5 ข้อควรทำ เมื่อคุณแจ้งหัวหน้าว่า "ลาออก" แล้ว ฉบับมืออาชีพ

สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ คงจะต้องมีซักครั้งที่เราผ่านประสบการณ์ "การลาออก" ซึ่งโดยส่วนใหญ่ เราก็อาจจะแค่แจ้งหัวหน้าตามเงื่อนไขตามแต่ละตำแหน่งเช่น ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน (บางตำแหน่งเช่นผู้บริหารบางที่ก็ 60วัน) กรอกเอกสาร ส่งฝ่ายบุคคล แล้วถึงวันสุดท้ายของการทำงาน ก็เก็บของและออกออฟฟิตไป นี่เป็นขั้นตอนปกติที่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะผ่านกันมาแล้ว แต่.. จากประสบการณ์แล้วผมเคยเจอคนที่ทำอะไร นอกเหนือจากที่กล่าวมา หลายๆ อย่างแล้วรู้สึกประทับใจ เลยคิดว่าจะนำมาเขียนแชร์ไว้ และอยากถามเพื่อนๆ มาแชร์ประสบการณ์การลาออกของตัวเองบ้าง ว่าเป็นอย่างไรครับ

1. ขอเอกสารรับรองการทำงาน กับฝ่ายบุคคลหรือ HR โดยในเอกสาร ควรมีชื่อเรา ชื่อตำแหน่ง พร้อมเงินเดือน (บางบริษัทมีให้เลือกทั้งแบบ มีเงินเดือน และ ไม่มีเงินเดือน ภาษาไทย,อังกฤษ แนะนำว่าขอมาให้หมดครับ) แล้วก็อย่าลืมจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เราใช้สิทธิของบริษัทอยู่ เช่น กู้รถ/กู้บ้าน/สหกรณ์  รวมไปถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยที่ต้องเลือกว่าจะเอาเงินค้างไว้ในกองทุน หรือ ถอนออกมา (อย่าลืมว่าถ้าถอนออกมา จะถูกนับเป็นรายได้ ถูกรวมในการคำนวณภาษีด้วย) และเมื่อถึงรอบภาษี อาจจะตอนต้นปี อย่าลืมกลับมาขอเอกสาร ทวิ ๕๐ จากบริษัทด้วยนะครับ (กรณีบริษัทนี้จ่ายเงินเดือนมากสุด) เพราะเราต้องนำไปกรอกตอนยื่นภาษี และใช้เป็นหลักฐานด้วย

2. เตรียมเอกสารงาน/คู่มือ ที่เกี่ยวข้องกับงานตำแหน่งปัจจุบัน ให้สำหรับคนที่มาทำงานต่อจากเรา ซึ่งอาจจะเป็น เพื่อนในแผนก, หัวหน้า หรือคนใหม่ที่จะเข้ามา อาจจะเก็บไว้ในแชร์ Folder ของแผนกหรือของบริษัท หรือ เซฟใส่ USB แล้วฝากไว้ที่หัวหน้าก็ได้ครับ จุดนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพมากๆ เลย แล้วหัวหน้าจะยิ่งให้ความนับถือเรามากๆ ครับ (เพราะปกติผมไม่ค่อยจะเจอคนทำเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เราลาออกเพราะหัวหน้า เพราะบริษัท ทำไมเรายังจะต้องทำให้เขาอีก แต่อย่าลืมนะครับ ถ้าเลือกเส้นทางชีวิตมนุษย์เงินเดือนแล้ว ไม่แน่ เราอาจจะวนกลับไปเจอหัวหน้า หรือคนที่มาทำงานต่อเราข้างนอก หรือในบริษัทอื่นอีก)

3. เก็บ Connection ดีๆ ไปอำลา ทานข้าว สังสรรค์ กับเพื่อนร่วมงาน แผนกต่างๆ ที่เราเคยทำงานด้วย เพราะอนาคต เราไม่มีทางรู้เลยว่า เราอาจจะได้ทำงานด้วยกันอีกรึปล่าว หรือ บางที ที่ผมมักจะเจอบ่อยๆ คือพอสัมภาษณ์งานบริษัทใหม่ (ในตำแหน่งสำคัญๆ และสูงๆ) เขามักจะขอผู้ติดต่อบริษัทเดิม เพื่อโทรศัพท์ไปทำ Reference Check กับคนที่บริษัทเก่า ถามว่าเราเป็นยังไง ส่วนใหญ่จะมี 3 ระดับ คือ เพื่อนร่วมงาน, หัวหน้า และ ลูกน้องเรา ดังนั้น มี connection ดีๆ เหลือไว้บ้าง...ก็ยิ่งทำให้เราอุ่นใจได้ว่า เมื่อถึงเวลาทำ Reference check จะมีคนที่พูดถึงเราในทางที่ดีครับ

4. เตรียมร่าง อีเมล Farewell อำลา ส่งเพื่อนร่วมงานให้วันสุดท้าย ข้อนี้บริษัทไทย ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ แต่พอไปทำงานบริษัทต่างชาติ เขามักจะทำกันเป็นธรรมเนียมเลยครับ บางทีก็ตลกบ้าง ซึ้งๆ บ้างก็มี ในอีเมลก็จะขอบคุณคนที่เราเคยร่วมงานด้วย โมเม้นดีๆ และก็ทิ้งเบอร์ติดต่อ email ส่วนตัวเบอร์โทร Facebook LinkedIn ทิ้งไว้ เผื่อไว้(ให้เขาตามมาด่า รึปล่าว 555)

5. พยายามเคลียงานที่ค้างให้เสร็จ หากไม่เสร็จให้ฝากไว้กับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน โดยเตรียมรายละเอียดไว้ ว่ามันเกี่ยวกับอะไร แล้วอาจจะต้องทำอะไรต่อ เผื่อคนมาต่อเราจะได้นี่เป็นข้อที่ยากที่สุดในบรรดา 5 ข้อที่กล่าวมา เพราะเราอาจจะหมดใจไปแล้ว แต่เชื่อเถอะครับ หากเราทำได้ เราจะเข้าใกล้กับคำว่า "มืออาชีพ" ที่สุดแล้ว เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้เลย เหตุผลมันมีมากมายที่จะทำ และไม่ทำครับ

หากทำได้ครบ 5 ข้อก็เรียกว่าเป็นการสร้าง The Last Impression ให้กับองค์กรและเพื่อนร่วมงานที่เราพร้อมจะโบกมือลา ไม่ให้เข้ามาตามด่าไล่หลังเรานะฮะ (เว้นแต่ทำตัวเฮ้เอง) และทั้งหมดนี้ ผมค่อนข้างพิสูจน์ด้วยตัวเองและจากคนรอบข้างที่ทำมานี้ ส่วนใหญ่ตอนนี้เจริญเติบโตในอาชีพการงาน ประสบความสำเร็จกันในตำแหน่งต่างๆ ครับ ใครมีประสบการณ์ หรือคำแนะนำอื่นๆ ลองมาแชร์กันได้นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่