พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศฯ สถานที่ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สวรรคต ไม่ใช่พระที่นั่งทรงปืน ตามพงศาวดารที่ชำระสมัยหลังๆ

    วัน/เวลา/สถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สวรรคต
   
     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้เห็นจะเป็นพระนามที่เรียกชั้นหลังเช่นรัชกาลปัจจุบันเรียกรัชกาลก่อนหน้าว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และคงจะชินปากมานับตั้งแต่ตอนนั้น เพราะหากสืบจากเอกสารชุดคำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม บ้างก็เรียก เจ้าฟ้าพร(พระนามก่อนขึ้นอุปราชาภิเษก) ส่วนพระนามในพระราชสาส์นจากทางราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาส่งไปยังศรีลังกา ออกพระนามว่า “สมเด็จพระตรีภพโลกมกุฏอุตตมบรมมหิศรวรวงศ์สุริเยนทร์ นเรนทราธิบดินทรวโรตตม ขัตติยชาติราชวราดุล พิบุลคุณคัมภีร์วีรอนันต์ มหันตมหาจักรพรรดิศร วรราชาธิราชนารถนายกดิลกโลกจุธานรามร นิกรภิวันท์ อนันตบูชิตมหิทธินารายนอุปปัตติสทิสาดิเรกอเนกจตุรงคพล พหลอจลสุริโยทิต อมิตเดชา เอกาทศรถ อิศวร บรมนารถบรมบพิตร สถิตกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมสามีศรีสุวรรณปราสาท รัตนวรราชนิธิกาญจน กุญชรสุประดิตนาเคนทร์ คเชนทรปทุมทันต์ เสวตรวารณนาคินทร์ กรินทรเอกทันต์ สนิมพงศธร อัฏฐทิศนารายน ทศพิธราชธรรม ธโรดมมหาราช” เรื่องพระนามเอาไว้แค่นี้ก่อน ขอหยิบยกประเด็นหาวันเวลาและสถานที่สวรรคต ของพระองค์กันครับ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบให้ฉบับดังต่อไปนี้คือ ฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน และฉบับหมอบรัดเลฯลฯ เป็นต้น ล้วนแต่ระบุว่า พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งทรงปืน

     แต่หากมีพระราชพงศาวดารฉบับปลีก อยู่ฉบับหนึ่ง ชื่อว่าฉบับนายแก้วจำลอง ซึ่งเป็นสำนวนค้างคา เชื่อว่าแต่งไว้แต่ครั้งกรุงเก่ายังไม่เสีย ได้ระบุรายละเอียดไว้ต่างจากฉบับที่ได้กล่าวมาดังนี้ “ครั้นศักราชได้ ๑๑๒๐(พ.ศ.๒๓๐๑) ปีขาลสำฤทธิศก ในเดือนหก ขึ้น ๘ ค่ำ เพลากลางคืน ๗ นาฬิกา (ศุกร์ที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๓๐๑) สมเด็จพระเจ้ารุงศรีอยุธยาทรงพระประชวรให้ขัดอุจจาระ ปัสสาวะ ๒ - ๓ ครั้ง ครั้นถึงแรม ๕ ค่ำ (๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๐๑) เสด็จออกด้วยพระราชยาน ณ พระที่นั่งทรงปืนว่าราชการในเพลาเช้า แล้วเสด็จกลับไป ณ พระปราสาทบรรยงรัตนาศ เจ้ากรมหมื่นเสพภักดีพยุงพระองค์ออกไปประเคนสำรับพระราชทานถวายแก่พระสงฆ์ ในเพลาจะใกล้เที่ยงแล้วกลับเข้ามาที่เสวย เสวยแล้วกลับออกไป ณ พระที่นั่งทรงปืนหน่อยหนึ่งแล้วกลับมาด้วยพระราชยาน เข้าที่บรรทมหน่อยหนึ่งแล้วตื่นจากนิทรา หลวงราชรักษา หลวงราชัยวาต พยุงออกไปกระทำอุจจาระปัสสาวะแล้วหมอหลวงทั้งนั้น พยุงขึ้นเห็นพระเนตรพลิกกลับทรงนิ่งงันอยู่ช้านานมีเสียงอาซาระประสาท(เสียงหายพระทัย)ดังเสียงกรน เจ้ากรมหมื่นเสพภักดีจึงเชิญเสด็จเข้าที่บรรทม(บนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์) ให้หมอหลวงพยุง เข้าไปที่ไสยาสน์ ในกาลนั้นเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธไม่อยู่ออกไปปลงศพหม่อมจีนพระนม วัดกุฎีดาว พระองค์เจ้าฝ่ายในให้เรือตำรวจเร่งออกไปกราบทูลพระองค์เจ้านั้น” สิ้นฉบับแต่เพียงเท่านี้ ต่อเหตุการณ์ ด้วยฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ดังนี้ ขณะนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(เจ้าฟ้าอุทุมพร) ให้ไปเชิญเสด็จกรมหลวงพิพิธมนตรี เจ้าฟ้าจันทวดี กรมขุนพิศาลเสนี ไป ณ พระตำหนักสวนกระต่าย แล้วกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ ให้เชิญเสด็จกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเข้ามา(ว่าพระที่นั่งทรงปืน แย้มฉากทอดพระเนตรอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่ง น่าจะไม่ใช่เพราะในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุถึงว่า “ลุศักราช ๑๑๐๖ ปีชวด ฉศก ถึง ณ วันเดือนสิบสอง แรมสองค่ำ[เช้ามืดของคืนวันที่ ๒๐-๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๒๘๗] เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาอยู่ ณ พระราชวังหลวง เสด็จขึ้นสถิต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัดนาสน์ท้ายสระ เอาพระที่นั่งทรงปืนเป็นที่เสด็จออกแล้วโปรดให้ปลูกสร้างพระราชวังหน้าขึ้นใหม่พระราชทานให้กรมพระราชวังบวรเสด็จไปสถิตตามอย่างแต่ก่อนนั้น” จะเห็นได้ชัดว่าให้เอาพระที่นั่งทรงปืน เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ ใช้พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศฯเป็นที่ประทับบรรทม ซึ่งเป็นไปได้ว่า ประทับและประชวรหนักสวรรคต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์มากกว่า ที่พงศาวดาร ฉบับอื่น กล่าวว่าสวรรคตใส่พระที่นั่งทรงปืน อาจเป็นการชำระที่สับสน เพราะชำระในยุครัตนโกสินทร์) แล้วเสด็จไปพระตำหนักสวนกระต่าย ครั้นเพลายามเศษ(ช่วง หกโมงเย็น ถึง สามทุ่ม) พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต
     ในคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ ว่าดังนี้ ด้วยนิมิตด้วยพระองค์จะนิพพาน อันพระบรมราชานั้นวันเสาร์ได้เสวยราชสมบัติมาช้านาน แต่เมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๐๙๓(พ.ศ.๒๒๗๔) ปีชวดตรีนิศกพระชนมายุศมได้ ๕๑ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี เป็น ๗๘ ปี จึงสวรรคต เมื่อปีสวรรคตนั้นจุลศักราชได้ ๑๑๒๐ (พ.ศ.๒๓๐๑) ปีขาลสำเร็จธิศก เดือนหก แรมเก้าค่ำ วันอาทิตย์ เพลาได้ ยามเศษ ฯ (๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๓๐๑)
เมื่อกาลจะมาถึงที่ด้วยพระองค์เป็นอธิบดีได้เป็นใหญ่อยู่ในพิภพแลนครจึ่งมีวิปริตด้วยเทพสังหรณ์ต่างๆ อันกะลาบาตนั้นก็ตกลงมาที่ในเมือง ทั้งฟ้าก็แดงดูดั่งแสงเพลิง อันน้ำที่ในแม่น้ำนั้นก็บรรดาลให้เดือดแดงเป็นสีเลือด ประทุมเกศก็ตกถูกปราสาท ทั้ง กละพฤษใหญ่ก็ขึ้นมา ทั้งอินทนูลำภู่กันดาวหางก็ขึ้นมา ทั้งคลองช้างเผือกก็ขวางขึ้นมาตามโดยอากาศ ทั้งตรีกาลกลาจักร์ก็ขึ้นมา ทั้งดาวก็เข้าในพระจันทร์ ทั้งอาทิตย์ก็ให้มืดเย็นเยือกไปทั่วทุกทิศ ทั้งพระจันทร์ก็แดงเหมือนแสงเพลิง ก็พากันเงียบเหงาเศร้าใจไปด้วยกันทั้งสมณแลชีพราหมณ์ ทั้งเสนาแลอาณาราษฎรชายหญิง แลเด็กใหญ่เถ้าแก่ ทั้งกรุงแลขอบขันธเสมาของพระองค์ทั้งสิ้น

เอกสารประกอบการอ้างอิง
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับนายแก้วจำลอง
- คำให้การขุนหลวงหาวัด
     
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่