บอกลากลิ่นกาย ด้วย สารส้ม โรลออน แป้ง ส่วนผสมไหนที่ระงับกลิ่นเต่าได้ดีกว่ากัน


          เคยสงสัยกันเหมือนเราไหมว่าทำไมคนเราต้องมีกลิ่นตัว หรือ กลิ่นเต่า เอาตามความเข้าใจส่วนใหญ่น่าจะมาจาก “เหงื่อ” เราเลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม อ่านเจอของทางกรมวิทยาศาสตร์บริการได้เขียนอธิบายไว้ว่า “กลิ่นตัว เกิดมาจากต่อมเหงื่อ ที่อยู่ทั่วทุกแห่งของร่างกาย โดยจะคอยสร้างเหงื่อเพื่อเป็นการช่วยระบายความร้อนให้กับร่างกาย เมื่ออุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงขึ้น หรือขณะที่เราออกกําลังกาย โดยเฉพาะบริเวณใต้รักแร้ ซึ่งเป็นจุดที่มีความอับชื้นและมีการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย จนเกิดกลายเป็นกลิ่นเหม็น”

          ทีนี้พอต่อมเหงื่อปะทะกับแบคทีเรีย จึงตู้มมม ออกมาเป็นกลิ่นตัว ! สิ่งที่ตามมาเพื่อขจัดปัญหานี้ก็คือ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย โดยเกือบจะทั้งหมดของตลาดบ้านเรา จะมาในรูปแบบโรลออน แป้งหรือสเปรย์ระงับกลิ่น ส่วนที่เหลือที่นิยมกันก็คือสารส้ม กระทู้นี้เลยจะชวนให้ทุกคนมาเปรียบเทียบถึงส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นทั้งหมด ว่ามันทำงานอย่างไรและมีผลต่อร่างกายเราในรูปแบบไหนบ้าง

          เริ่มกันที่ฝั่งโรลออน ซึ่งเจ้าตัวโรลออนเนี่ย ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย (Deodorant) ที่ได้รับความนิยมสุดอะไรสุด เพราะใช้งานง่าย หาซื้อง่าย พกพาสะดวก หลากหลายยี่ห้อให้เลือกสรร แถมยังมีการเติมแต่งกลิ่นและสารต่าง ๆ ที่ทําให้มีความน่าใช้เข้าไปอีก ซึ่งตรงนี้เราจะไม่พูดถึงส่วนผสมทั้งหมด เพราะแต่ละยี่ห้อก็คงจะประโคมมาไม่เหมือนกัน แต่ส่วนประกอบสําคัญที่เป็นตัวชูโรงเจ้าโรลออนนั้นก็คือ สารลดเหงื่อ ที่ชื่อว่า อะลูมิเนียม คลอโรไฮเดรต (Aluminium Chlorohydrate) โดยไอเจ้าสารเคมีตัวนี้มันจะทําปฏิกิริยากับรูขุมขน เพื่อระงับการทํางานของต่อมเหงื่อ ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ สังเกตกันจะรู้สึกเลยทันทีหลังใช้ว่าเต่าเราแห้งขึ้น นั่นแหละ การทำงานของอะลูมิเนียม คลอโรไฮเดรต

          ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินข่าวว่าการใช้โรลออนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม เพราะมีส่วนผสมของอะลูมิเนียม คลอโรไฮเดรตนี่แหละ แต่ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติก็ออกมายืนยันว่าเป็นข่าวปลอม ซึ่งเอาจริง ๆ ไอสารตัวนี้ที่เมืองนอกเค้าแบนกันไปเยอะแล้วนะ เหมือนมันส่งผลทางอ้อมที่ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม เป็นสารเคมีที่ประกาศว่าเป็นสารอันตรายและถูกกำหนดปริมาณการใช้ ซึ่งที่บอกว่าเป็นทางอ้อมก็เพราะว่า..

          ตัวสารแม้จะไม่มีฤทธิ์โดยตรงที่ทำให้ก่อเชื้อมะเร็ง แต่ก็มีคุณสมบัติที่ช่วยยับยั้งเหงื่อจากรูขุมขน
          1. เมื่อมันทำหน้าที่ระงับเหงื่อไม่ให้ออกมาได้แล้วนั้น เหงื่อจะไปไหนได้ล่ะ นอกจากไปรวมตัวและอุดตันกันอยู่ในผิวหนัง
          2. พอใช้มากเข้าทุกวัน ก็ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียและทิ้งสารตกค้างไว้ใต้วงแขน สาเหตุหนึ่งของรอยด่างดำ
          3. ใต้วงแขนอาจมีบาดแผลจากการโกนหรือถอน ยิ่งทำให้สารตัวนี้สามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปสะสมในร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น
          4. ท่อและต่อมต่าง ๆ ของบริเวณเต้านมมีส่วนเชื่อมต่อกับต่อมเหงื่อและรูขุมขนใต้วงแขน
          5. เมื่อเหงื่อไม่ถูกขับออก แบคทีเรียอุดตันสะสม จึงเกิดการจับตัวกับเกลืออลูมิเนียมและเชื้อจุลินทรีย์ที่แทรกตัวอยู่บริเวณผิวหนังใต้รักแร้ ประสานกับท่อและต่อมต่าง ๆ จึงทำให้มันก่อเชื้อโรคที่อาจนำไปสู่มะเร็งเต้านมได้

          และนอกจากเรื่องมะเร็งเต้านมแล้ว ล่าสุด เรายังอ่านเจอมาอีกว่า รายงานการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าอะลูมิเนียมที่สะสมเข้าร่างกายจากสารระงับเหงื่อมีผลต่อเนื้อเยื่อสมอง และพบสารเหล่านี้มากในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งส่งต่อไปในกระแสเลือดและทางเดินรกได้อีกด้วย ! คนก็เลยหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเหงื่อประเภทอื่น เช่น แป้งและสเปรย์แทน ปัจจุบันในต่างประเทศก็เริ่มมีการทำโรลออนที่เป็น Non-aluminium Chlorohydrate กันบ้างแล้ว ลองสังเกตที่ข้างขวดที่ใช้นะว่ามีคำนี้มั้ย ถ้ามีก็ปลอดภัยอีกระดับนึงเลยจ้า


          พอมาถึงเรื่องแป้ง ก็น่าสนใจตรงส่วนผสมตัวนึงที่ชื่อว่า “ทัลค์ (Talc)” หรือ “ทัลคัม (Talcum)” ถ้าผู้หญิงเรา ๆ เอามาใช้โรยบริเวณน้องสาวเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ถ้าใครจำได้ ข่าวเมืองนอกที่มีผู้หญิงฟ้องร้องแป้งยี่ห้อนึง ที่เค้าใช้ทาน้องสาวเป็นเวลานานจนทำให้เค้าเป็นมะเร็งรังไข่ แล้วเค้าฟ้องชนะด้วยนะ แป้งยี่ห้อนั้นเลยต้องจ่ายเงินชดเชยมหาศาล แถมผงแป้งที่ลอยอยู่ในอากาศ ถ้าสูดดมเข้าไปนานเข้าจะเกิดการสะสมเป็นก้อนในปอด ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ส่วนในเด็กทารกอาจทำให้ปอดอักเสบและตายได้ คนเป็นภูมิแพ้ก็จะยิ่งทำให้อาการกำเริบอีกต่างหาก เท่ากับว่าใครชอบใช้แป้งระงับกลิ่นล่ะก็ ต้องระวังเจ้าส่วนผสมตัวนี้ให้มาก ก่อนซื้อต้องเช็คให้ละเอียดว่ามี ทัลคัมเป็นส่วนผสมหรือไม่

          มาต่อกันที่สารส้ม ก็เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม Back to basic แบบปลอดภัยหายห่วง เรารู้จักกันมาตั้งแต่สมัยประถมในวิชาทดลองวิทยาศาสตร์ เนื่องจากคุณสมบัติอันโดดเด่นในเรื่องเอาไปแกว่งให้น้ำใส หาข้อมูลมาได้ว่าสารส้มแบ่งได้ 3 แบบคือ
          – อะลูมิเนียมซัลเฟต ลักษณะเป็นก้อนผงสีขาว
          – แอมโมเนียมอะลั่ม ลักษณะเป็นผลึกใสไม่มีสี
          – โพแทสเซียมอะลั่ม ลักษณะเป็นผลึกใสไม่มีสี

          ซึ่งทุกประเภทสามารถนำไปใช้ประโยชน์แบบเดียวกันได้ แต่อาจถูกทำให้สับสนกับชื่อสารเคมีด้านบนได้ เพราะว่ามีชื่อเรียกคำแรกที่เหมือนกันคือ Aluminium Sulphate แต่สารส้มเป็นอลูมิเนียมที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย เพราะว่า..
          1. สารส้มที่ทำมาเป็นผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายนั้น ส่วนใหญ่ถูกทำมาในรูปแบบของผลึกใส ช่วยลดกลิ่นและแบคทีเรีย
          2. สารส้มผลึกใสเป็นประจุลบ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีส่วนผสมของครีมหรือน้ำมัน
          3. จึงไม่สามารถผ่านผนังเซลล์ผิวหนังได้ ไม่อุดตันรูขุมขน ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้าง
          4. ทำให้ปลอดภัยต่อร่างกาย ไม่เปื้อนเสื้อผ้า และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
          5. ช่วยลดกลิ่นและแบคทีเรีย จึงสามารถนำสารส้มมาใช้กำจัดกลิ่นตัวได้ 100% นานถึง 24 ชั่วโมง และยังถ่วงการเกิดกลิ่นได้ไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง

          แต่เดี๋ยวนี้อาจจะหาสารส้ม 100% ก็มีแค่บางแบรนด์เท่านั้น เพราะต้องระวังเรื่องส่วนผสมของสี กลิ่นหรือน้ำหอม เวลาจะหาซื้อควรเลือกที่มีส่วนประกอบของ อะลูมิเนียมซัลเฟต โพแทสเซียมอะลั่ม หรือแอมโมเนียมอะลั่ม (ที่เราพูดถึงข้างบน) ในปริมาณที่มากที่สุด เพื่อผลลัพธ์ที่โอเคและไม่มีอันตรายต่อรักแร้


          สรุปง่าย ๆ กลไกการเกิดกลิ่นตัวของคนเรานั้นมาจาก ต่อมเหงื่อ ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างเหงื่อกับแบคทีเรีย วิธีการแก้ไขไม่ให้มีกลิ่นตัวที่เราทำได้ คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเหงื่อเพื่อลดสาเหตุของการเกิดกลิ่น ไม่ว่าจะเป็น โรลออน แป้งหรือสารส้ม

          แต่ใด ๆ ก็ตาม เราคิดว่าการใช้โรลออน หรือ สารส้มเป็นแค่ตัวช่วยในช่วงเวลาสั้น ๆ คนที่มีกลิ่นตัวควรใช้วิธีการระงับกลิ่นโดยการรักษาสุขอนามัยให้สะอาด อาบน้ำด้วยสบู่เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกลิ่นตัวเป็นประจำ เพราะแม้ว่าสารส้มจะช่วยระงับกลิ่น แต่มันก็ไม่ได้กำจัดเชื้อราเด้อ ดังนั้นใครบอกไม่มีเหงื่อ ตัวไม่เหม็น ไม่ต้องอาบน้ำอย่าไปเชื่อ เพราะไม่งั้นอาจมีโรคผิวหนังประเภทอื่น ๆ เกิดขึ้นแทนกลิ่นเต่าเอาได้นะจ๊ะ

ข้อมูลอ้างอิง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่