🌷🤍🌷 นิทานชาดก ๐๕๘ (นันทิวิสาลชาดก) : โคนันทิวิสาล 🌷🤍🌷

กระทู้คำถาม


          ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภการพูดเสียดแทงให้เจ็บใจของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าคันธาระครองเมืองตักศิลาแคว้นคันธาระ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคมีนามว่า นันทิวิสาล เป็นโคที่มีรูปร่างสวยงาม มีพละกำลังมาก มีพราหมณ์คนหนึ่งได้เลี้ยงดูและรักโคนั้นเหมือนลูกชาย โคนั้นคิดจะตอบแทนบุญคุณการเลี้ยงดูของพราหมณ์ ในวันหนึ่งจึงได้พูดกับพราหมณ์ว่า
          "พ่อ จงไปท้าพนันกับโควินทกเศรษฐีว่า โคของเราสามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มที่ผูกติดกันให้เคลื่อนไหวได้ พนันด้วยเงินหนึ่งพันกหาปณะเถิด"
          พราหมณ์ได้ไปที่บ้านเศรษฐีและท้าตกลงกันตามนั้น โดยนัดเดิมพันกันในวันรุ่งขึ้น

          ในวันเดิมพัน พราหมณ์ได้เทียมโคนันทิวิสาลเข้าที่เกวียนเล่มแรก เพื่อลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มผูกติดกันซึ่งบรรทุกทราย กรวดและหินเต็มลำ แล้วขึ้นไปนั่งบนเกวียน เงื้อปฏักขึ้นพร้อมกับตวาดว่า
          "ไอ้โคโกง โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้"
          ฝ่ายโคนันทิวิสาลเมื่อได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้น ก็คิดน้อยใจว่า
          "พราหมณ์เรียกเราผู้ไม่โกง ว่าโกง ผู้ไม่โง่ ว่าโง่" จึงยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว
          ทำให้พราหมณ์แพ้พนัน โควินทกเศรษฐีจึงเรียกให้พราหมณ์นำเงินหนึ่งพันกหาปณะมาให้ตนแล้วกลับบ้านไป

          ฝ่ายพราหมณ์ผู้แพ้พนันเงินหนึ่งพันกหาปณะ ปลดโคแล้วก็เข้าไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ในบ้าน ส่วนโคนันทิวิสาลเมื่อเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจเช่นนั้น จึงเข้าไปปลอบและกล่าวว่า
          "พ่อ ฉันอยู่ในเรือนของท่านตลอดมา เคยทำภาชนะอะไรแตกไหม? เคยเหยียบใครๆ เคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่อันไม่ควรหรือไม่? เพราะเหตุใด ท่านจึงเรียกเราว่า โคโกง โคโง่ ครั้งนี้เป็นความผิดของท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของฉัน บัดนี้ ขอให้ท่านไปเดิมพันกับโควินทกเศรษฐีใหม่ด้วยเงินสองพันกหาปณะ ขออย่างเดียวคือท่านอย่าได้เรียกฉันว่า โคโกง โคโง่ ท่านจะได้ทรัพย์ตามที่ท่านปรารถนา ฉันจะไม่ทำให้ท่านต้องเศร้าเสียใจ"
          พราหมณ์ตกลงทำตามที่โคนันทิวิสาลบอก

          ในวันเดิมพัน พราหมณ์จึงพูดด้วยคำที่อ่อนหวานว่า
          "นันทิวิสาลลูกรัก เจ้าจงลากเกวียนทั้งร้อยเล่มนี้ไปเถิด"
          โคนันทวิสาลฟังแล้วก็ได้ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกันด้วยการออกแรงลากเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เกวียนเล่มสุดท้ายไปตั้งอยู่ที่เกวียนเล่มแรกอยู่ ทำให้พราหมณ์ชนะพนันด้วยเงินสองพันกหาปณะ

          พระพุทธองค์เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้วก็ทรงตรัสว่า
          "ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าคำหยาบ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน" แล้วได้ทรงตรัสพระคาถาว่า
          "บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจไม่ว่ากาลใดๆ เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ โคนันทิวิสาลจึงได้ลากสัมภาระอันหนักได้ ทั้งยังทำให้พราหมณ์ผู้นั้นได้ทรัพย์อีกด้วย ส่วนตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจเพราะได้ทำการช่วยเหลือนั้น" 


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากมีสี

( ที่มา: หนังสือชาดกและประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา โดยพระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt317.php )

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่