🛫🛫คืบหน้า‼️ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก เชื่อมั่นเพิ่มขีดความสามารถ

คืบหน้า  โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก เชื่อมั่นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

  ยกระดับไทยสู่ผู้นำด้านอุตสาหกรรมอากาศยานของภูมิภาค หนุนมหานครการบินอย่างครบวงจร

(24 สิงหาคม 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้หารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อยืนยันความพร้อมในการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO)  ซึ่งขณะนี้การบินไทยพร้อมลงทุน โดยอยู่ระหว่างเจรจาจัดหาพันธมิตรร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้นมีเอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก  

ทั้งนี้ จากการที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการและรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูจนประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้สถานะกระแสเงินสดมีเพียงพอ จึงมีความพร้อมลงทุนโครงการดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 – 4 เดือน   

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้กองทัพเรือ สกพอ. และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการฯ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนตามที่ สกพอ. เสนอ ซึ่งโครงการฯ จะดำเนินการบนพื้นที่ ประมาณ 337,500 ตร.ม. หรือ 210 ไร่ บนพื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพเรือ เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และจัดซื้ออุปกรณ์ ซึ่งเอกชนจะต้องจ่ายค่าเช่าให้กองทัพเรือตลอดอายุสัญญาเช่าพื้นที่ 50 ปี สามารถรองรับกิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน 1) การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance) สามารถรองรับอากาศยานลำตัวกว้างได้พร้อมกัน 3 ลำ รองรับอากาศยานลำตัวกว้างประมาณ 110 ลำต่อปี และอากาศยานลำตัวแคบประมาณ 130 ลำต่อปี 2) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) รองรับอากาศยานลำตัวกว้างและอากาศยานลำตัวแคบ ประมาณ 70 เที่ยวบินต่อวัน และ 3) การพ่นสีอากาศยาน (Aircraft Painting) รองรับอากาศยานลำตัวกว้างและอากาศยานลำตัวแคบ ประมาณ 22 ลำต่อปี นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นพัฒนาโรงซ่อมอากาศยานอัจฉริยะ (Smart-hanger) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดของโลก สามารถรองรับการให้บริการซ่อมเครื่องบินทั้งของแอร์บัสและโบอิ้ง  

“โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ให้เป็นรูปธรรม ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอากาศยานของภูมิภาค โดยเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของการซ่อมบำรุงอากาศยาน เกิดการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลกในประเทศไทย” นางสาวรัชดาฯ กล่าว 

#NBT2HD #ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา #อุตสาหกรรมอากาศยาน 
https://www.facebook.com/photo/?fbid=684517673715317&set=a.602940768539675
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่