ชนชาติต่างๆ ในมาเลเซีย

กระทู้วันชาติมาเลเซียส่วนใหญ่ช่วงที่ผ่านมา ผมจะพูดถึงเฉพาะเรื่องของประวัติศาสตร์มาเลเซีย ซึ่งคิดว่าหลายคนคงได้เห็นบ้างแล้ว แต่ปีนี้ผมจะพูดถึงเรื่องราวของชนชาติในมาเลเซีย ซึ่งผมแบ่งเป็น 4 ชนชาติหลักคือ ชนชาติมลายู ชนชาติจีน ชนชาติอินเดีย และชนพื้นเมือง

อย่างแรกที่ผมพูดถึงเลยคือชนชาติมลายู ในมาเลเซียจะแบ่งย่อยออกไปอีกมาก แต่ตามกฎหมายโดยรวมจะเรียกพวกเขาว่ามลายูเหมือนกันหมด ถือกันว่าใครที่นับถือศาสนาอิสลาม แล้วพูดภาษาแม่ตระกูลมาลายา (จำพวกชวา ซุนดา อาเจะห์ มินังกะเบา)​ รวมถึงภาษามลายูสำเนียงต่างๆ ทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นมลายูตามกฎหมายหมด ปัจจุบันชนชาติมลายูเป็นชนชาติที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย และแบ่งจำแนกแยกย่อยเป็นมลายูตามรัฐต่างๆ ได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น มลายูในรัฐไทรบุรี จะพูดภาษาสำเนียงไทรบุรี แถวบ้านเราจะพูดกันที่สตูล มลายูในรัฐกลันตัน จะพูดสำเนียงกลันตันปัตตานี ซึ่งเป็นสำเนียงเดียวกับมลายูในชายแดนใต้บ้านเรา รวมถึงมลายูในรัฐเนเกอรีซัมบิลัน ที่พูดติดสำเนียงมินังกะเบา และมลายูบางส่วนในรัฐสะลาโงร์ ที่พูดติดสำเนียงบูกิส นอกจากนี้ กลุ่มชนชาติชวา ซุนดา มินังกะเบา หรือชนชาติใดก็ตามที่มาจากโลกมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม จะถูกระบุไว้ว่าเป็นมลายู แล้วจะได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายเช่นเดียวกับชาวมลายูในดินแดนมาเลเซีย แต่ปัจจุบันคิดว่าไม่น่าครอบคลุมกับคนที่มาจากอินโดนีเซียหลังจากได้รับเอกราชแล้ว

สาเหตุที่ชาวมลายูได้รับสิทธิ์ตามนโยบายภูมิบุตร เคยมีคนมาเลเซียอธิบายว่า เป็นเพราะว่าชาวมลายู เมื่อก่อน ประมาณยุค 60-70 จะเหมือนกับคนแถวชายแดนใต้บ้านเรา (เฉพาะบางหมู่บ้าน)​ คือด้อยโอกาสทางการศึกษา การใช้ชีวิตและสิทธิตามที่พึงมี การใช้นโยบายนี้จึงทำให้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นมา ส่วนกรณีชาวจีนและอินเดีย รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่มีฐานะดีอยู่แล้ว และมีหลายอย่างพร้อมมากกว่าชาวมลายู จึงไม่ได้ส่งเสริมมากเท่า ยิ่งนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ชาวมลายูรับราชการไว้แล้ว พื้นที่ทางการเมืองของชาวจีนและอินเดีย จึงถูกจำกัดไว้อย่างที่เราเห็น

กลับมาพูดถึงเรื่องของชนชาติในมาเลเซียต่อ ชนชาติที่มีความสำคัญรองลงมาต่อจากชาวมลายู ก็คือชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่ยังพูดภาษาจีนได้ ยังรักษาอัตลักษณ์จีนไว้ชัดเจน และแน่นอนว่ายังแยกทางวัฒนธรรมกับชาวมลายู แตกต่างกับชาวจีนส่วนใหญ่ในแถบนี้ ที่พูดภาษาพื้นเมืองได้แล้วและกลมกลืนกับชาวพื้นเมืองได้ดี (ความจริงส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลนั้นด้วย อย่างเช่นรัฐบาลชาตินิยมของจอมพล ป. ในไทย หรือนโยบายของซูการ์โน ที่กลืนจีนให้เป็นอินโด)​ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างสุดขั้วของการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่นชนชาติหนึ่งกินหมูได้ตามปกติ อีกชนชาติไม่สามารถกินหมูได้ หรือชนชาติหนึ่งสามารถกราบไหว้รูปปั้น เทพเจ้าได้หลายองค์ ขณะที่อีกชนชาติไม่เชื่อในเรื่องรูปปั้นและการกราบไหว้พระเจ้าหลายองค์ ชนชาติทั้งสองจึงเป็นเหมือนน้ำและน้ำมันที่ไม่สามารถกลมกลืนกันได้ไฝแม้อยู่ใกล้ชิดกัน

ชาวจีนในมาเลเซียส่วนใหญ่จะเหมือนกับชาวจีนในแถวภาคใต้เรา คือเป็นชาวฮกเกี้ยน รวมถึงพวกเปอร์รานากัน ความจริงก็คือมีอยู่หลายภาษาหลายชนชาติที่มาจากทางตอนใต้ของจีน อย่างแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ อันนี้ใครว่าบรรพบุรุษให้เกิดมาผิดที่อันนี้ว่าเขาไม่ได้ เพราะเมื่อก่อนคนจีนจะเลือกไปเฉพาะที่ๆ คนของตัวเองเยอะ อย่างเมืองไทยแต้จิ๋วจะเยอะเพราะคนแต้จิ๋วไปอยู่กันแล้วก็ตามมาอยู่กันต่อ แถวภาคใต้รวมถึงในมาเลเซียด้วยเช่นกันที่ชาวฮกเกี้ยนจะมาอยู่กัน แล้วมาอยู่กันต่อ ในเมืองไทยก็มีชาวจีนฮกเกี้ยนชื่อดัง อย่างท่านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) คนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมคนจีนในภาคใต้ โดยเฉพาะคนแถวภูเก็ต ตรัง หาดใหญ่ จะยิ่งคุ้นเคยกับวัฒนธรรมคนจีนในมาเลเซีย เพราะส่วนใหญ่มาทางเดียวกันหมด

คนจีนในมาเลเซีย มีโรงเรียนภาษาจีนเป็นของตัวเอง  ไม่แน่ใจว่ายุคนั้นที่มีเรื่องกับคอมมิวนิสต์ จะปิดโรงเรียนภาษาจีนด้วยหรือเปล่า แต่ปัจจุบันเปิดกันอย่างเอิกเกริก โรงเรียนภาษาจีนจะมีมาตรฐานหลายอย่างแตกต่างกับโรงเรียนรัฐบาลที่ใช้ภาษามลายู พูดตรงๆ ก็คือเหมือนกับโรงเรียนแถวสิงคโปร์ อะไรทำนองนี้นะครับ

ชนชาติที่ 3 ที่อยู่รองลงมาจากชาวมลายูและชาวจีน แต่ก็สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือชาวอินเดีย ชาวอินเดียส่วนใหญ่ในมาเลเซียเป็นชาวทมิฬ เพราะบริเวณที่เป็นรัฐทมิฬนาฑู หันข้างมาทางภาคใต้ไทยและมาเลเซียพอดี สมัยก่อนด้วยความที่เป็นรัฐอาณานิคมอังกฤษด้วยกัน ชาวทมิฬจำนวนไม่น้อยจึงได้เลือกเดินทางมาอยู่มาเลเซีย ทำมาค้าขายเหมือนอย่างคนอินเดียในกรุงเทพฯ เรา แน่นอนว่าชาวอินเดียก็มีวัฒนธรรมแตกต่างกับชาวมลายู รวมถึงเรื่องภาษาที่ขนาดชาวทมิฬในอินเดียเองยังไม่ยอมอ่อนข้อให้ใข้ภาษาฮินดีง่ายๆ แน่นอนว่าพวกเขาจึงกลายเป็นอีกชนชาติที่ไม่สามารถกลืนกับชาวมาเลเซียได้ แต่ปัญหามีอยู่น้อยกว่าชาวจีนมาก ในมาเลเซียมีวัดแบบทมิฬอยู่เยอะ (รูปแบบเดียวกับวัดแขกสีลม)​ บางวัดก็อยู่ห่างจากชายแดนใต้ไม่ถึง 100 เมตร

นอกจากชาวทมิฬแล้ว บรรดาชาวอินเดีย ยังมีทั้งที่เป็นชาวมาลายาลัม ชนกลุ่มที่พูดภาษาอินเดีย ชาวปัญจาบ ชาวเบงกอล ซึ่งมาจากทั้งรัฐเบงกอลตะวันตก และบังกลาเทศ ยังไม่รวมถึงชาวทมิฬจากศรีลังกา ชาวสิงหล ชาวเนปาล/กุรข่า และชาวปากีสถาน ที่ว่ามา กลุ่มที่นับถือศาสนาฮินดูหรือคริสต์ พุทธ เชน จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกับชาวมลายูชัดเจน ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม จะสามารถกลืนเข้ากับชาวมลายูได้ดี และรุ่นลูกหลานน่าจะเป็นชาวมลายูได้เหมือนกัน

ส่วนชนกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มชนพื้นเมือง ในฝั่งตะวันตกก็คือชาวโอรังอัสลี เห็นว่าวัฒนธรรมใกล้เคียงกับชาวอุรักละโวย หรือกลุ่มชาวมันนิในบ้านเรา เชื่อว่าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมที่มาอยู่มาเลเซียก่อนชาวมลายู อาศัยอยู่ตามแถบภูเขา บริเวณตอนกลางของมาเลเซียตะวันตก ส่วนฝั่งมาเลเซียตะวันออก มีอยู่หลากหลายชนเผ่า ในรัฐซาราวะก์ ชนเผ่าส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์ ตามอย่างในยุคของเจมส์บรู๊ค ซึ่งเป็นรายาผิวขาวในเวลานั้น ปัจจุบันชนเผ่าหลายกลุ่มได้รับสิทธิ์เหมือนอย่างชาวมลายู ในฐานะชนพื้นเมือง ส่วนรัฐซาบะห์ มีสัดส่วนนับถือศาสนาอิสลามเยอะเหมือนในรัฐอื่นๆ ฝั่งตะวันตก แต่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวมลายู แต่เป็นชาวซูลู หรือชนเผ่าโมโร ซึ่งบางส่วนก็อยู่มาตั้งแต่แรก บางส่วนก็อพยพมาจากฟิลิปปินส์ สมัยก่อนอยู่กันเยอะกว่านี้มาก แต่หลังเกิดเหตุโจรสลัดซูลู ทางการมาเลเซียเริ่มขับไล่ผู้อพยพผิดกฎหมายออกไป นอกจากนี้ดินแดนบางส่วนยังเป็นเขตพิพาทระหว่างมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ เนื่องจากยังมีเรื่องของกรรมสิทธิ์ในสมัยอาณานิคมที่ถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ ว่าแท้จริงแล้วดินแดนแถวนั้นเป็นการให้เช่าหรือให้ไปเลย

มาเลเซีย เป็นดินแดนแห่งความเอกภาพและหลากหลาย แม้ภาพจำของหลายคนจะนึกถึงว่าเป็นประเทศมุสลิม และมีความผูกพันกับรัฐอาหรับมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลมาเลเซียพยายามให้ทุกคนจำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือความเป็นพหุวัฒนธรรมของมาเลเซียเอง ว่าทุกชาติทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรต่อนั้นก็เป็นอีกเรื่อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่