ชีวิตคนทำงานออฟชอร์อ่าวไทย - 10 เรื่องที่คนนอกเข้าใจผิด (ตอนที่ 1)

หลังจากรวบรวมวัตถุดิบจากแฟนเพจได้ประมาณหนึ่ง ก็จะขอเริ่มบทความนี้เลยนะครับ หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่รู้ๆอยู่ หรือ เข้าใจผิดกันอยู่โดยทั่วไป ผมก็จะขยายที่มาที่ไป บางเรื่องอาจจะฟังแปลกๆ ขำๆ แต่มันก็เกิดขึ้นในบางมุมมองของบางสังคม ผมก็ไม่มีคำอธิบาย ก็ฟังไปขำไปล่ะกัน

   บอกก่อนว่า ตอนเริ่มเขียน ยังไม่ได้นับว่าจะมีกี่เรื่อง แต่ใส่ 10 เรื่องไว้ก่อน ทำให้เหมือนข่าวล่อคลิ๊กที่เขานิยมกัน ไม่ต้องแปลกใจว่า ตอนจบ ทำไมนับไปนับมา เกิน 10 หรือ ไม่ถึง 10 ... (ฮ่า)

เริ่มจากเรื่องยอดฮิตก่อน เรื่อง รวย เงินเยอะ

   1. คนทำงานนอกชายฝั่งรวย - เรื่องนี้ต้องขยายความอย่างเป็นวิชาการอย่างนี้ครับ

   ในบริบทของการวิเคราะห์เรื่องรายได้ งานนอกชายฝั่งมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ งานนอกชายฝั่งจริงๆ ไม่มีทำบนฝั่ง เช่น floor man, derrick man, mud engineer เป็นต้น กับ งานที่มีทำบนฝั่งแต่มาทำนอกชายฝั่ง เช่น พนักงานวิทยุ พ่อครัว ช่างทาสี พนักงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรเครื่องกล (mechanic) ช่างไฟฟ้า (electrician) เป็นต้น

   เรื่องรายได้นี่ ถ้าอธิบายด้วยหลัก "มูลค่าของงาน - job value" แบบที่ HR ชอบใช้อธิบาย ก็จะดราม่า และ ตีกันตาย ผมจะอธิบายด้วยเศรษฐศาสตร์ กฏอุปสงค์ อุปทาน ก็แล้วกัน

   งานกลุ่มแรก รายได้สูงแน่ๆ เพราะเป็นงานเฉพาะ คนทำได้ทำเป็นมีน้อย แต่ถ้าอุตสาหกรรมขาลงก็นะ ไปทำงานอย่างเดียวกับบนบกไม่ได้ เพราะไม่มีงานเดียวกันบนบก

   งานกลุ่มที่สอง ไม่สามารถเทียบรายได้กับงานกลุ่มแรกได้ แต่รายได้สูงกว่างานเดียวกันบนบกแน่ๆ เพราะมีค่าความลำบากลำบนบวกเข้าไป บางทีก็บวกเข้าไปในเงินเดือนฐานเลย บางทีก็จ่ายต่างหากรายวันก็ว่ากันไป

   ดังนั้น อย่าบ่นว่า งาน และ ความเป็นอยู่การเดินทาง ลำบากกว่าเพื่อนที่ทำงานเดียวกันบนบก แต่รายได้จะมากกว่างานเดียวกันบนบกแค่ไหน ก็ว่ากันไปตามอุปสงค์อุปทานของตลาดอาชีพนั้นๆในเวลานั้น

   เทียบระหว่างกลุ่มงานไปแล้ว คราวนี้มาดูมิติเวลาบ้าง ที่คนนอกคิดว่าพวกเรารวยๆอู้ฟู่กันนั้น อาจจะเป็นเพราะภาพจำในอดีต สมัยที่คนไทยไปขุดทองที่ซาอุฯ ไปไม่กี่ปี กลับมา ไถ่นา ซื้อควาย ซื้อปิ๊กอัพ ปลูกบ้าน แต่งเมีย

   ผมเทียบเป็นข้อๆแบบนี้ล่ะกัน

1. ความลำบาก - ด้วยเทคโนโลยี (กิน อยู่ เดินทาง หลับนอน สื่อสาร ฯลฯ) ระบบการจัดการ ความเปิดกว้างทางความคิด และ อื่นๆ ความลำบากน้อยกว่าสมัยก่อนมากๆ (มีสรุปเล่าจากแฟนเพจผมท่านหนึ่ง ท้ายโพสต์)

พอความลำบากน้อยลง ช่องว่างของรายได้ก็จะน้อยลงตาม

2. ตลาดอาชีพใหม่ๆ - ด้วยเทคโนโลยีอีกนั่นแหละ อาชีพใหม่ๆ คณะฯ สาขาวิชาฯ ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย 20 กว่าปีหลังมานี่ น่าสนใจกว่า

งานสบายกว่า รายได้พอๆกัน หรือ ไล่ๆขึ้นมาทันกัน คนที่เลือกได้จึงเลือกที่จะทำงานบนฝั่งมากกว่า รายได้จากงานออฟชอร์จึงไม่เป็นที่จูงใจ

อีกปัจจัยที่ผมจะขอแทรกไว้ในข้อนี้ คือ อนาคตของอุตสาหกรรมเราที่คนมักคิดว่า อุตสาหกรรมนี้ไม่มีอนาคต กำลังอยู่ในขาลง พลังงานทดแทนกำลังมา บลาๆ ทำให้คนไม่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ (ความเข้าใจนี้ถูกหรือผิดอย่างไร เป็นอีกเรื่อง ไว้คุยกันทีหลังต่างหากอีกตอนหนึ่ง)

เราอาจจะตั้งคำถามว่า ... งั้นทำไมงานออฟชอร์ไม่ขึ้นรายได้ให้สูงขึ้น จะได้ดึงคนกลับมา ... คำตอบอยู่ในข้อถัดไป

3. ทัศนคติ - สมัยหลังๆ เงินไม่ใช่ทุกอย่าง คนเน้นความสมดุลของชีวิตมากขึ้น (work life balance) 

"เอาหลังตากแดดเป็นนิจคิดคำนวณ รู้ถี่ถ้วนจึงสบายเมื่อปลายมือ" ... สุภาษิตอิศรญาณ

สมัยผมทำงาน ค่านิยมคือ ลำบากตอนหนุ่ม สบายตอนแก่ ดังนั้น จึงมาทำงานลำบากๆห่างไกลครอบครัว ไกลความเจริญ เก็บเงิน แล้วหวังว่าตอนแก่จะสบาย หวังความสำเร็จปลายทาง ยอมเสียสละความสุขไปบ้างระหว่างทาง

คนสมัยนี้อยากทำงานไปด้วย มีชีวิตสบายๆอยู่กับครอบครัว ได้ใช้เงิน ใช้ชีวิต ไปด้วย มีรายได้โอเคๆไปด้วย เน้นความสุขระหว่างการเดินทางสำคัญเท่าๆกับความสำเร็จปลายทาง

ไม่มีใครคิดผิด แค่เลือกที่จะคิดต่างไป ทำต่างไป

คิดง่ายๆ ถ้ามีงานที่รายได้น้อยกว่าไปลำบากลำบนออฟชอร์สัก 20 - 30% แต่ ได้ใช้ชีวิต มีเวลาอยู่กับครอบครัว ได้ทำงานอดิเรกที่รัก พบปะเพื่อนฝูง ดูแลพ่อแม่

ถ้าเลือกได้คนส่วนใหญ่จะเลือกแบบหลัง ดังนั้น ต่อให้ขึ้นรายได้งานออฟชอร์สักหน่อยก็คงดึงคนเหล่านี้มาไม่ได้ ต้องขึ้นแบบเยอะๆจริงๆทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งมันก็ทำไม่ได้ในเชิงธุรกิจในทางปฏิบัติ (เจ๊ง อะดิ)

4. การแข่งขันทางธุรกิจ - สมัยก่อน มี บ. ผู้สำรวจและผลิต บ.service บ.แท่นฯ และ บ.ขายของในอุตฯ อยู่ไม่กี่เจ้า ราคาน้ำมันดิบก็ดี การแข่งขันทางธุรกิจต่ำมากๆ กำไรดีว่างั้น คนอยากมาทำงานด้วยเยอะ เพราะรายได้ดี ยังลำบากลำบนอยู่ (เบี้ยกันดารสูง) บ. ในอุตสาหกรรมก็ยังไม่รัดเข็มขัดเข้มนัก เรียกว่าปล่อยประละเลยค่าใช้จ่ายพนักงานมาก จริงๆก็ละเลยหลายๆส่วน รั่วไหลอู้ฟู่กัน แต่ก็ยังกำไร

แต่พอมาสมัยนี้ ตลาดพลังงานเปลี่ยนไป มี บ. เข้ามาเล่นมากขึ้น ทั้ง บ.น้ำมัน บ.service บ.แท่นฯ บ. ขายวัสดุอุปกรณ์ แปลงร่าง แบ่งร่าง ขยาย ควบรวม มั่วไปหมด แต่ก่อนผมเคยจำได้ไม่ยากว่าไผเป็นไผ แต่เดี๋ยวนี้ มึนไปหมด ยังไม่นับ เด็กพี่สี ณ.แดนมังกร ที่เกลื่อนตลาด

ภาษาเศรษฐศาสตร์ คือ ผู้เล่นมากขึ้น กำไรส่วนเกินก็น้อยลง คราวนี้ก็ต้องหันมาดูค่าใช้จ่ายต่างๆล่ะว่า ตรงได้ ลด ละ เลิก ได้

เอาง่ายๆ เบี้ยกันดาร แต่ก่อนเท่าไรเท่านั้น ไม่เคยเปลี่ยน เดี๋ยวนี้ ส่อง ประเมิน ปรับ กันทุกปี (ทุกครึ่งปีด้วยในบาง บ. ผมได้ยินมานะ)

แน่อนครับ ปรับลดลง เศร้า เพราะโดยมาก การกินอยู่ หลับนอน เดินทาง การสื่อสาร มักจะดีขึ้น สบายขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะว่าเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามาช่วย

5. สมัยก่อน น้ำมันมีเยอะกว่านี้ ขุดหาไม่ยาก ขุดตื้นๆ ขุดง่ายๆ ขุดใกล้ๆ สมัยนี้ ที่หาได้ก็ใช้ไปเยอะ ขุดหาก็ยากขึ้น ต้องขุดพลิกแพลง ขุดยาก ขุดไกลๆมากขึ้น ต้นทุนมันก็สูงขึ้น กำไรมันก็น้อยลง ก็ต้องรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่าย บลาๆ

สรุปว่า ... เมื่อเวลาผ่านไป อุตสาหกรรมเราหล่อและสวยน้อยลง ไม่ดึงดูดแรงงานเหมือนสมัยก่อน แต่ไม่สามารถขึ้นค่าแรงให้สู้กับอุตสาหกรรมหรืองานเกิดใหม่ได้

ด้วยปัจจัยที่ว่า 5 อย่างนั้น ทำให้รายได้ของพวกเราที่ทำงานนอกชายฝั่ง ไม่อู้ฟู่หรูหราดังเดิม

ชักยาว นี่แค่ข้อแรกนะ ข้อต่อไปขอไปต่อโพสต์หน้าล่ะกัน

พ่อน้องเฟิร์นและน้องภัทร

https://www.facebook.com/nongferndaddy/

ปล. ต่อท้ายด้วยประสบการณ์แฟนเพจ ฝากไว้ในช่องความเห็นโพสต์ก่อนหน้า จะทำให้พวกเราเห็นภาพประกอบได้ดีขึ้น ว่าสมัยรุ่นดิจิตอลตอนต้น ชีวิตเป็นอย่างไร (ส่วนผมน่ะ อยู่มาตั้งแต่สมัยรุ่นอนาล็อกเฟื่องฟู 555)

อธิบายคำศัพท์เฉพาะในวงการนิดนึง

แอลคิว = LQ = Living Quater ส่วนที่พัก ปกติก็ใช้ได้ทั้งบนบกและในทะเล แต่ในที่นี่หมายถึง living platform ที่อยู่กลางทะเล

ชอปเปอร์ = เฮลิคอปเตอร์

ริก = drilling rig (แท่นขุดเจาะปิโตรเลียม)

FSO = Floating Storage and Offloading (vessel - เรือเก็บ ขนย้าย ส่ง ปิโตรเลียม)

CPP = Central Production Platform (แท่นผลิตปิโตรเลียม)

Hotsheet = เตียงที่นอนร่วมกัน (shared bed) sheet ในที่นี่คือผ้าปูที่นอน hotsheet คือ ผ้าปูที่นอนยังร้อน(อุ่น)อยู่ เพราะคนก่อนหน้าเพิ่งลุกไปทำงาน เราก็ต้องรีบใช้เตียงนอนทันที (มีเวลาจำกัดให้นอน)

Remote = remote wellhead plaform คือ แท่นปากหลุมที่มีแต่แท่นเล็กๆกับหลุม อยู่โดดเดี่ยวห่างไกล ไม่มีที่พักอาศัย คนงานบางส่วนต้องนั่งเรือ หรือ ฮ. ไปทำงาน ไปเช้าเย็นกลับ ห่อข้าวไปทาน

(ตัดต่อ ย่อหน้า แก้ไขตัวสะกด)

-----------

เวลาที่หายไปแลกกับรายได้ที่สูงกว่า ถ้ายี่สิบกว่าปีก่อนมันก็คุ้มค่าถ้าเทียบกับงานประเภทเดียวกันบนฝั่ง อาจจะมากกว่า 3-8 เท่าแล้วแต่ที่ ตำแหน่งเดียวกันงานชนิดเดียวกัน ค่าตัวอาจจะต่างกันถึงสามเท่า

หนังสือพิมพ์บนบกอ่านกันแล้วเป็นอาทิตย์ ในทะเลถึงจะได้อ่าน ถ้าไม่มีชอปเปอร์ไปลง โดนฝากไปประจำ เป็นตั้งๆ รวมถึงนิตยสารต่างๆ แอลคิวอ่านหมดแล้ว ก็ติดกระเป๋าไปอ่านที่รีโมทเวลาว่างหรือรอเรือมารับ

กลับมาถึงแอลคิวหลังสามทุ่ม ได้ทานอาหารไฮโซ หรือ ไม่ก็ไข่เจียว นั่งรอสักครึ่งชั่วโมง รอเตาร้อน เน็ตทั้งอ่าวไทย ใช้ด้วยกันกว่าพันคน ช้ากว่าเน็ตบ้านแบบความเร็วต่ำสุด แชทได้อย่างเดียว ส่งรูปส่งไฟล์ หมดสิทธิ์

ถ้าจะส่งดาต้า ต้องตัดเป็นหลายๆไฟล์ หรือไม่ก็ส่งแค่หัวข้อไป โหลดทิ้งเอาไว้ในเซิฟเวอร์ แล้วไปนอน ล็อกหน้าจอทิ้งเอาไว้ เขียนกระดาษแปะเอาไว้ ว่าเครื่องกำลังส่งข้อมูลอยู่ ตอนเช้าตีสี่ค่อยมาเช็ค

โทรศัพท์คิวยาวเป็นหางว่าว คุยได้แค่สิบนาที ตัดสาย ไปรอต่อคิวใหม่ นอนห้องล่ะสี่คน เข้าห้องน้ำต้องต่อคิว ปวดท้องหนักก็โชคราย วิ่งหาห้องน้ำ

ถ้าปรกติชั้นสามส่วนใหญ่จะมีหลายห้อง ถ้าได้นอนห้อง วีไอพี ก็โชคสองชั้น แปดคน ใครนอนกรน เพื่อนก็รับกรรมกันไป

แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างดีขึ้นมาก ใกล้เคียงกับบนฝั่ง ไม่โหดเหมื่อนเมื่อก่อน เมื่อก่อน 12+4 ไม่เสร็จไม่เลิกทำ เวลาไม่พอก็ไห้เพื่อนไปแตะมือ กลับมาถึงแอลคิววิ่งไปหาอินเตอร์เน็ตก่อนเลย บอกไห้เพื่อนตักข้าวใว้ไห้ด้วย เดี๋ยวตามไปกินๆเสร็จ อาบน้ำ ลงมาทำงานต่อ ไม่ไหวก็ไปนอน

แต่เรื่องจริงชีวิตจริง นอนไม่ได้ เค้านั่งรอดาต้ากันอยู่ ตอนเช้าขอออกสายๆ หรือไม่ออกไป ถ้าเค้าโอเค ก็ไปนอนต่อไห้มันพอแปดชั่วโมง ค่อยว่ากัน

นั่งชอปเปอร์ ไม่ได้สนุกสนานอย่างที่คิด ทั่งเขย่า ทั้งร้อน ถ้าเจอตัวใหญ่รุ่นเก่า ต้องเดินผ่านทางขึ้น ปลายท่อเจ็ต ร้อนมากๆ เคยนั่งนานสุดๆรวดเดียว ไม่มีพักเกือบสองชั่วโมง ก้นชาไปหมด ตอนข้ามไปเจาะสำรวจที่เวียดนาม

ตอนนี้ถ้าเทียบเงินที่ได้กับเวลาที่เสียไป ไม่ค่อยคุ้มกันแล้ว ถ้ามาหาประสบการณ์ โอเค ตำแหน่งงานที่เงินดีๆ เหลือน้อยมากแล้ว

สมัยก่อนบวกโน้นบวกนี่สารพัดเงินออกเห็นเงินแล้วชื่นใจ หายเหนื่อย , สมัยนี้ ตัดโน้น ตัดนี่ ตัดนั้น เงินเดือนออก เห็นแล้ว ถอนหายใจ

------------

เห็นภาพสมัย 25 ปีก่อนเลยครับ ผมใช้เวลา 3 ปี กับ 2 Contractor และ 22 ปี กับ 2 Permanent staff จะเห็นภาพของรายได้คร่าวๆ(ความลับ)และหน้าที่ความรับผิดชอบหลายๆแผนก ความเป็นอยู่ ความก้าวหน้าที่ต่างกัน(ความจริง)ในหลายๆตำแหน่งโดยเฉพาะคนที่ทำงานที่ Complex (CPP1+CPP2+Wellhead1+LQ1+LQ2)

รายได้มีตั้งแต่ 500 บ.ต่อวันไปจนถึง 10,000 บ.ต่อวันสำหรับ Contractor ส่วน Staff มีตั้งแต่ 26,000 ต่อเดือนไปจนถึง 3 แสนต่อเดือน Bonus มีทั้ง 0 เดือนและ 2 เดือน บางบริษัท 4 - 8 เดือน อยู่ที่ตำแหน่งและอายุงาน ความรับผิดชอบ

สิ่งที่เกือบจะเท่าเทียมกันคืออาหารการกิน ส่วนไข่เจียวตามสั่งเป็นเมนูที่หากินยากมากๆสำหรับบางแท่นผลิตเพราะทำนอกเวลาและเกินสัญญาที่ Camp boss ต้อง back charge ส่วนใหญ่จะมาม่า หรือ โทรมาให้เก็บไว้ขากลับจาก Remote สวรรค์เมนูอาหารที่ 1 เลยน่าจะอยู่ที่ FSO Tanker กับ Rig เจาะ ที่เค้าให้ความสำคัญมากๆ

ส่วนห้องนอนมีทั้ง 1 คน 2 คน 4 คน 6 คน 20 คน Hotsheet แล้วแต่แผนก นอนข้ามแผนก นอนปนกันจะมีปัญหาบ้างเพราะทำงานคนละกะ ตื่นและรอนคนละเวลา นอนๆอยู่มีสัญญาณเตือนไฟไหม้ อุบัติเหตุ ทั้งจริงและหลอก(เสีย)

ครอบครัวที่ทางบ้านต้องเห็นใจและเข้าใจพ่อบ้าน แม่บ้าน ที่ทำงานที่ Complex ด้วยถ้าเค้าไม่ว่าง และ เหนื่อยจากการทำงาน Wifi ไม่ได้เปิด โทรหา ติดต่อไม่ได้ ไม่ต้องน้อยใจเป็นเรื่องธรรมดาของชาว Offshore ทั้ง Complex, Rig, Tanker, Services boat ครับ กลับบ้านค่อยไปปรับความเข้าใจกัน

--- ต่อ ความเห็นที่ 1 นะครับ โพสต์ได้ไม่เกิน 10000 คำ -----
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่