รายการ พบหมอศิริราช ตอน โรคมะเร็งเต้านม

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เรื่อง:
โรคมะเร็งเต้านม
บทคัดย่อ:
        ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบที่พบบ่อยที่สุดของมะเร็งในผู้หญิงที่ทำให้กังวลและกลัวกันมาก ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อการตรวจหาความผิดปกติด้วยตัวเอง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและสามารถรักษาได้ทันท่วงที อ.ดร.พญ.วราภรณ์ อิ่มฤทัยเจริญโชค ภาควิชาศัลยศาสตร์ มาอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้

มะเร็งเต้านม
 
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
           มะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ที่ทำให้กังวลและกลัวกันมาก ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญต่อการตรวจหาความผิดปกติด้วยตนเอง หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและสามารถรักษาได้ทันท่วงที 
            สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณของท่อน้ำนม หรือในต่อมน้ำนมที่มีการเจริญเติบโตและควบคุมไม่ได้ จนอาจเกิดเป็นแผลแตกบริเวณผิวหนังเหนือก้อน หรือมีการกระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองที่อวัยวะข้างเคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือบริเวณไหปลาร้า
           ปัจจัยเสี่ยง ที่พบบ่อยในปัจจุบัน คือ มีประวัติทางด้านพันธุกรรมของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือโรคมะเร็งรังไข่ในครอบครัว หรือมีประวัติการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการคุมกำเนิด หรือเพื่อรักษาภาวะวัยทองเป็นระยะเวลานาน ๆ จะช่วยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
            ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติที่บริเวณเต้านม เช่น การคลำได้ก้อนบริเวณเต้านม ไม่ว่าจะเป็นก้อนแข็ง ก้อนนิ่ม ก้อนราบเรียบหรือก้อนขรุขระ รวมไปถึงอาการบวม แดง มีผิวหนังดึงรั้งหรือบุ๋มลง รวมไปทั้งหัวนมที่มีการรั้งลงกว่าปกติ มีเลือดออกหรือมีน้ำไหลออกจากบริเวณหัวนม ควรรีบมาพบแพทย์
            แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อหาความผิดปกติ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการส่งตรวจพิเศษทางเต้านม เช่น การทำอัลตราซาวด์ และแมมโมแกรม หลังจากพบความผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อให้ทราบการวินิจฉัยของมะเร็งเต้านม
            เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม การรักษาส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการผ่าตัด  สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ รวมถึงการผ่าตัดเอาเต้านมออก  และอาจทำร่วมกับการสร้างเต้านมใหม่แทนเต้านมเดิมที่ถูกตัดออกไป ซึ่งการรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของตัวโรค โดยแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมแก่ผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้คุณภาพชีวิตและการรักษาของผู้ป่วยดีที่สุด
            ทั้งนี้การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ยังคงมีความสำคัญที่ช่วยในตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพราะฉะนั้นควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำเดือนละครั้ง ตรวจด้วยท่ายืนหรือท่านอนก็ได้ โดยยกแขนข้างที่ต้องการตรวจเต้านมขึ้น หลังจากนั้นใช้มือฝั่งตรงข้ามคลำและวนไปรอบ ๆ เต้านมให้ทั่วบริเวณเต้านม รวมทั้งบีบบริเวณรอบฐานนมว่ามีน้ำออกมาจากหัวนม หรือสังเกตว่ามีความผิดปกติที่ผิวหนังร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าพบความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยได้ทันท่วงที

ผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่
 
ผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่
ผศ.นพ.สืบวงศ์  จุฑาภิสิทธิ์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 
          ในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ของโรงพยาบาลศิริราช ที่เข้ามารักษามะเร็งเต้านมมากกว่า 1,000 ราย และเนื่องจากโรคมะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของหญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 จึงทำให้แพทย์ค้นหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย  

        การรักษามะเร็งเต้านม  มีทั้งการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด  และการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้   โดยตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกและตามด้วยการฉายรังสีรักษาหลังผ่าตัดแล้ว  ซึ่งโดยปกติจะทำการฉายรังสีบริเวณเต้านมส่วนที่เหลืออีกเป็นระยะเวลา  25 - 30  ครั้ง

          ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ ในปัจจุบันมีการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่ ที่รวมการผ่าตัดและฉายรังสีรักษาไว้ด้วยกัน เป็นการฉายรังสีรักษาโดยตรงบริเวณเนื้อนมโดยรอบก้อนมะเร็งทันทีในห้องผ่าตัดขณะที่ผู้ป่วยสลบอยู่  ขั้นตอนการรักษาเริ่มจากการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกบางส่วนแทนการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ตามด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งออก จากนั้นฉายรังสีรักษาเข้าไปในตำแหน่งที่เอาก้อนมะเร็งออก 

          การรักษาด้วยวิธีนี้ ทำให้การกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสีรักษามีความแม่นยำมากขึ้น ลดปริมาณรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติ ลดภาวะแทรกซ้อนต่อผิวหนังภายนอก ทำให้ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลง และเพิ่มโอกาสการหายจากโรค และที่สำคัญคือ สามารถลดความลำบากของผู้ป่วยในการมารับบริการการฉายรังสี ทำให้ผู้ป่วยไม่เสียเวลา และลดค่าใช้จ่ายลงอีกด้วย

          สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ จะต้องมีอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป และเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น  โดยที่ขนาดก้อนมะเร็งต้องเล็กกว่า 2 ซ.ม. รวมถึงไม่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง และมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง 

          จากประสบการณ์ 2 ปี   ที่โรงพยาบาลศิริราชเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 50 รายด้วยวิธีนี้ พบว่า ผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีอัตราการเกิดโรคซ้ำต่ำ  และยังพบว่าภาวะความสวยงามของเต้านมภายหลังการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีมากถึงดีเลิศ
 
          อย่างไรก็ตาม  การป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและทำได้ ด้วยการเริ่มตรวจเต้านมตนเองตั้งแต่อายุ  20 ปี ขึ้นไป และตรวจเป็นประจำ  คือ การดูด้วยตาและการคลำด้วยมือ  ที่สำคัญผู้หญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไป  ควรตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับการตรวจอัลตราซาวนด์  ถ้ามีอาการผิดปกติต่างๆ ที่เต้านมไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใด  ควรไปพบแพทย์ทันที

ท่านสมาชิกชาวพันทิป เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม เคยเป็นหรือไม่เคยมาก่อน ? มีจริงครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่