เตรียมสอบตั๋วทนาย #ตั๋วปี #ตั๋วรุ่น ฉบับรับใบประกาศนียบัตร 2 ใบ !!!

การสอบผ่าน "ตั๋วปี" กับ "ตั๋วรุ่น" พร้อมกัน ในปีเดียว !! 
(ฉบับเรียนรู้ด้วยตัวเอง)
การจะเป็นทนายความได้นั้นต้องมี "ใบอนุญาตว่าความ" เหมือน ใบประกอบโรคศิลป์ ใบ กว.วิศวกร ฯลฯ และจะได้ใบประกอบฯ หรือ ที่เรียกติดปากกันว่า "ตั๋วทนาย" ก็จะต้องสอบครับ ไม่ใช่ว่าจบนิติศาสตร์มาปุ๊บแล้วจะเป็นได้
เส้นทางใบอนุญาตว่าความ มี 2 ทางครับ คือ
1. รอบ สำนักงาน
2. รอบ รุ่น
ซึ่ง 1 ปีจะมีรอบละ 2 ครั้ง
โดยสอบให้ได้ในทางไหนก็ได้ แล้วเอาประกาศนียบัตรเพียง 1 ใบ ไปขึ้นทะเบียนกับสำนักอบรม สภาทนายความ ไม่จำเป็นต้องได้ 2 ทางแบบผม
รอบสำนักงาน ขออนุญาตเรียกสั้นๆ ว่า "ตั๋วปี"
ส่วนรอบรุ่น ขอเรียกสั้นๆ ว่า "ตั๋วรุ่น"
#ตั๋วปี เมื่อ จบป.ตรีนิติศาสตร์ ให้ไปลงชื่อ "ฝึกงาน" ที่สภาทนายความ แจ้งสำนักงานที่จะลง ให้ทนายความเจ้าของสำนักงาน รับรอง แล้วฝึก 1 ปี ครับ !! เมื่อครบ 1 ปีกลับไปให้ทนายความเจ้าของฯ รับรองอีกทีนึง แล้วรอสภาทนายความเปิดสอบ 
"ภาคปฏิบัติ" 
(1ปี ส่วนมาก มี 2 ครั้ง)
สอบให้ได้ ถึง 50 คะแนน จาก100 ก็มีสิทธิสอบปากเปล่า แล้วรับใบประกาศฯ เอาใบไปขึ้นขอใบอนุญาตว่าความ
#ตั๋วรุ่น เมื่อจบ ป.ตรี นิติศาสตร์ ให้ไปสมัครสอบ "ภาคทฤษฎี" ตั๋วรุ่นของแต่ละปีที่สภาทนาย เปิดสอบ (โดยจะจัดประมาณ 2 ครั้ง ใน 1 ปี)
โดยทำคะแนนได้ถึง 50 จาก100 เมื่อผ่านแล้ว ก็จะต้องแจ้งสำนักงานเพื่อ "ฝึกงาน" (เหมือนตั๋วปี) อีก 6 เดือน เมื่อครบ 6 เดือน จึงกลับมาสมัครสอบ "ภาคปฏิบัติ" (โดยจะจัดประมาณ 2 ครั้ง ใน 1 ปี)
ต้องผ่าน 50 คะแนนจาก 100 ถึงจะมีสิทธิสอบปากเปล่า แล้วรับใบประกาศฯ เอาใบไปขึ้นขอใบอนุญาตว่าความ
คำถาม : ตั๋วรุ่น Vs ตั๋วปี อะไรยาก ง่ายกว่ากัน ?
ตอบ : ข้อสอบภาคปฏิบัติ ไม่ต่างกันมาก หลังๆ มาตั๋วปียากกว่านิดๆ
แต่ที่หลายคนสอบตั๋วปี ไม่ค่อยผ่านสักที เพราะการตรวจและให้คะแนนของอาจารย์ผู้ตรวจ 
"ให้ยากกว่า" ตั๋วรุ่น 
หักคะแนนเยอะกว่า
สาเหตุเพราะว่า "ตั๋วปี"
สมัครแรกรับง๊ายง่าย 
แค่ฝึกงานครบ 1 ปี ใครก็ลงชื่อฝึกได้ ละสอบแค่ปฏิบัติให้ผ่านครั้งเดียว 
ก็จบแล้ว 
ต่างจาก "ตั๋วรุ่น" !! ที่สอบทฤษฎีก่อน แล้วมาฝึกงานอีก 6 เดือน แล้วกลับไปสอบภาคปฏิบัติอีก !! 
มันหลายขั้นตอน 
แต่ทางแง่เนื้อหาค่อนข้างง่ายกว่าตั๋วปี 
ซึ่งทนายความส่วนมาก 
มาจากการจบตั๋วรุ่นมากกว่า ตั๋วปี 
ตั๋วปี % การสอบผ่านน้อยมาก 
แล้วทำไมผมถึงได้ทั้งตั๋วรุ่น ตั๋วปี ? 
คำตอบก็ไม่มีอะไรครับ คือ ตั๋วปีก็ลงสอบไว้ ตั๋วรุ่นก็สอบไว้ (สามารถลงพร้อมกันได้)
พอถึงช่วงสอบภาคปฏิบัติ
ผมสอบผ่านทั้งสองรุ่นพอดีในปีนั้น !!
และทางสภาทนายก็จัดอบรมจริยธรรม มอบใบประกาศในปีเดียวกัน 
จึงได้ 2 ใบครับ
คำถาม : ผมเตรียมสอบยังไงบ้าง ลงติวไรไหม ?
ตอบ : ด้วยความสัตย์จริง ไม่ว่าจะสอบ ป.ตรี เนติ สอบเข้าราชการ หรือ ตั๋วทนาย ผมไม่เคยติวกับสถาบันใดครับ 
เพราะไม่มีเวลาครับ 
ใช้วิธีทำข้อสอบเก่าและซื้อหนังสือที่ไว้ใจได้มาอ่านซ้ำๆ เท่านั้น
อย่างตั๋วทนายทั้ง 2 สนาม
ผมอ่านเล่มนี้ครับ 
(ตามภาพ) มีหลายคนเคยทักมาถามว่าเล่มไหน ผมก็แนะนำเล่มนี้ทุกคน ซึ่งผมไม่มีส่วนได้เสียกับผู้เขียน แต่มันคือความจริงที่ผมอ่านครับ 5555 
เล่มนี้รายละเอียดเยอะมาก ผู้เขียนโคตรตั้งใจครับ ทุกประเด็นการเขียนคำฟ้อง คำให้การ คำแถลง ที่ทนายความทุกคนจะต้องเจอเคสทั้งหมดในศาล ถูกเอามาเป็นตัวอย่างไกด์ให้ในหนังสือนี้ ครอบคลุมเกือบทั้งหมด
ประกอบกับ สไตล์การเขียนย่อให้เห็น pattern การเขียนแต่ละอย่างแบบเป็นระบบระเบียบ คือ ผมยกให้เป็น the best เรื่อง ตำราสรุปเลย ผมแทบไม่ได้ทำข้อสอบเก่าเลยครับ เพราะตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้เล่มเดียวมันก็หลากหลายให้ทำเยอะมากมายแล้ว
โดยผมจะค่อยๆ สังเกต pattern การเขียนคดีแต่ละประเภท คำร้องตั้งผู้จัดการมรดก / โนติส / คำฟ้องแพ่ง / คำฟ้องอาญา โดยไม่ได้ฝึกเขียนมากเท่าไร ขี้เกียจเขียน แต่ถ้าแนะนำ ฝึกเขียนย่อมแม่นกว่าครับ
#ทริคการเขียนสอบ 
สนาม "ตั๋วปี"ให้ผ่าน
แนะนำเฉพาะตั๋วปีนะครับ เพราะผมเคยสอบไม่ผ่านมา 1 ครั้งครับ ทั้งที่ก็เขียนเหมือนธง แต่อย่างที่บอกครับ อาจารย์สนามนี้ตรวจค่อนข้างมีมาตรฐานสูง ประเภทเขียนตามธงไม่มีลีลา สำนวนอะไรเฉพาะตัวที่นอกเหนือไปจาก pattern บ้าง นี่ โอกาสตกสูง 
ยกตัวอย่าง ข้อสอบที่ทำจริงนะครับ คือ ปีผมมันมีให้เขียน "คำฟ้องแพ่ง" ฟ้องละเมิด มาตรา 420 
ข้อเท็จจริงประมาณว่า หมาวิ่งตัดถนนมากวดโจทก์ ซึ่งขับมอไซความเร็วปกติกำลังไปทำงาน แล้วทำโจทก์ล้ม 
บาดเจ็บร่างกาย โจทก์ฟ้องค่าสินไหมทดแทน 
โดยช่วงบรรยาย "สถานะ" จำเลย คือ เจ้าของสุนัขตัวนั้นที่ไม่ระมัดระวังให้ดี หมาหลุดออกมาวิ่งกวดโจทก์ ต้องบรรยายอย่างไรครับ ถึงจะบอกได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของหมาตัวนี้ที่กวดโจทก์นะ 
จะบรรยายยังไงให้ศาลเข้าใจ ? เพราะถ้ายึดติดกับ pattern ธงคำตอบที่คุ้นๆตาอย่างดี อย่างพวกสถานะบริษัท ห้างหุ้นส่วน เราก็แค่เขียนต่อท้ายว่า
 "รายละเอียดปรากฏตามสำเนาทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์" คือ มันจะมี pattern สำหรับการทำข้อสอบที่นิ่งแล้ว 
แต่สำหรับการบอกสถานะของเจ้าของหมาตัวนี้
จะทำให้ศาลเชื่อได้ยังไง
ว่า เขาเป็นเจ้าของหมาสีนี้ตัวนี้จริงๆ ไม่ผิดบ้าน 
ผมก็เริ่มจินตนาการแบบนี้ครับ จะเห็นว่ามันเริ่มนอกตำราเรียนแล้ว ผมเริ่มนึกถึงบ้านเลขที่จำเลย สรุปท้าย จบที่ว่า 
"จำเลยเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ฯ ..... ที่วิ่งไล่กวดโจทก์ รายละเอียดปรากฎตาม #สำเนาภาพถ่ายบริเวณหน้าบ้านจำเลย !!
เขียนไปดื้อๆ แบบนี้ล่ะครับ 
ซึ่งมันไม่มีในตำราครับ 
ที่ผมเขียนตอบไป มันเกิดจากการจินตนาการ เพื่อทำให้ศาลเชื่อ และเขียนไปตามความเข้าใจ ซึ่งผมเขียนแบบนี้ค่อนข้างเยอะ อย่างเขียนคำแถลงส่งหมายให้จำเลยไม่ได้เพราะบ้านไฟไหม้ ผมก็ใส่ไปว่า "รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องที่" 5555
ซึ่งนั่นคือสิ่งที่อาจารย์ทนายความผู้ตรวจ อยากให้ใส่ครับ วัดภูมิ วัดกึ๋นเรา ว่า ที่เราฝึกมา 1 ปียาวนานเนี่ย ฝึกจริงไหม หรือ แค่ฝากแต่ชื่อ เฉยๆ ไม่เรียนรู้ศิลปะการเขียนอะไรที่แอดวานซ์ผิดแปลกไปจากในตำรา (แต่ถูกต้องตามหลักการ) บ้างเลย 
ซึ่งตั๋วปีควรจะมีโมเมนต์นี้เยอะครับ คือ ถูกในหลักการ แต่ใส่ศิลปะการเขียนเฉพาะตัวไปให้อาจารย์เห็นด้วย ไม่ใช่เขียนแบบแข็งทื่อไปตาม pattern ครับ
ท้ายที่สุด การสอบเป็นทนายความไม่ได้ยากครับ 
แต่เป็นทนายความที่เก่ง และมีคุณธรรมนั้น 
ยากกว่าเยอะ !!
หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับว่าที่ทนายความครับ 😊

สอบถามเพิ่มเติมได้ทาง facebook : Tle Patinya
ว่าที่ทนายใหม่ทุกคน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่