[CR] รีวิว...สุรินทร์ ตามเส้นทางราชมรรคา ปราสาทขอมอีสานใต้


          สวัสดีชาวพันทิปครับ จังหวัดแห่งช้าง หลายท่านน่าจะนึกถึงจังหวัด “สุรินทร์” ตามคำขวัญจังหวัดที่ว่า เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีเลื่องชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง...เดี๋ยวๆ นั่นมันสุพรรณฯ จริงๆคือ เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย...เอ่อ นั่นมันสุราษฎร์ พอๆเลิกเล่น “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม พร้อมวัฒนธรรม” นอกจากเป็นเมืองช้างแล้ว สุรินทร์ยังเป็นเส้นทางสำคัญที่นำศิลปะแบบ “ขอม” เข้ามาในประเทศไทย ในยุคขอมรุ่งเรืองสุดขีดเส้นทางนี้เรียกว่า “ราชมรรคา”

          เส้นทาง “ราชมรรคา” เป็นเส้นทางจาก “พระนคร” หรือ “นครวัด” ในปัจจุบันไปสู่ดินแดนต่างๆที่อยู่ภายใต้อำนาจของขอม หนึ่งในเส้นทางราชมรรคาที่สำคัญคือเส้นทางที่สู่ “ลพบุรี” ผ่าน “พิมาย” ซึ่งเส้นทางนี้ฝั่งขอมมาสิ้นสุดที่ “พนมดงรัก” ส่วนฝั่งไทยจากหลักฐานคาดว่าเริ่มต้นที่ “ช่องตาเมือน” จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทขอมในจังหวัดสุรินทร์ผมไปทั้งหมด 3 แห่งกับอีก 1 พิพิธภัณฑ์ ถึงจำนวนจะไม่เยอะแต่แต่ละที่ก็มีเรื่องราวที่น่าศึกษาไม่น้อย



          ก่อนจะไปสำรวจปราสาทขอมจังหวัดสุรินทร์ ผมขอเอาคำถามของคุณ Susisiri ซึ่งตั้งเป็นข้อสังเกตในกระทู้ปราสาทขอมจังหวัดศรีสะเกษว่า  “ยังสงสัยว่าทำไมปราสาทและเรื่องราวเขมรจึงปรากฎทางด้านอิสานแยะ ทั้งที่ชายแดนก็ติดกันมากจรดถึงภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางทั้งจ. จันทบุรี ถึงตราดที่ไปมาง่าย” ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจและน่าหาข้อสัณนิษฐานมากๆ ผมตอบในกระทู้นั้นตามการคาดเดาของผม และขอนำมาสรุปในกระทู้นี้ย่อๆอีกรอบแล้วกันครับ...(ถ้าไม่อยากอ่านตรงนี้ กดข้ามไปที่นาทีที่ 3 ได้เลยครับ)

           - ก่อนอาณาจักรขอมมีอำนาจ เคยมีอาณาจักร “ฟูนัน” มาก่อน ราชธานีอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงพนมเปญในปัจจุบัน

           - อาณาจักรฟูนันเสื่อมอำนาจ อาณาจักร “เจนละ” ขึ้นมามีอำนาจแทนราชธานีอยู่แถวแขวงจำปาสัก ประเทศลาวในปัจจุบัน “พระเจ้ามเหรทรวรมัน” หรือ “พระเจ้าจิตรเสน” กษัตริย์แห่งเจนละ ครองราชช่วงพุทธศตรวรรษที่ 12 แผ่ขยายอำนาจเข้ามาตามแม่น้ำมูลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ไปนครราชสีมาและไปตามลำน้ำชีถึงจังหวัดขอนแก่น

          - อาณาจักรเจนละเสื่อมอำนาจถูกชวาครองอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละต่อสู้กับชวาจนขับไล่ชวาสำเร็จ ถือเป็นการเริ่มต้นยุครุ่งเรืองของ “ขอม” โบราณ ราชธานีอยู่ทางเหนือของเสียมเรียบในปัจจุบัน

          - พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ทรงสร้าง “พระนคร” หรือ “อังกอร์” ขึ้นบริเวณใกล้ๆกับนครวัดในปัจจุบันเป็นราชธานี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ  “ขอมสมัยพระนคร” และสร้างเส้นทางติดต่อกับเมืองต่างๆที่อยู่ภายใต้อำนาจหนึ่งในเส้นทางนั้นผ่านมาทางสุรินทร์และพิมาย ต่อมาเส้นทางนี้ได้รับการปรับปรุงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

          - พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ย้ายเมืองหลวงหนีน้ำท่วมไป “เกาะแกร์” ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดศรีสะเกษ

          - พระเจ้าราเชรทรวรมัน ย้ายเมืองหลวงกลับมาที่ “พระนคร”

          - ราว พ.ศ. 1720 พระนครถูกอาณาจักรจามปาโจมตี เจ้าชายวรมันขณะนั้นปล่อยให้เมืองแตก แล้วรวบรวมไพร่พลกู้เอกราชกลับมาโดยสู้รบกันอยู่ 4 ปี หลังจากกู้เอกราชกลับมาได้ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และบูรณะพระนครขึ้นมาใหม่ย้ายราชธานีจากปราสาทปาปวนมาที่ปราสาทบายน พระองค์โปรดให้บูรณะเส้นทางเชื่อมพระนครในอดีตทั้งหมด 5 เส้นทาง เรียกว่า "ราชมรรคา" 

          - เจ้าพระยาญาติ ย้ายเมืองหลวงจาก “พระนคร” มาที่พื้นที่ที่เป็นกรุงพนมเปญในปัจจุบันในยุคพุทธศตวรรษที่ 20

          จากข้อมูลทั้งหมดทำให้เห็นว่าการแผ่อำนาจของขอมยุคก่อนพระนครเข้ามาทางลุ่มน้ำมูลจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาพระนครของขอมก็อยู่บริเวณเสียมเรียบในปัจจุบัน และเส้นทางราชมรรคาก็เข้าฝั่งไทยที่ช่องตาเมือนจังหวัดสุรินทร์ ส่วนกรุงพนมเปญเพิ่งย้ายไปหลังจากพระนครเสื่อมอำนาจไป ทำให้เราพบปราสาทขอมทางอีสานใต้ของไทยมากกว่าจังหวัดทางภาคตะวันออก...ยาวมั้ยครับ ยาวแหละ...เอาล่ะ ไปสุรินทร์กัน


          ในเมื่อพูดถึงเส้นทางราชมรรคาแล้วก็เริ่มการเดินทางที่ “ปราสาทตาเมือน” จังหวัดสุรินทร์เลยแล้วกันครับ ปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ที่อำเภอพนมดงรัก เกือบจะถึงจังหวัดบุรีรัมย์อยู่แล้ว หากขับรถมาตามถนนหมายเลข 24 สามารถเลี้ยวเข้าถนนหมายเลข 2397 หรือ 2375 ก็ได้แล้วมาต่อถนนสาย 224 แล้วเลี้ยวเข้าถนนหมายเลข 2407 จนสุดทาง....มาถึงตรงนี้ผมว่าคุณผู้อ่านหลงตั้งแต่ 2397 แล้วแหละ

           ก่อนจะสุดทางจะเจอปราสาท 2 หลังอย่าเพิ่งแวะครับ ขับตรงมาจนสุดก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยไปแวะขากลับ ตรงทางเข้าปราสาท “ตาเมือนธม” มีหน่วยทหารตั้งอยู่เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ บริเวณตัวปราสาทเองก็มีทหารทั้งฝั่งไทยและกัมพูชาเฝ้าอยู่ แต่ไม่อันตรายอะไรครับอย่าเดินออกนอกเส้นทางแล้วกัน



          ปราสาท “ตาเมือนธม” เป็นปราสาทที่ผมชอบที่สุดหนึ่งในสองแห่งของทริปนี้ ที่ชอบที่นี่เพราะรู้สึกว่าปราสาทถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวน้อยมาก อาจจะเพราะไกลและทหารคอยดูแลอยู่เลยเกรงใจกัน (แต่เห็นคนมาถ่ายพรีเวดดิ้งด้วยนะ...เจ๋งดี)

          ปราสาท “ตาเมือนธม” สร้างหันหน้าไปทิศใต้ต่างจากปราสาทอื่นๆที่หันหน้าไปทิศตะวันออกราวกับให้เหมาะสมกับเส้นทางราชมรรคาที่เข้ามาทางทิศใต้ 


          ปราสาทตาเมือนธมเป็นปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน หากสืบประวัติกันจริงจังแล้วมีหลักฐานว่าปราสาทตาเมือนนี้มีอายุเก่าแก่ไปจนถึงสมัยพุทธศตววรษที่ 12-13 แต่ปราสาทองค์เก่าในสมัยนั้นไม่เหลือให้เห็นแล้ว ปราสาทปัจจุบันสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15



          ปราสาทตาเมือนธมเป็นเทวสถานของพระศิวะ ตามจารึกที่พบมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และการบูชาพระศิวะ ภายในของปราสาทมี “สวยัมภูลึงค์” หรือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ถือว่าเกิดขึ้นจากพระประสงค์ของพระศิวะ 



          นอกจากปราสาทประธานแล้ว ยังมีปราสาทบริวารอีก 2 หลังทางมุมด้านหลังของปราสาทประธาน และมีบรรณาลัยในพื้นที่เดียวกันทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงหรือระเบียงคด

           การเดินเที่ยวในปราสาทตาเมือนธมทำได้สะดวกครับ มีจุดลงทะเบียนของพี่ทหารตรงทางเข้าแต่การเข้าชมก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด วันที่ผมไปแทบไม่มีนักท่องเที่ยวมีเพียงนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชา 2 คนกับผมเท่านั้น ที่เหลือเป็นทหารของทั้ง 2 ประเทศประจำการอยู่ เดินชมตามสะดวกแต่อย่าออกนอกเส้นทางแล้วกันครับเดี๋ยวจะเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ



          จากปราสาทตาเมือนธม ย้อนกลับออกมาเล็กน้อยจะพบกับปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ในป่าโปร่งมองเห็นได้จากถนน แต่ก็ยังมีความวังเวงอยู่หน่อยๆเพราะตรงนี้ไม่มีคนเลย 

          ราวพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงให้ปรับปรุงเส้นทางราชมรรคา 5 สาย หนึ่งในนั้นคือเส้นทางจากพระนครไปพิมาย ซึ่งโปรดให้สร้างธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางทั้งหมด 17 หลัง ตรงกลุ่มปราสาทตาเมือนเป็นธรรมศาลาที่แรกในฝั่งไทย


          ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล หรือ ศาลาไร้โรค หรือโรงพยาบาลนั้นแหละ มีสระน้ำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่ด้านหน้าปราสาท ด้านในมีปราสาทประธานหนึ่งหลังล้อมรอบด้วยรั้วหรือระเบียงคด มีซุ้มประตูหรือโคปุระอยู่ทิศเดียวด้านตะวันออก


          ภายในปราสาทมีศิลาจารึก ข้อความเกี่ยวกับการสักการะพระพุทธเจ้าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่
ประชาชน


          ย้อนกลับออกมาจากปราสาทตาเมือนโต๊ดอีกหน่อยจะเจอปราสาทตาเมือน ตอนผมไปเกือบขับรถเลยเหมือนกันเพราะเป็นปราสาทหลังเดียวเดี่ยวๆ อยู่ตรงโค้งของถนนพอดีและตัวปราสาทอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนต้นไม้บังอีกต่างหาก

          ปราสาทตาเมือนทำหน้าที่เป็นธรรมศาลาหรือ ที่พักคนเดินทางสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยรวมแล้วกลุ่มปราสาทตาเมือนนี่เป็นจุดพักที่พร้อมสรรพเลย มีเทวสถาน โรงพยาบาล มีที่พักให้ด้วย


          ที่พักคนเดินทางนี้จากด้านนอกอาจจะดูว่าไม่ใหญ่โตนัก อาคารยกสูงจากพื้นขั้นไปประมาณหนึ่งเมตร แต่พอมาดูด้านในใหญ่โตกว้างขวางใช้ได้เลยครับ ห้องเพดานค่อนข้างสูง มีช่องหน้าต่างขนาดไม่ใหญ่นักอยู่หลายช่อง ข้างในนี้นอนได้หลายคนอยู่

          โดยรวมผมชอบที่นี่นะ ผู้คนไม่พลุกพล่านมาก เงียบสงบ (จนบางทีก็หลอน) บรรยากาศรวมๆยังดูไม่ถูกรบกวนมากนักแต่ปราสาทแต่ละหลังก็สะอาดและอยู่ในสภาพที่ดี...ถ้าชอบปราสาทเก่าและผ่านไปสุรินทร์สมควรไปเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง
v
v
v
v
v
v
v
หากชอบการรีวิวของผม ไปดูรีวิวที่ผมทำไว้ในช่องทางอื่นๆได้นะครับ แนะนำ คอมเม้นท์ตามสบายครับ
------------------------------------------------------------------------------------------------------
Facebook:  https://www.facebook.com/followmeonearth/
Website: www.Pratuneung.com
Lemon8 Application: @Pratuneung
Blockdit page: Followmeonearth
Blockdit page: Story Behind
ชื่อสินค้า:   จังหวัดสุรินทร์
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่