ลักษณะของจตุตถฌาน หรือฌาน 4

ลักษณะของจตุตถฌาน หรือฌาน 4

          ฌาน 4 เป็นระดับสมาธิสูงสุดใน รูปฌาน เป็นบาทฐานสำคัญสำหรับการเจริญวิปัสสนาเพื่อฆ่ากิเลสโดยการพักจิตให้เต็มอิ่ม เหมือนการชาร์จพลังเมื่อจิตอิ่มแล้ว จะถอนลงมาที่ฌาน 3-2-1 และอุปจารสมาธิตามลำดับ จิตจะมีพลัง มีปัญญาสว่างไสว เป็นอุเบกขา ปราศจากการครอบงำของอวิชชาชั่วคราว

         ในทางโลกุตรธรรมเมื่อพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกายก็จะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด ฆ่ากิเลสจนหมดสิ้นเกิดเป็นปัญญารู้แจ้ง พัฒนาสู่การเป็นพระอริยบุคคล

          ส่วนโลกียธรรมนั้น ฌาน 4 เป็นบาทฐานในการฝึกอภิญญา ในการเจริญกสิณทั้ง 10 กอง ให้ถึงฌาน 4 ดวงกสิณจะเปลี่ยนเป็นแก้วประกายพรึก ใสส่องสว่าง จะเกิดทิพยอำนาจ เกิดหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิต รู้อดีต อนาคต เห็นเทวดา ผีสางนางไม้ นรก สวรรค์ ในทางวิทยาศาสตร์ คือ การจูนคลื่นความถี่ของจิตให้ตรงกัน หรือ จะใช้ฌาน 4 ในการเจริญอรูปฌาน 4 ในระดับสมาธิที่ละเอียดต่อไปก็ได้

           ลักษณะอาการสำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าฌาน 4 สังเกตุได้จาก

         สำหรับผู้ที่บริกรรม เมื่อจิตสงบตั้งมั่นจิตจะทิ้งคำบริกรรมเอง แต่จิตยังสงบตั้งมั่นไม่ต้องสนใจคำบริกรรม รู้ได้อย่างไร คือ เมื่อกลับไปบริกรรมจิตจะไม่สงบเท่ากับดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียวให้เปลี่ยนมาอยู่กับลมหายใจแทนดูลมหายใจเข้าออกแทน

           หลังจากนั้นปีติจะเด่นขึ้นมาก ประกอบด้วย ขนลุกขนพอง น้ำตาไหล ตัวโยกโคลง ตัวหดตัวขยาย ซาบซ่านไปทั้งตัว แต่ละคนมีปีติและความรุนแรงไม่เหมือนกันไม่ต้องสนใจปีติให้กลับมาที่ลมหายใจ

        เมื่อทิ้งปีติได้จะเกิดบรมสุข ไม่มีสุขใดในชีวิตนี้เทียบเท่าเอาสุขทั้งชีวิตมารวมกันก็ไม่เท่า 1 ใน 1000000 ของสุขนี้ หลายคนจะอยู่ที่สุข ตรงนี้ ไม่ต้องสนใจสุขอีกเช่นกันกลับมาที่ลมหายใจ

        ลมหายใจหยาบจะเปลี่ยนเป็นลมหายใจละเอียด คือ แนบชิด สม่ำเสมอ ละเอียดอ่อนนุ่มเบาสบาย ลมหายใจจะค่อยๆละเอียดลงเรื่อยๆ เหมือนค่อยๆดับไป หลายคนถึงตรงนี้กำลังสติไม่พอจะเกิดอาการกลัว ตาย คิดว่าตนไม่หายใจ ถอนออกจากสมาธิ น่าเสียดายมาก เกือบจะถึงที่หมายแล้ว อีกแค่นิดเดียว เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติควรถวายชีวิต ปฏิบัติธรรมบูชาพระพุทธเจ้า จะตายก็ช่างมัน เราได้ปฏิบัติธรรมบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว จะข้ามสถาวะนี้ไปได้

       ถ้าข้ามอาการกลัวตายไปได้ ลมหายใจจะดับสนิทเหมือนไม่มีลมหายใจ เมื่อไม่มีหายใจ กายสังขารก็ดับสนิท ไม่รับรู้ถึงกายอีกต่อไป เมื่อไม่มีกายสังขาร ความคิด ความสุข ความทุกข์ ปีติก็ไม่เกิดขึ้น
เหลือแต่สติผู้รู้ จิตตั้งมั่นเด่นขึ้นมาเป็น เอกัคคตา ท่ามกลางความว่าง สถาวะนี้ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็น อุเบกขา อย่างยิ่ง ถ้าท่านทำกรรมฐานด้วยวิธีกสิณ ดวงกสิณท่านจะเปลี่ยนเป็นแก้วประกายพรึก ใสส่องสว่าง ระยิบระยับสวยงามมาก เมื่อถึงสภาวตามกล่าวนี้ คือท่านบรรลุ จตุตถฌาน หรือ ฌาน 4 แล้ว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่