรุปราคาบ่อย ๆ ทุกเดือน
ดวงจันทร์เพ็ญเต็มดวงทุกประมาณ 29-30 วัน (ประมาณเดือนละครั้ง) แต่ไม่เกิดจันทรุปราคาทุกเดือนเพราะระนาบวงโคจรของดวงจันทร์เอียงทำมุมประมาณ 5° กับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (เรียกระนาบดังกล่าวว่าสุริยวิถี) ไม่ได้ซ้อนทับกัน

จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นได้เมื่อจันทร์เพ็ญอยู่ในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้จุดตัดระหว่างระนาบทั้งสอง จุดตัดนี้เรียกว่าโหนด (node) มี 2 จุด คือโหนดขึ้นและโหนดลง โหราศาสตร์ไทยเรียกโหนดขึ้นว่าราหู แทนด้วยเลข ๘ สังเกตได้ว่าในวันที่เกิดจันทรุปราคา ดวงอาทิตย์ (แทนด้วยเลข ๑) หรือดวงจันทร์ (แทนด้วยเลข ๒) จะอยู่ในราศีเดียวกับราหู

เกิดจันทรุปราคาบ่อยแค่ไหน
จันทรุปราคาเกิดขึ้นทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง บางปีมีมากถึง 5 ครั้ง[4]

พลาดแล้วจะดูได้อีกเมื่อไหร่
จันทรุปราคาเกิดขึ้นทุกปี น่าเสียดายที่ใน พ.ศ. 2567 ไม่มีจันทรุปราคาที่สังเกตได้จากประเทศไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว หลังจากจันทรุปราคาครั้งนี้ คนไทยในประเทศจะเห็นจันทรุปราคาได้อีกครั้งก็ในคืนวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นจันทรุปราคาเต็มดวง[5]



ที่มา
[1] https://eclipsewise.com/lunar/LEprime/2001-2100/LE2023Oct28Pprime.html
[2] https://thaiastro.nectec.or.th/skyevent/article/eclipses2023/
[3] http://www.astroarts.co.jp/article/hl/a/12849_ph231029
[4] https://eclipse.gsfc.nasa.gov/LEcat5/LEcatalog.html
[5] https://eclipsewise.com/lunar/LEprime/2001-2100/LE2025Sep07Tprime.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่