[รีวิว] Barbie - ไฮ้บาร์บี้ ไฮ้บาร์บี้ ไฮ้บาร์บี้ ไฮ้เคน ไฮ้เคน

กว่า 60 ปีมาแล้วที่ “บาร์บี้” เป็นตุ๊กตาตัวแทนสำหรับเด็กผู้หญิง ทั้งในแง่ความบันเทิง เสริมสร้างจินตนาการและสร้างแรงบันดาลใจเติมฝันให้กับหนูน้อยมาตลอดทุกยุคสมัย โดยบริษัทเจ้าของบาร์บี้อย่าง “แมทเทล” (Mattel) ก็พยายามปรับปรุงบาร์บี้ให้เข้ากับเด็กในแต่ละยุคและคำวิพากย์วิจารณ์ต่างๆ และมีสื่อต่างๆ มากมายที่นำเสนอเรื่องราวของบาร์บี้และผองเพื่อน แต่ก็น่าแปลกใจที่บาร์บี้ในฉบับภาพยนตร์คนแสดงนั้นต้องรอจนถึงปี 2023 ในขณะที่ฉบับอนิเมชั่นถูกผลิตมาแล้วมากกว่า 40 เรื่องเข้าไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2001

แน่นอนว่าเมื่อบาร์บี้อยู่ในมือของผู้กำกับหญิงอย่าง เกรต้า เกอร์วิค (Greta Gwerwig) แล้วย่อมไม่ธรรมดา เมื่อดูจากงานที่ผ่านๆ มา ทั้ง Lady Bird (2017) และ Little Women (2019) ฉบับรีเมค โดยเฉพาะอย่างหลังที่เข้าชิงออสการ์ไปถึง 6 สาขา (คว้าสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมมาได้) และหากมองลึกลงไปในรายละเอียดจะพบแนวคิดเชิดชูความเป็นหญิง (Feminist) โดดเด่นออกมาจากงานทั้งสองเรื่อง แล้วยิ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีวัตถุดิบเป็นของเล่นเด็กผู้หญิงแบบนี้ด้วยแล้ว ยิ่งเปิดโอกาสเกรต้าได้ปล่อยของกันแบบไม่ต้องยั้งมือเลยทีเดียว

Barbie ในมือของเกรต้า เกอร์วิค ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจและชวนให้ขบคิดตั้งแต่แรกว่า หากในดินแดนบาร์บี้แลนด์ที่แสนจะสมบูรณ์แบบ เต็มไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา ปัญหาทุกอย่างมีทางออกเสมอ ไม่มีเรื่องให้ต้องทุกข์หรือเดือดเนื้อร้อนใจ แต่แล้วกลับมีบาร์บี้พิมพ์นิยม (Stereotypical Barbie) คนหนึ่ง เกิดมีความคิดเรื่องความตายขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ไม่เพียงแค่นั้นรูปร่างของเธอก็เริ่มที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง มีเซลลูไลท์เกิดขึ้น และที่เป็นปัญหาโลกแตกที่สุด คือ เท้าของเธอแบนติดพื้น ซึ่งไม่ได้รับการยอดรับจากบาร์บี้คนอื่น บาร์บี้พิมพ์นิยมจึงต้องออกเดินทางสู่โลกแห่งความเป็นจริง (Real World) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าสิ่งที่บาร์บี้พิมพ์นิยม (Margot Robbie) ต้องเจอในโลกแห่งความเป็นจริงย่อมไม่สวยสดงดงามเหมือนที่ที่เธอจากมา ที่นี่มีผู้คนมากมาย มีกฏเกณฑ์และข้อห้ามต่างๆ และมีสิ่งที่ในบาร์บี้แลนด์ไม่มี นั่นคือ ความเสื่อมของร่างกาย ที่ทำให้ปัญหาเท้าแบนของบาร์บี้กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย น่าเสียดายที่ประเด็นนี้ถูกเล่าไวไปหน่อย(ช่วงต้นๆ เรื่อง) และไม่ได้ลงลึกมากถึงระดับปรัชญาหรือแก่นธรรมแต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร

เพราะมีสิ่งหนึ่งที่เกรต้า เกอร์วิค ตั้งใจจะลวงตาผู้ชมภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ของเหล่าตุ๊กตา นั่นก็คือ ระดับสติปัญญาของเหล่าบาร์บี้ที่น่าจะเทียบเท่ากับเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ (ขัดกับอายุของเหล่านักแสดงอย่างสิ้นเชิง) ซึ่งพูดอีกอย่างคือ เป็นสติปัญญาของเด็กๆ ผู้ครอบครองตุ๊กตา (และเล่น) ดังนั้น การพูดถึงเรื่องสังขารและความตายจึงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กวัยนี้และสำหรับบาร์บี้ด้วยเช่นกัน เธอจึงไม่เข้าใจในเรื่องนี้มากนักและทำได้แค่ยิ้มรับก่อนที่ภาพยนตร์จะขยับไปเล่าเรื่องอื่นต่อไป (ซึ่งหากขยี้ประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง เห็นทีสีชมพูของตัวหนังคงต้องหม่นจนกลายเป็นสีดำแน่)

เมื่อเรียนรู้การเป็นมนุษย์ ย่อมไม่ได้มีแค่เรื่องราวในระดับปัจเจกเพียงอย่างเดียว ในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคมการพูดถึงภาพในระดับสังคมจึงต้องมี และรู้สึกทึ่งที่เกรต้าและสามีผู้ร่วมเขียนบท โนอาห์ เบาม์แบก (Noah Baumbach) ได้สื่อสารประเด็นนี้ผ่านตัวตุ๊กตา เคน (Ryan Gosling) ที่ได้ติดตามบาร์บี้มาที่โลกแห่งความเป็นจริง และได้รู้จักกับ “ระบอบปิตาธิปไตย” (Patriarchy) ซึ่งเป็นสิ่งที่บาร์บี้แลนด์ไม่เคยมี (แหงละ เพราะบาร์บี้เป็นตุ๊กตาสำหรับเด็กผู้หญิง เคนจึงเป็นเหมือนไม้ประดับเท่านั้น และคงไม่มีเด็กผู้ชายมานั่งเล่นตุ๊กตา ส่วนใหญ่จะหันไปหา Lego มากกว่า) และเหมือนสิ่งนี้จะไปปลุกสัญชาตญาณความเป็นลูกผู้ชายให้กับเคน จึงทำให้เขานำสิ่งนี้กลับไปยังบาร์บี้แลนด์เพื่อปกครองและแสดงจุดยืน แต่คงเดาไม่ยากว่าผลจะจบลงอย่างไร

เท่านั้นไม่พอ นอกเหนือจากเรื่องเพศและสังคม เกรต้า เกอร์วิค ไม่ลืมที่จะจิกกัดระบบทุนนิยมที่น่ารังเกียจ ผ่านการจิกกัดบริษัทผู้ผลิตอย่างแมทเทลที่แม้จะผลิตของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง กลับมีแต่ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้ชายทั้งสิ้น และเรื่องราวอื่นๆ ทั้งความเป็นมาของบาร์บี้ หญิงผู้ให้กำเนิดบาร์บี้ ตุ๊กตาหญิงตั้งครรภ์ที่เกือบจะถูกแบนอย่าง มิดจ์ (Emerald Fennell) และ อัลลัน (Michael Cera) สามีของมิดจ์ ก็ถูกนำมาใส่เป็นมุกตลกในภาพยนตร์ด้วย และเรื่องราวในส่วนของการออกแบบงานสร้างที่น่าจะโดนใจสาวกบาร์บี้อย่างสุดซึ้ง ทั้งฉากที่เป็นบ้าน ชุดต่างๆ เสื้อผ้าหน้าผม ซึ่งต้องยอมรับว่าการเลือก มาร์โกต์ ร็อบบี มารับบทบาร์บี้พิมพ์นิยม คือตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดจริงๆ ในการขับเน้นทั้งรูปลักษณ์และการแสดง ทางด้าน ไรอัน กอสลิง ก็ทุ่มสุดเช่นกันในการสร้างสีสัน ความตลก และดำเนินเรื่อง

ด้วยความที่เล่าประเด็นต่างๆ เยอะมาก ทำให้แต่ละประเด็นถูกเล่าเพียงแค่แบบ “แตะๆ” และไม่ได้จริงจังถึงขั้นนำออกมาตีแผ่ วิพากย์และหาคำตอบ ตัวหนังยังคงความสนุกและสีสันจัดจ้าน ในลักษณะที่เป็นโลกของเด็กอายุน้อยๆ มองกัน จะติดก็ตรงที่ในช่วงท้ายๆ ความสนุกเริ่มแผ่วลงไปบ้างก็ตาม จนถึงบทสรุปที่ไม่ตราตรึงใจเท่าไหร่นัก
.
สรุป Barbie เป็นการหยิบเรื่องราวในทุกแง่มุมเท่าที่จะนึกได้ของบาร์บี้มาเล่าในโทนที่ไม่ซีเรียสหรือตึงเครียดจนเกินไป แต่ก็เป็นดาบสองคมที่ทำให้ไม่สามารถลงลึกในแต่ละประเด็นได้มากนัก และเหนือสิ่งอื่นใดในส่วนของงานสร้างบาร์บี้แลนด์ที่น่าตื่นตาเป็นอย่างมาก เหมือนเป็นการขยายจินตนาการของของเล่นวัยเด็กให้กลายเป็นจริงขึ้นมา พร้อมๆ กับตัวมาร์โกต์ ร็อบบี ที่เหมาะสมทุกประการในการรับบทเป็นบาร์บี้

Story Decoder
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่