ทำไมสติรู้ทันความโกรธแล้ว แต่ใจยังยึดติดกับความโกรธนั้นอยู่

อยากทราบประสบการณ์การปฏิบัติธรรม หรือวิธีการจัดการความโกรธคับ  ลองค้นกระทู้มาแล้ว ส่วนใหญ่ตอบตามตำราคับ

เหตุการณ์คือกำลังนั่งสวดมนต์อยู่  แต่ก็ได้ยินเสียงคนในบ้าน บ่นเสียงดังพอควร ประมาณว่าไม่ยอมล็อคประตูรั้ว ดึกแล้วด้วย ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของพี่ชาย และเคยลืมหลายครั้ง ทำให้แค่ได้ยินก็รู้สึกหงุดหงิดใจ ทำให้สวดมนต์ต่อแบบไม่มีสมาธิเลย

พอหงุดหงิดก็รู้เลยนะว่าหงุดหงิด ถ้าตามที่พระท่านสอน เมื่อโกรธก็รู้ว่าโกรธ พอมีสติแล้วความโกรธก็หาย  แต่ของผมทำไมมันไม่หาย ผมดูมันไปเรื่อยๆ มันอึดอัดแถวท้อง หน้าอกขึ้นมาถึงคอ

- มีสติรู้ว่าตัวเองโกรธ แต่ทำไมความโกรธไม่ได้หายไป หรือผมเข้าใจอะไรผิด
- ทำไมรู้สึกว่าจิตพยายามยึดติดความโกรธ ทำอย่างไรไม่ให้จิตยึดติดกับความโกรธคับ

ใครช่วยให้ความกระจ่างได้บ้างคับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 11
ตอบท่าน จขกท  เอาเรื่องกิเลสก่อนนะครับ
ที่อารมณ์โกรธมันไม่หายไป  เป็นเพราะว่า พอหูกระทบเสียงปั๊บ เกิดโสตะวิญญาณ รับรู้ว่าเป็นเสียงใคร บ่นเรื่องอะไร
คราวนี้ สัญญามันปรุงเป็นภาพพี่ชายท่านขึ้นในมโนทวารของคุณ  แล้วสังขารรับช่วงต่อปรุงยาวต่อไปเลยว่า พี่ชายลืมล็อค ทำไมชอบลืม ลืมบ่อยครั้งแล้วไม่รู้จักจำ เผลอๆ อาจจะพาปรุงต่อไปอีกถึงคนที่กำลังบ่นอยู่  นั่นคือ ท่านถือในนิมิต ท่านถือในอนุพยัญชนะหลังจากเกิดผัสสะ
แล้ว  เพราะความที่ไม่รู้เท่าทันสัญญาและสังขารที่มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นอยู่เป็นทุนแล้ว  ราคานุสัย และโทสาสัยจึงแสดงออกมา
เพราะปุถุชนทั่วไปถ้าพูดถึงขันธ์ 5  เป็นอุปทานขันธ์ 5 ทั้งสิ้น  คือขันธ์ 5 อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น  

ทีนี้กรณีนี้คือ มันเด่นที่สัญญา กับสังขาร ที่ปรุงแต่งเป็นความฟุ้งซ่านอย่างรุนแรงในจิต  เพราะคุณยึดถือในสัญญา สังขารนั้น สติสัมปะชัญญะจริงๆ ตามไม่ทัน หรือกำลังไม่พอ เพราะมันเข้าไปไม่ถึงฐานของจิต สัญญาและสังขารอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นที่มันปรุงอย่างรุนแรง  มันจึงก่อให้เกิดเวทนาที่รุนแรงตามไปด้วย คือรู้สึกไม่พอใจ อึดอัด แน่นหน้าอก  มันย่อมไปตามทางของกิเลส  เพราะขันธ์ 5 เป็นที่ซ่องสุมเป็นที่อยู่ของอาสวะกิเลส


คราวนี้มาพูดถึงธรรมะคู่แข่งขัน  ธรรมะปราบกิเลสในกรณีนี้ ทะเลเวลาคลื่นลมมันแรงมากๆๆ ควรงดเอาเรือออกจากฝั่ง ขืนออกเรือไป  เรือก็ล่ม อาจตายได้  ฉันใดก็ฉันนั้น อารมณ์ในจิตที่มันรุนแรงมากๆ หรือทำให้จิตใจเราฟุ้งซ่านมาก  ธรรมคู่ปรับแห่งความฟุ้งซ่านไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาเวลานั้น เพราะกำลังไม่พอ  ธรรมคู่ปรับที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้คือการทำสมถะไว้ก่อน  หรือทำสมาธิไว้ก่อน เพื่อเอากำลัง ไปต่อสู้กับกิเลส  ให้จิตตั้งมั่น อ่อนโยน ควรแก่การทำงาน ปราบนิวรณ์ 5 ไว้ก่อนครับ  ธรรมะของพระพุทธองค์ที่ทรงประทานไว้เป็นอาวุธมีหลายหมวดหลายหมู่ เราต้องฉลาดใช้จึงจะปราบกิเลสอยู่หมัด อย่างน้อยสติปัฏฐาน 4 หรือมรรค 8 ต้องรู้ครับ  และนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ครับ
หากพูดถึงสติปัฏฐาน 4 ซึ่งมีทั้งกาย  เวทนา  จิต  ธรรม พระผู้มีพระภาคทรงตรัสสรรเสริญกายานุสติไว้หลายต่อหลายที่มากๆ  กายานุสติเป็นกรรมฐานที่เป็นพี่ชายใหญ่  การมีสติตามรู้กาย หรือพิจารณากาย  กายเป็นของหยาบ เหมาะกับการปราบกิเลสหยาบๆ ที่มันรุนแรง  กายานุสติทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายด้วย เช่น การทำอานาปานสติ  หรือการทำความรู้สึกตัวว่าอิริยาบทเวลานี้เรากำลังทำอะไรอยู่  อาจใช้สติตามรู้กายพลิกมือ ยกมือ ยกแขนไปก่อนก็ได้ ซักพักใหญ่ๆ เพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิไว้ก่อน   กิเลสเวลามันรุนแรงต้องใช้สติตามรู้กายไว้ก่อน อย่าเพิ่งรู้จิตตานุปัสสนา หรือดูจิตครับ  กำลังมันจะไม่ไหว

อนาคตต่อไปหากคุณสั่งสมให้จิตคุณมีความตั้งมั่นบ่อยๆ ด้วยกำลังสติและสมาธิจนเป็นฐานที่มั่นของจิต  ต่อไปเวลากระทบอารมณ์แล้วเกิดราคะ  เกิดโทสะ  ด้วยอำนาจของสติและสมาธิที่มีกำลังแรงจากการสั่งสมบ่อยๆ คุณจะเห็นราคะและโทสะมันขาดไปได้ ดับไปได้  หรือหากไม่ดับทันที คุณจะเห็นว่ามันไม่คงที่  พอสติปัญญาละเอียดขึ้นไปอีก  คุณจะเห็นว่า ความโกรธมันมีเหตุแห่งการเกิด  ความรู้สึกว่ามีตัวเราจริงๆ ในความโกรธจะกลายเป็นความปรุงแต่งไป นั้นคือสัญญา สังขารเป็นตัวหลอกล่อปรุงแต่งว่ามีเรา ของเราอยู่จริงๆ มันเป็นตัวหลอก นี้เรียกว่าวิปัสสนาได้เกิดขึ้นแล้ว  คุณจะเริ่มมีความเห็นแจ้งในอารมณ์นั้นแล้ว  จิตคุณจะเริ่มเข้าใจว่าจะอารมณ์ในรูปธรรม นามธรรมใดๆ ก็ตาม ถ้าเราไม่วิ่งไปตามมัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในนิมิต หรือในอนุพยัญชะ เพราะสติสัมปะชัญญะเกิดเร็ว มาเร็ว  ผลลัพธ์หรือปฏิเวธธรรมสถานคือคุณจะปล่อยวางอารมณ์โกรธได้ดีขึ้น คุณจะไม่โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงแบบที่ผ่านๆ มา  คุณจะเข้าใจสภาวะความเป็นจริงของรูปนามขันธ์ 5 ได้ดีขึ้น และปล่อยวางมันไปด้วยตัวมันเอง กลับคือสู่ธรรมชาติเดิมของมันที่มันควรจะเป็นไป ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่