ทำไมต้องมีวันเข้าพรรษา?



คำถามนี้มีคำตอบ และช่วยเสริมหน่อยครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 🌈ประเพณีเข้าพรรษาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล แรกๆ ยังไม่มีประเพณีนี้ แต่ตอนหน้าฝน ชาวนาทำนากัน เวลาพระเดินก็ไปเหยียบโดนข้าวกล้าบ้าง เหยียบแมลงตายโดยไม่รู้ตัวบ้าง จนชาวบ้านเขาติเตียน ต่อมามีคนไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติให้มีการจำพรรษาในช่วงหน้าฝน 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ช่วง 3 เดือนนี้ พระภิกษุสงฆ์จะอยู่อาวาสเดียวตลอด 3 เดือน ไม่จาริกไปในที่ต่างๆ ประเพณีเข้าพรรษาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
 
⭕️ในช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?
 
🌈ในวันเข้าพรรษา พระจะไปรวมกันที่โบสถ์พร้อมกันทั้งวัด แล้วก็อธิษฐานด้วยการกล่าวคำว่า “อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปม.” แปลว่า “ข้าพเจ้าขออธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ อาวาสแห่งนี้ตลอด 3 เดือนนี้ “ ตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะอยู่ที่วัด ตลอด 3 เดือน พอประชุมพร้อมกันเสร็จแล้วพระภิกษุผู้เป็นเถระ เช่น เจ้าอาวาส ก็จะให้โอวาทพระภิกษุ ให้ตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษ และให้ข้อคิดต่างๆ ในการฝึกฝนตนเอง

⭕️พระสงฆ์ท่านมีกิจกรรมในระหว่างพรรษาของท่าน แล้วพวกเราสาธุชนจะอธิษฐานพรรษาได้หรือเปล่า?
    
🌈สาธุชนไม่มีพระวินัยบังคับเรื่องอธิษฐานโดยตรง แต่ในพรรษาเราควรตั้งใจว่า ใน 3 เดือนนี้จะทำความดีอะไรบ้าง สัก 2-3 ประการ ก็พอ ใครที่ดื่มเหล้าอยู่ พรรษานี้ต้องตั้งใจว่า จะไม่ยอมให้เหล้าแม้แต่หยดเดียวผ่านลำคอ จะงดสูบบุหรี่และอบายมุขทั้งหลายด้วย ไม่ว่าการพนัน เที่ยวกลางคืน งดตลอด 3 เดือน และจะตั้งใจสวดมนต์และเจริญสมาธิ จิตภาวนา ให้ได้ทุกวัน
 
🌟ให้จำพรรษาอยู่ในวงกาย กายยาววา กว้างศอก หนาคืบ คือ ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าประมาณ 1 วา กว้างประมาณ 1 ศอก หนาประมาณ 1 คืบ ให้เราจำพรรษาในวงกาย คือเอาใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวด้วยการทำสมาธิ เพียรให้ใจหยุดนิ่ง
 
☀️ถ้าทำอย่างนี้แล้ว พรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความรุ่งเรืองและความสำเร็จของทุกๆ คน
 
⭕️แต่ละวัดมีการจัดกิจกรรมในวันเข้าพรรษาเหมือนกัน หรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
 
🌼หลักการใหญ่ที่ไม่ต่างกันคือการที่พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ 3 เดือน แล้วศึกษาพระธรรมวินัย แต่รายละเอียดของการปฏิบัติจะเข้มข้นขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละวัด เช่น บวชแล้วต้องมีการศึกษาพระธรรมวินัย เรื่องนี้เราต้องยอมรับว่า บางวัดอาจจะมีพระน้อย และมีผู้เข้ามาบวชพรรษาแค่ 1-2 รูป จำนวนนักเรียนยังไม่เป็นปึกแผ่นเท่าที่ควร ครูบาอาจารย์ที่จะสอนก็อาจจะพร้อมบ้าง ไม่พร้อมบ้าง เพราะฉะนั้น ก่อนบวชพยายามเลือกสักนิดหนึ่งว่าจะบวชที่ไหน จึงจะสามารถศึกษาพระธรรมวินัยได้เต็มที่ ไม่ใช่แค่ได้ชื่อว่าบวช แต่บวชแล้วขอให้ได้ปฏิบัติจริง ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจริง ในเมื่อยอมสละเวลาต่อมา 3 เดือน ได้สักกี่ครั้ง อาจจะเป็นแค่ครั้งเดียวในชีวิต ขอให้ใช้เวลาช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด คุ้มค่าที่สุด
 
⭕️วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา

❄️ในกรณีของคณะสงฆ์ หากกำลังไม่พร้อม อาจจะใช้วิธีรวมกัน เช่น ในตำบลมีอยู่ 4-5 วัด อาจจะมาบวชแล้วรวมกันอยู่วัดใดวัดหนึ่ง จะได้มีจำนวนมากขึ้น แล้วก็เอาครูบาอาจารย์ที่เก่งในวิชาต่างๆ ของแต่ละวัดมาช่วยกันสอน เพราะวัดในตำบลเดียวกันก็ไม่ได้ไกลกันมาก ญาติโยมจะได้มาเยี่ยมพระลูกหลานได้สะดวก
 
🎯ประเด็นหลัก คือ บวชแล้วขอให้ได้ศึกษาพระธรรมวินัย อย่าบวชเสียผ้าเหลือง ต้องมีกิจวัตรกิจกรรม มีการฝึกตัวเองที่เข้มข้น  ตอนเช้า ตื่นตี 4 ครึ่ง สวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ พอฟ้าเริ่มสางก็ออกไปบิณฑบาตส่วนหนึ่งอยู่ทำความสะอาดกุฏิ ดูแลสถานที่ต่างๆ ให้เรียบร้อย สายหน่อย ฉันเช้าพร้อมกัน โดยมีพระอาจารย์มาสอนมารยาทในการขบฉัน 8 โมงครึ่ง สวดมนต์นั่งสมาธิต่อถึงเพล ฉันเพลเสร็จพักกันสักครู่พอบ่ายโมงก็ศึกษาพระธรรมวินัย นักธรรมชั้นต่างๆ ตกเย็นก็ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่และทำภารกิจต่างๆ 1 ทุ่ม สวดมนต์ นั่งสมาธิ กิจวัตรกิจกรรมเป็นอย่างนี้ตลอด ทุกๆ วัน เพราะฉะนั้น พระบวชใหม่จะได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่
 
🛑บวชครบ 3 เดือนแล้ว เมื่อกลับออกไปคนโบราณจะเรียกว่า “ทิด” แปลว่าคนสุก คือกิเลสถูกการบำเพ็ญตบะด้วยการทำความดีบ่มจนสุก แม้ยังไม่ถึงกับหมดกิเลส แต่จากดิบๆ กลายเป็นสุกแล้ว กลายเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความยับยั้งชั่งใจ เจอปัญหาอะไรก็มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ศึกษามาเป็นหลักในการแก้ไข คนอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คือเป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักในการดำรงชีวิต เจอปัญหาก็รู้ว่าควรจะแก้อย่างไร โดยเอาหลักธรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา สมัยโบราณใครบวชไม่ครบ 3 เดือน ไม่เรียกทิด ถ้าใครยังไม่เป็นทิดเวลาไปขอลูกสาว เขาไม่ให้ เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะมีคุณธรรมเพียงพอที่จะไปดูแลลูกสาวเขา

🔮คนโบราณฉลาดมาก สังคมจึงสงบร่มเย็นประเทศไทยจึงได้ชื่อว่าสยามเมืองยิ้ม ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ตอนนี้ชักยิ้มไม่ค่อยออกเพราะขาดธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเทศของเรามีทุนทางวัฒนธรรมที่มาจากรากฐานของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว หากบวชให้ถูกหลักเข้าพรรษาแล้วละก็ เราจะสามารถเอาความสงบร่มเย็นและความสมานฉันท์กลับคืนมาสู่บ้านเมืองของเราได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณและที่มา : เพจ สู้ด้วยบุญ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่