JJNY : พ่อค้าโคราช บ่นตู่ ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง│ลำตะคองแห้งสุดในรอบ 10 ปี│ชงรบ.ใหม่เขย่า 4 อุตฯ│โดรนเคียฟโจมตีเครื่องบินมอสโก

พ่อค้าโคราชเกาะติด 'ทักษิณ' กลับไทย ดีใจอยากให้ช่วยฟื้นฟู ศก. บ่นรัฐบาลบิ๊กตู่ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง
https://www.matichon.co.th/region/news_4141013

  
ชาวโคราชเปิดทีวีเกาะติดการถ่ายทอดสดบรรยากาศการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณอย่างใกล้ชิด ขณะที่พ่อค้าในตลาดสดแม่กิมเฮงสุดดีใจ ‘ทักษิณ’ กลับมา เชื่อจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในตลาดแม่กิมเฮง อ.เมือง จ.นครราชสีมา บรรดาพ่อค้า แม่ค้าในตลาดต่างพากันเปิดโทรทัศน์เพื่อติดตามการถ่ายทอดสดการเดินทางกลับประเทศไทยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างคึกคัก หลังจากอดีตนายกฯมีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยเครื่องบินส่วนตัวมาลงที่สนามบินดอนเมืองราวเวลา 09.00 น. ซึ่งมีกลุ่มคนเสื้อแดงจากทั่วประเทศเดินทางไปต้อนรับจำนวนมาก

นายโกวิทย์ อายุ 70 ปี พ่อค้าในตลาดสดแม่กิมเฮง กล่าวว่า ดีใจมากที่ท่านทักษิณจะได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เพราะตอนนี้บ้านเมืองกำลังยากลำบาก รอคนเดียวที่จะกลับมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากคนอื่นทำไม่ได้เหมือนท่าน โดยเฉพาะรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ตั้งแต่ทหารปฏิวัติยึดอำนาจท่านทักษิณจนถึงทุกวันนี้เศรษฐกิจย่ำแย่มาก
 
นายโกวิทย์กล่าวว่า ดูที่ตลาดแห่งนี้โล่งมาก ลูกค้าแทบไม่มีเดินเลย เพราะทุกคนเงินหมดกระเป๋า จะซื้อกับข้าวทั้งทีต้องมานั่งนับเหรียญกันแล้ว ขอให้คนที่มีอำนาจใหญ่โต มีเงินเดือนเป็นแสนเป็นล้านสำนึกตัวเองบ้างว่าประชาชนเป็นอยู่ลำบากเพียงใด ซึ่งตนก็ได้รับการผ่าตัดนิ้วด้วยการใช้บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค จนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถ้าไม่ได้ท่านทักษิณคงไม่มีเงินไปผ่าตัดนิ้วแน่นอน
 

 
ลำตะคองแห้งสุดในรอบ 10 ปี กระทบเกษตรกร 10 หมู่บ้าน ชี้ถ้าฝนยังไม่ตกอาจกระทบการผลิตไฟฟ้า
https://www.matichon.co.th/region/news_4141229

ลำตะคองแห้งสุดในรอบ 10 ปี กระทบเกษตรกร 10 หมู่บ้าน ชี้ถ้าฝนยังไม่ตกอาจกระทบการผลิตไฟฟ้า
 
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายสมปอง รอดตุ่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจันทึก (อบต..จันทึก) นายวิฑูลย์ มุ่งปั่นกลาง กำนันตำบลจันทึก ,นายปัญญา เชื้อจันทึก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 บ้านท่างอย ,นายชูศักดิ์ จงงาม ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดนครราชสีมา ,นายยุทธศาสตร์ ธีระวัฒนา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง บริเวณทุ่งหญ้าสันดอนดินท้ายเขื่อน หมู่ 13 บ้านท่างอย อ.ปากช่อง เพื่อวางแผนการจัดงานเทศกาลกินปลาเขื่อนลำตะคอง ในวันที่ 1-7 กันยายน 66

นายคณัสชนม์ กล่าวว่า ตกใจมากหลังจากลงพื้นที่พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ลดลงไปถึงคลอง ถือว่าวิกฤติในรอบ 10 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ที่ทำไร่บริเวณเหนือเขื่อน และอยู่รอบเขื่อน กว่า 10 หมู่บ้าน ที่นำน้ำในเขื่อนขึ้นไปใช้ เพราะพื้นที่เก็บกักน้ำ 277,000 ไร่ พอน้ำลดกลายเป็นสันดอนทุ่งหญ้าหลายหมื่นไร่ กลายเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน ซึ่งเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเดือน สิงหาคม ปีที่ผ่านมาน้ำมีมาก สาเหตุจากฝนทิ้งช่วงมายาวนานหลายเดือน ไม่มีน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ถือเป็นแหล่งต้นน้ำไหลลงมาเข้าเขื่อน โดย นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีความห่วงใยประชาชนและกลุ่มเกษตรกร ที่ใช้น้ำ ที่อยู่ไต้เขื่อน อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และเมืองนครราชสีมา
 
นายยุทธศาสตร์ ธีระวัฒนา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ที่มีความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณฝนตกลงมาด้านเหนือเขื่อนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงทำให้น้ำในเขื่อนไม่เต็มความจุ เมื่อไม่มีฝนตกลงมา มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อย ก็จะทำให้น้ำลดลงทุกวัน โดยเมื่อเวลา 06.00น. วันที่ 22 สิงหาคม วัดได้ 133 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น ร้อยละ 42 ถือว่าน้ำในเขื่อนลดลงทุกวัน เพราะไม่มีน้ำไหลลงมา
 
ส่วนการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการปล่อยน้ำในเขื่อนลงไปวันละ 600,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้อุปโภค บริโภค เพื่อระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และการเพาะปลูกจำนวน 1.2 แสนไร่ โดยถ้าเปรียบเทียบกับในปีที่ผ่านมาในปีนี้ถือว่ามีปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง ลดลงมาก อาจส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่อาศัยในเขื่อน และการใช้น้ำไต้เขื่อนของประชาชนมาก
 
นายยุทธศาสตร์ กล่าวต่อว่า มีหลายคนสอบถามเข้ามาว่า หากไม่มีน้ำฝนตกลงมาอีก จะมีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าพลังงานสูบกลับ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางโรงไฟฟ้าได้ทำ mou ร่วมกับกรมชลประทานว่า หากปริมาณน้ำลดลง มีน้ำในเขื่อนเฉลี่ยประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะช่วยบริหารจัดการประหยัดในการสูบน้ำขึ้นไปบนภูเขาพักบนอ่าง เพื่อปล่อยลงมาผลิตกระแสไฟฟ้าป้องกันผลกระทบต่อน้ำในเขื่อน
 


ชงรบ.ใหม่เขย่า 4 อุตฯเป้าหมาย หวั่นตกเทรนด์โลก สศอ.ล็อกเป้าดันจีดีพีโตปีละ4.8%
https://www.matichon.co.th/economy/news_4141206

ชงรบ.ใหม่เขย่า 4 อุตฯเป้าหมาย หวั่นตกเทรนด์โลก กันยายนเสร็จ สศอ.ล็อกเป้าดันจีดีพีโตปีละ4.8%
 
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. อยู่ระหว่างทบทวนมาตรการ แผนปฏิบัติการของอุตสาหกรรมเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งตัวที่อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนปฏิบัติการและตัวที่ประกาศใช้แล้ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวม 4 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และ(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยจะรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้จากการติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเมิน วิเคราะห์ตามเทรนด์ของโลก จัดทำข้อเสนอทบทวน ยกระดับความสามารถการแข่งขัน ผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมโต 4.8% ต่อปี (2566-70) ตามที่กำหนดในแผนแม่บทฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่พิจารณา

โดยแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (2566-70) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอาเซียน มีเทคโนโลยีตนเองภายในปี 2570 ประกอบด้วย 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ สมาร์ทโฮม , สมาร์ทแฟคตอรี่ ,สมาร์ทฮอสพิทอล แอนด์ เฮลท์ , สมาร์ทฟาร์ม และรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)
 
ขณะที่มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนโดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ภายในปี 2569 โดยช่วง 6 ปีที่ผ่านมา(2560-66) มีผู้ประกอบการ 271 กิจการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมูลค่ารวม 27,710 ล้านบาท ขณะที่ กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติขอรับการส่งเสริม 2,570 ล้านบาท
 
มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย 2561-2570 อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนมาตรการฯ ระยะครึ่งแผน เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ไบโอ ฮับ ออฟ อาเซียน ภายในปี 2570 มีความก้าวหน้าในการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ สร้างอีโคซิสเท็ม คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพภายใต้มาตรการ 153,340 ล้านบาท และจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนา
 
รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (2566-2570) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน ภายในปี 2570
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่