ทำอย่างไรดี กับคดีหนี้บัตรเครดิต (ตอนจบ) - 9 คำถามยอดฮิตกับคดีหนี้บัตรเครดิต

ต่อจากตอนที่แล้ว ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของเรื่องบัตรเครดิตนะครับ เราจะมาว่ากันด้วยเรื่อง 9 คำถามยอดนิยมกับคดีหนี้บัตรเครดิต
1) ในคดีบัตรเครดิต จำเลยไม่มีทางชนะคดีได้เลยใช่หรือไม่
โดยทั่วไป หากท่านเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตจริง และยอดหนี้ค่าบัตรเครดิตเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง ท่านไม่มีทางที่จะชนะคดีได้ เว้นเสียแต่ว่าโจทก์จะผิดพลาดเองในเรื่องของการจัดทำคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้อง หรือในกรณีที่คดีขาดอายุความฟ้องร้อง ซึ่งในคดีบัตรเครดิตโจทก์จะต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ีท่านใช้บัตร หรือชำระเงินครั้งสุดท้าย
2) หากจำเลยมีข้อต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ เรื่องยอดหนี้ตามคำฟ้องซึ่งไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง หรือในเรื่องอายุความ จำเลยต้องดำเนินการอย่างไร
หากท่านพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้อง และ/หรือ ท่านมีข้อต่อสู้ไม่ว่าในประเด็นใดๆ ท่านมีสิทธิที่จะยื่นคำให้การเพื่อต่อสู้คดีได้ โดยยื่นในวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ หรือสืบพยาน
3) โดยทั่วไปแล้ว ขั้นตอนตั้งแต่โจทก์ยื่นฟ้อง กระทั่งโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนานเท่าใด
ระยะเวลาในการดำเนินการดังกล่าวไม่แน่นอน แล้วแต่ปริมาณคดีของแต่ละศาล แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน
4) ในการดำเนินการในขั้นตอนของการเจรจาประนอมหนี้ในระหว่างการดำเนินคดี จำเลยจำเป็นจะต้องแต่งตั้งให้ทนายความดำเนินการให้หรือไม่
หากท่านพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าไม่มีประเด็นใดที่ท่านจะต่อสู้คดีได้ ท่านสามารถดำเนินการในขั้นตอนของการเจรจาประนอมหนี้ในระหว่างการดำเนินคดีได้เอง โดยไม่ต้องแต่งตั้งทนายความแต่อย่างใด แต่หากท่านไม่มั่นใจในการดำเนินการ ท่านอาจจะแต่งตั้งให้ทนายความดำเนินการให้ก็ได้
5) หากจำเลยไม่ไปศาลตามกำหนดนัด จะเกิดอะไรขึ้น
หากจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว แต่ไม่ไป และไม่แต่งตั้งทนายความให้ไปดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลตามกำหนดนัด ศาลจะพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวและมีคำพิพากษา ซึ่งศาลอาจจะตัดลดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับลงมาบางส่วน แต่จะลดไม่เท่ากับการที่จำเลยไปเจรจาต่อรองกับโจทก์ในชั้นศาล
6) หากจำเลยเป็นคนว่างงาน ไม่มีรายได้เลย แม้แต่เงินเพียงเดือนละพัน สองพัน ก็ผ่อนชำระให้กับโจทก์ไม่ได้แน่นอน จำเลยควรจะไปศาลตามกำหนดนัดหรือไม่
แม้ว่า ณ วันที่ถึงกำหนดนัดของศาล ท่านจะยังไม่พร้อมที่จะผ่อนชำระหนี้ให้กับโจทก์ แต่หากท่านไปศาลและแจ้งกับศาลเพื่อขอขยายระยะเวลาในการหาเงินเพื่อมาผ่อนชำระหนี้ ศาลก็อาจจะเลื่อนนัดคดีออกไปเพื่อให้เวลาท่านหาเงิน ท่านก็จะยังได้เวลาในการดิ้นรนหาเงินมาผ่อนชำระหนี้ให้กับโจทก์ (ซึ่งโดยปกติ ศาลจะเลื่อนกำหนดนัดให้อยู่แล้วใน 2 นัดแรก)
7) หากจำเลยมีเงินก้อนพร้อมที่จะชำระหนี้ให้กับโจทก์ภายในครั้งเดียว โจทก์จะยินยอมลดยอดหนี้ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องลงมาถึง 50 - 60% ในทุกกรณีหรือไม่
การลดยอดหนี้เป็นอำนาจตัดสินใจของผู้บริหารของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง แล้วแต่นโยบายของแต่ละแห่ง จึงไม่ใช่ทุกกรณีที่จำเลยจะได้รับส่วนลดขนาดนั้น แต่ยิ่งจำเลยอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ทางการเงินมากเท่าใด การลดยอดหนี้ก็จะมากขึ้นเท่านั้น และหากท่านยื้อเวลาในชั้นศาลออกไปนานเท่าใด เงื่อนไขในการลดยอดหนี้ก็จะดีมากขึ้น
8) เคยได้ยินบางท่านบอกมาว่าหากจำเลยยังไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ ก็ให้จำเลยต่อสู้คดียื้อไปให้ถึงชั้นอุทธรณ์ เพื่อประวิงคดีไปก่อน
นักกฎหมายหรือทนายความบางท่านแนะนำให้จำเลยดำเนินการเช่นนี้ เพื่อประวิงคดีออกไปก่อน ข้อดีของวิธีการนี้คือจำเลยจะได้ระยะเวลาในการหาเงินมากขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ หากคดียังไม่ถึงที่สุด สถาบันการเงินจะยังไม่ดำเนินการบังคับคดี แต่ข้อเสียของการดำเนินการด้วยวิธีนี้คือดอกเบี้ยของหนี้จะเดินไปเรื่อยๆ
9) ข้อแนะนำในการดำเนินการเมื่อเป็นหนี้บัตรเครดิต
เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตไม่ไหว ขอให้หยุดผ่อนโดยสิ้นเชิง อย่าผ่อนเลี้ยงบัญชีไว้เพียงเพื่อไม่ให้ถูกฟ้อง ไม่ต้องสนใจกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือโทรศัพท์ทวงหนี้ ปล่อยให้สถาบันการเงินฟ้องคดีไป แล้วค่อยไปเจรจาประนอมหนี้ในศาล หนี้ของท่านจะลดลงอย่างที่ท่านเองก็จะตกใจ
คราวหน้าเราจะมาว่ากันเรื่องสัญญาเช่าซื้อ เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมเวลาเราผิดสัญญาเช่าซื้อ บริษัทไฟแนนซ์เอารถคืนไปแล้ว เรายังต้องมานั่งจ่ายส่วนต่างราคาอีก...มันจะมีวิธีการไหนมั้ย ที่เราจะไม่ต้องจ่ายส่วนต่างราคานั้นแล้ว คราวหน้าเราจะมาว่ากัน
ท่านผู้ใดต้องการรับบทความกฎหมายใกล้ตัวสัปดาห์ละ 1 เรื่องทางอีเมล์ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แจ้งมานะครับ chitchaichinsunti@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่