ประวัติ พระจักขุบาล" น่าอ่านมาก สอดแทรกพระธรรมดีๆเอาไว้เยอะ

กระทู้คำถาม
เนื้อเรื่องตามความเห็น2คับ
เว้นวรรคอ่านง่าย

ไม่ลายตาขอบคุณท่านทำหมู

😊🙏🙏
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
เรื่อง "พระจักขุบาล" (ตอนที่ ๑/๒)

(ข้อมูลจาก หนังสือ "ทางแห่งความดี")
(เรียบเรียงโดย อ.วศิน อินทสระ)

ท่านเล่าเรื่องประกอบพระพุทธภาษิตนี้ไว้ว่า พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ที่วัดเชตวันวิหาร เพราะปรารภเรื่องพระจักขุบาลมีเรื่องโดยย่อว่า ในเมืองสาวัตถี มีพี่น้องสองคน เป็นบุตรคนมั่งคั่ง คนพี่ชื่อ "มหาบาล" คนน้องชื่อ "จุลบาล" วันหนึ่งมหาบาลผู้พี่ได้ติดตามคนทั้งหลายไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา วันนั้นพระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยอันงามของมหาบาลแล้ว
ทรงหลั่งพระธรรมเทศนามุ่งมหาบาลเป็นสำคัญ ทรงเทศนาอนุปุพพิกถา ๕ คือ

๑. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน
๒. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีล
๓. สัคคกถา ว่าด้วยความสุขในสวรรค์
๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษและความต่ำทรามของกาม
๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกาม

เมื่อจบเทศนา มหาบาลได้ความรู้ ความแจ่มแจ้งในธรรม เห็นว่าบุตรธิดา และทรัพย์สมบัติเป็นของไม่ยั่งยืน คลุกเคล้าไปด้วยทุกข์และโทษ แม้สรีระของตนเองก็ติดตามไปไม่ได้ ต้องถอดทิ้งไว้ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ในการอยู่ครองเรือน ควรบวชอย่างพระศาสดา เขาเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระศาสดาตรัสถามว่ามีใครที่เขาจะต้องบอกลาบ้าง เขาทูลว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัส ให้ไปบอกลาน้องชายเสียก่อน จุลบาลน้องชายไม่เห็นด้วยในการบวชของพี่ชาย มีความเห็นว่า ยังอยู่ในวัยอันควรบริโภคกาม อันเป็นรสอร่อยอย่างหนึ่งของโลก ถ้าจะบวช ก็ค่อยบวชเมื่อแก่

แต่มหาบาลผู้พี่ กลับมีความเห็นว่า "บวชเมื่อแก่ แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดี ได้อย่างไร มือเท้าและอินทรีย์ต่างๆ ไม่อำนวย กำลังวังชาถดถอย สมณกิจเป็นภาระหนักเหมาะแก่คนมีกำลังวังชาดี จะทำให้บริบูรณ์ได้ ดูพระบรมศาสดานั่นเถิด ทรงสละราชสมบัติออกผนวชตั้งแต่พระชมอายุเพียง ๒๙ พรรษา ยังหนุ่มแน่นเหมือนกัน" น้องชายจะห้ามเท่าไร มหาบาลก็หาฟังไม่ เมื่อบวชแล้วได้อยู่กับอาจารย์จนครบ ๕ พรรษา ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว ปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของบรรพชิตให้สิ้น จึงเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึง ความหมายของ ธุระในศาสนา ๒ ประการ คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ

คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยตามสมควรแก่ปัญญาของตน แล้วบอกกล่าวกันต่อๆไป ส่วน วิปัสสนาธุระ นั้นคือ การพิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จนสามารถบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด พระศาสดาตรัสบอกกรรมฐาน ให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอ ที่จะบรรลุอรหัตตผลได้ เสมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรเพียงพอแก่การข้ามทางกันดาร

พระมหาบาลทูลลาพระศาสดา แล้วเที่ยวหาเพื่อนภิกษุที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันเพื่อไปสู่เสนาสนะป่า ได้เพื่อนร่วมเดินทาง ๖๐ รูป เดินทางไปห่างเชตวันวิหาร ๑๒๐ โยชน์ ถึงปลายแดนหมู่บ้านใหญ่ตำบลหนึ่ง ตอนเช้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านได้เห็นอาการอันน่าเลื่อมใสของพระทั้งหลาย จึงช่วยกันสร้างที่อยู่อาศัย ให้เรียบร้อย พระก็เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในหมู่บ้านทุกเช้า ในหมู่บ้านนั้นมีหมอใจบุญคนหนึ่ง ได้ปวารณาตัวว่า หากมีพระรูปใดเจ็บไข้ได้ป่วยขอให้บอก เขาจะรักษาให้โดยไม่คิดค่ายา ค่ารักษาแต่ประการใด

เมื่อวันเข้าพรรษามาถึง พระมหาบาลระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ไม่ทรงโปรดปรานผู้ประมาท เพราะความประมาท ประตูแห่งอบาย ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จึงตั้งใจจะอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน และนั่ง เว้นอิริยาบถนอน และพระมหาบาลก็ได้ทำตามนั้น หนึ่งเดือนผ่านไป โรคตาก็เกิดขึ้น น้ำตาไหลออก จากตาทั้งสองของท่านอยู่ตลอดเวลา ภิกษุทั้งหลายทราบเข้าก็ร้อนใจ ไปตามหมอซึ่งปวารณาเอาไว้ หมอได้รีบประกอบยาถวายท่าน แต่ท่านไม่ยอมนอนหยอด คงนั่งหยอดยา อาการจึงไม่ดีขึ้น
ทั้งๆ ที่ยาที่หมอประกอบให้นั้น เป็นยาดีมาก ที่เคยรักษาคนไข้มา หยอดเพียงครั้งเดียวก็หาย

หมอประหลาดใจมาก จึงเข้าไปสืบให้รู้ดูที่อยู่ของท่าน เห็นมีแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่มีที่นอน เพราะพระมหาบาล ตั้งใจไว้ว่า จะไม่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษา จึงไม่ต้องการทำลายความตั้งใจ แม้ตาทั้งสองจะแตก จะทำลายก็ยอม แต่จะไม่ยอมทำลายความตั้งใจ ท่านคงนั่งหยอดยาทางจมูกอยู่นั่นเอง หมอรู้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ โรคของพระ ไม่อาจระงับได้ เกรงเสียชื่อของตน จึงขอท่านอย่าได้พูดกับใครว่า เขาเป็นหมอรักษาท่าน แล้วไม่ยอมรักษาต่อ จนในที่สุด ดวงตาของท่านก็แตก พร้อมกับการดับ โดยสิ้นเชิงแห่งกิเลสทั้งปวง ท่านเป็น "พระอรหันต์สุกขวิปัสสก" ผู้หนึ่ง ดวงตาเนื้อของท่านดับสนิทลง
ทันใดนั้นดวงตาคือปัญญาก็พลุ่งโพลง แจ่มจรัสขึ้น บริสุทธิ์ ไร้มลทิน

เมื่อถึงเวลาออกบิณฑบาต เห็นจะเป็นเพราะตาท่านบอดลงทั้งสองข้าง คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า "จักขุบาล" แทน "มหาบาล" อันเป็นชื่อเดิมของท่าน เมื่อท่านได้ทำกิจของท่านเสร็จแล้ว หน้าที่ที่เหลืออยู่ก็คือ โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายให้สำเร็จมรรคผล ท่านได้ทำหน้าที่นั้น จนภิกษุทั้งหลายได้ สำเร็จอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ในพรรษานั้นเอง เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต้องการไปเฝ้าพระศาสดา ณ วัดเชตวัน จึงเรียนให้พระจักขุบาลทราบ ท่านคิดว่า ถ้าท่านจักเดินทางร่วมไปด้วย
จะเป็นความลำบากแก่ภิกษุทั้งหลาย หลายประการ ท่านจึงบอกอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นเดิมทางไปก่อน
และขอฝากกราบพระบาทแห่งพระศาสดาด้วยเศียรเกล้า พร้อมด้วยฝากนมัสการพระมหาสาวกทั้งหลาย

อนึ่งหากพบน้องชาย ก็จงเล่าความเป็นไปของท่านให้เขาทราบ เขาจักสั่งใครคนใดคนหนึ่งมารับ ก็จักเดินทางไปสาวัตถีกับบุคคลผู้นั้น ภิกษุเหล่านั้น เตรียมเก็บบริขารอันควรเก็บแล้วไปลาชาวบ้านผู้มีอุปการะ ต่อตนแล้วมุ่งหน้าสู่สาวัตถี ไปยังบ้านของจุลบาลน้องชายของพระเถระ และแจ้งข่าวให้ทราบ
จุลบาลจึงให้หลานชายบวชเป็นสามเณร ฝึกกิริยาอยู่ประมาณ ๑๕ วัน แล้วบอกทางส่งไปรับพระเถระ สามเณรไปถึงหมู่บ้านนั้น มีชาวบ้านผู้ใจอารีคนหนึ่งนำไปหาพระเถระ สามเณรแจ้งเรื่องทั้งปวง ให้พระจักขุบาลทราบ พักอยู่ประมาณ ๑๕ วันจึงชวนพระเถระกลับสาวัตถี

พระจักขุบาลส่งปลายไม้เท้าให้เณรจูงเข้าไปสู่หมู่บ้านก่อน เพื่อลาชาวบ้านผู้มีอุปการะ ชาวบ้านทราบ ความประสงค์ของท่านแล้วอ้อนวอนให้อยู่ แต่ไม่สำเร็จเพราะ พระจักขุบาล เป็นคนใจแข็ง มีความตั้งใจจริง ท่านตั้งใจอย่างไร ท่านทำอย่างนั้นเสมอมา นับตั้งแต่ตั้งใจออกบวช-ออกอยู่ป่า-ตั้งใจไม่นอน ๓ เดือน
จุลบาลน้องชาย ต้องส่งหลานชาย โดยให้บวชเป็นสามเณร เดินทางมารับท่านกลับไปเมืองสาวัตถี
ระหว่างทางที่สามเณรหลานชาย จูงพระเถระมาถึงแนวป่าใกล้ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขตเมืองสังกัฏฐะ
เธอได้ยินเสียงหญิงหักฟืนคนหนึ่งร้องเพลง มีความกำหนัดพอใจในเสียง จึงปลีกตัวจากพระเถระ แล้วเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงนั้น

พระจักขุบาล จึงขับไล่สามเณรหลานชายให้ไปเสีย จากการจับปลายไม้เท้าของท่าน เพราะเห็นว่าสิ่งที่ สามเณรหลานชายทำลงไปนั้นชั่วเกินไป ท่านไม่ปรารถนาเดินตามหลังคนชั่ว แม้สามเณรจะเปลื้องจีวรออก นุ่งห่มผ้าขาวอย่างคฤหัสถ์ แล้วอ้อนวอนให้เดินทางต่อไปกับตน แต่ท่านก็ไม่ยอม พร้อมกล่าวว่า

"คฤหัสถ์ชั่วก็ตาม บรรพชิตชั่วก็ตาม ก็ชื่อว่าชั่วเหมือนกัน เธอนั้นดำรงตนอยู่ในเพศอันสูง ควรหลีกห่างจากความชั่ว ก็ยังเว้นความชั่วไม่ได้ ไม่สามารถประพฤติแม้แต่ศีลให้สมบูรณ์ เมื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอจะเป็นคนดีได้อย่างไร เธอมีรั้ว ยังทำลายรั้วออกไป เมื่อไปอยู่ในเขตอันไม่มีรั้ว เธอจะระเริงหลงสักเพียงใด
อย่าเลย, อย่าจับปลายไม้เท้าของฉัน ฉันไม่ต้องการเดินทางร่วมกับคนอย่างเธอ"

ต่อจากนี้ตำนานเล่าว่า ท้าวสักกะซึ่งเป็นหัวหน้าเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ เกิดร้อนใจ เพราะเดชแห่งศีลของพระเถระ จึงทรงเล็งแลลงมายังโลกมนุษย์ได้เห็นพระจักขุบาลเถระกำลังลำบาก จึงเสด็จลงมาช่วยนำทางไปเมืองสาวัตถี โดยปลอมองค์เป็นคนเดินทางไกลมาพบพระเถระ แล้วอาสาจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง เพื่อให้เป็นเหตุแห่งบุญ สักประการหนึ่งใน ๑๐ ประการ นั่นคือ ไวยาวัจจมัย บุญอันได้จากการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ พระเถระรู้ได้ทันทีว่า บุคคลผู้นั้นเป็นสัตบุรุษจึงส่งปลายไม้เท้าให้ ออกเดินทางมุ่งสู่สาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล และได้ถึงสาวัตถีในเย็นวันนั้น

ตำราว่า ท้าวสักกระย่นแผ่นดินให้สั้นเข้า เมื่อพระเถระมาถึงสาวัตถีเร็วเกินกว่าที่ท่านคิด ท่านจึงถามผู้นำทางว่า ทำไมจึงถึงเร็วนัก ท่านผู้นั้นบอกว่าเขารู้ทางตรง พระเถระจึงรู้ว่าผู้นั้นไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นเทพเจ้า คนดีมีศีลธรรม มีใจสะอาด เมื่อลำบากย่อมได้รับการช่วยเหลือจากเทวดา เป็นผู้อันเทวดาอุปถัมภ์ค้ำชู
ท้าวสักกะผู้นำทางนั่นเองได้พาพระจักขุบาลไปยังศาลาที่น้องชายของท่านสร้างไว้
แล้วเข้าไปบอกจุลบาลว่า พระเถระพี่ชายมาแล้ว จุลบาลมาหาพระเถระเห็นพี่ชายตาบอดทั้งสองข้าง
ไม่อาจกลั้นความโศกได้พร้อมทำเด็กทาสสองคนให้เป็นไท คือปลดปล่อยจากความเป็นทาส แล้วให้บวชเณรอยู่ปรนนิบัติพระเถระ

เย็นวันหนึ่ง ภิกษุหลายรูปมาจากต่างถิ่น มาสู่วัดเชตวันเพื่อเฝ้าพระศาสดา เที่ยวเดินชมสถานที่ต่างๆ อยู่มาถึงที่ของพระจักขุบาล บังเอิญฝนตก จึงพากันกลับที่อยู่ของตน ตั้งใจว่า ตอนเช้าจะมาใหม่ คืนนั้นฝนตกในปฐมยามหยุดในมัชฌิมยามพวกแมลงค่อมทองลงเล่นบนพื้นดินที่ฝนตกใหม่
พอปัจฉิมยาม พระจักขุบาลเถระก็ลงจงกรม ท่านเยียบเอาแมลงค่อมทองตายไปมาก ตอนเช้าพวกศิษย์ของท่านยังไม่ทันกวาดที่จงกรม พวกภิกษุอาคันตุกะก็มาเยี่ยม เห็นแมลงค่อมทอง ตายเป็นอันมาก จึงถามว่าเป็นที่จงกรมของใคร เมื่อรู้ว่าเป็นที่จงกรมของพระจักขุบาล จึงติเตียนว่า

"ดูเถิด จงดูกรรมของสมณะ เมื่อตายังดีอยู่มั่วนอนหลับเสีย ไม่ทำสมณธรรมอันควรทำ พอตาบอดแล้ว จึงขยันจงกรม ทำสัตว์ให้ตายเสียเป็นอันมาก คิดว่าจักทำประโยชน์กลับทำสิ่งอันไร้ประโยชน์"

ภิกษุเหล่านั้นกลับไปเฝ้าพระศาสดา ทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสถามว่า เห็นพระจักขุบาลเหยียบสัตว์หรือ "ไม่เห็นพระเจ้าข้า" "ดูก่อนภิกษุ ! เธอไม่เห็นจักขุบาลเหยียบสัตว์ฉันใด
จักขุบาลไม่เห็นสัตว์ทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมไม่เจตนาฆ่าสัตว์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่