5 ประเด็นสำคัญที่ กบข. เปลี่ยนปี 66

กบข. หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นสวัสดิการที่ดีที่รัฐมีให้กับข้าราชการ เราส่งเงินออมเข้าไป รัฐช่วยออมเพิ่ม เป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ และสามารถนำยอดเงินที่เราสะสมเข้าไปทุกเดือนมาลดหย่อนภาษีได้

เงินที่ส่งเข้า กบข. จะเป็นลักษณะนี้
ส่วนที่ผู้ออมส่งเข้าไปใน กบข. ทุกเดือน เรียก “เงินสะสม” มี 2 ส่วนย่อย
- “เงินสะสม” ส่งทุกเดือนในอัตรา 3% ของเงินเดือน บังคับพื้นฐาน
- “เงินสะสมส่วนเพิ่ม” เงินที่สมัครใจสะสมเพิ่มจากอัตราที่กำหนดไว้ แต่จะไม่สะสมเพิ่มก็ได้

อีกส่วนรัฐจะช่วยเราออมเพิ่มจะมี 2 ส่วนคือ
- “เงินสมทบ” เงินที่รัฐช่วยออมเพิ่มให้ในอัตรา 3% ของเงินเดือนสมาชิก 
- “เงินชดเชย” เงินที่ภาครัฐช่วยส่งเพิ่มให้อีกทุกเดือน ในอัตรา 2% ของเงินเดือนสมาชิก

และมีเงินอีกอย่างคือ “เงินประเดิม” เงินที่รัฐให้เป็นก้อน ก้อนหนึ่ง แต่เฉพาะสมาชิก กบข. ที่เป็นข้าราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 โดยให้เป็นเงินก้อนในวันที่สมัครเป็นสมาชิก กบข. ครั้งเดียว

สรุป 5 ประเด็นสำคัญที่มีการเปลี่ยนในปี 66

1. สามารสะสมส่วนเพิ่มได้สูงสุด 27% ของเงินเดือน เมื่อรวมกับเงินสะสม 3% จะสามารถออมกับ กบข. ได้สูงสุดถึง 30% จากเดิม ที่สะสมเพิ่มได้สูงสุดเพียง 12% ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสม 3% จะเป็นสูงสุด 15% เท่านั้น ซึ่งเงินที่สะสมเข้า กบข. สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บ. และเมื่อรวมกับ SSF, RMF, ประกันบำนาญ แล้วไม่เกิน 500,000 บ.

2. เมื่อเปลี่ยนแผนการลงทุน จะมีผลต่อเงินทุกประเภท จากเดิมที่ถ้าเปลี่ยนแผน เงินประเดิม (ถ้ามี) และเงินชดเชย จะถูกกำหนดให้ลงทุนในแผนหลัก และเงินส่วนอื่นถึงจะปรับเปลี่ยนไปอยู่แผนที่เปลี่ยนไป แต่ตอนนี้ถ้าเปลี่ยน คือเงินทุกส่วนจะเปลี่ยนหมด

3. สมาชิก กบข.ใหม่ ถ้าไม่ได้เลือกแผนการลงทุน จะกำหนดแผนการลงทุนเริ่มแรกเป็น “แผนสมดุลตามอายุ” ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินทรัพย์งทุนตามอายุ เช่น อายุน้อยจะมีหุ้นมากหน่อย และพออายุมากขึ้นจะเป็นตราสารหนี้มาก จากเดิมที่ถูกกำหนดให้อยู่ในแผนหลัก ซึ่งแผนหลักจะมีตราสารหนี้ประมาณ 60% หุ้น 25% และสินทรัพย์อื่น 15%

ซึ่งใน 3 ประเด็นนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 แต่สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก กบข. ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จะอยู่ในแผนการลงทุนเดิมก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะแสดงความประสงค์เลือกแผนการลงทุนนะ

4. สามารถโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มา กบข. ได้ ดังนั้นถ้าใครทำงานเอกชนแล้วต่อมามารับราชการ ก็โอนย้าย PVD มาได้ แบบฟอร์การขอโอนย้าย https://www.gpf.or.th/thai2019//assets/pdf/menu01/1.1.5-laws/1.1.5.5-gpf-annouccement/GPF_PVD_2566.pdf

5. ผู้ออมต่อกับ กบข. สามารถเลือกเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ 12 ครั้ง/รอบปีปฏิทิน จากเดิม ถูกกำหนดให้ลงทุนในแผนเดิมก่อนออกจากราชการ 

สามารถอ่านพระราชบัญญัติที่ออกมาใหม่นี้ได้จากเว็บไซต์ กบข. ใน "กฎหมายที่เกี่ยวข้อง" https://www.gpf.or.th/thai2019/assets/pdf/menu01/1.1.5-laws/1.1.5.1-pharad-kongtoon/GPF_Statute_No.8_2566.pdf

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่