กระทรวงวัฒนธรรมจัดงานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ๒๕๖๖


วธ.จัดงานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ๒๕๖๖
เชิญชวนประชาชนร่วม “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล”
เผยแพร่ความงามอัตลักษณ์ความเป็นไทย รองรับการขึ้นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ


วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารวธ. พร้อมเครือข่าย เข้าร่วมแสดงมุทิตาจิตในกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” เพื่อสืบสานอัตลักษณ์ความงดงามของประเพณีวัฒนธรรมไทย ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวแสดงมุทิตาจิตในกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมและผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” ด้วยกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย โดยในประเพณีนี้มีพิธีสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เพื่อแสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพรัก เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสมานฉันท์ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งยังถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแด่ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ให้แก่องค์กรและประชาชนทั่วไป อีกด้วย

“ปี ๒๕๖๖ นี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่องค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย "สงกรานต์ใประเทศไทย" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ นี้ ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมฯ รายการที่ ๔ ของประเทศ ต่อจาก โขน นวดไทย และโนรา จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่คุณค่าสาระ อัตลักษณ์ความงามของสงกรานต์ ประเพณีที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยม ได้เกิดการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย” นายอิทธิพล กล่าว

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม


นายคเณศ เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช ๒๕๖๐ ผู้แทนศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวอวยพรเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ว่า ในนามของศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้มีโอกาสมาร่วมให้พรในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ระลึกถึงและมาร่วมกันแสดงมุทิตาจิตในวันนี้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นหลังให้ความสำคัญ และระลึกถึงผู้อาวุโส โดยการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรศิลปินฯ นี้ เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความกตัญญูกตเวที ที่มีต่อผู้ใหญ่ และครูอาจารย์ ทำให้เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มและมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง

“ในวาระสงกรานต์ปีใหม่ไทย จึงขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก และขออำนาจคุณพระศรี-รัตนตรัย จงดลบันดาลให้ทุกท่าน จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความรักความสามัคคีให้แก่กัน และร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ สืบไป” นายคเณศ กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีศิลปินแห่งชาติ ทั้ง ๓ สาขา ร่วมพิธี อาทิ นายคเณศ เค้ามูลคดี  นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์  นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์  นายเสวต เทศน์ธรรม  นายสมเศียร พานทอง  นายบุญเลิศ นาจพินิจ  นายชัยชนะ บุญนะโชติ  นางสาววนิดา พึ่งสุนทร  นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี  นายสุประวัติ ปัทมสูต  นางพิสมัย วิไลศักดิ์  นางรัจนา พวงประยงค์  นายนคร ถนอมทรัพย์  ศ.พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์  นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง  นายปัญญา วิจินธนสาร  
นางชมัยภร บางคมบาง  ศ.เกียรติคุณ วิชัย สิทธิรัตน์  นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี  นายวินัย พันธุรักษ์  นายปี๊บ คงลายทอง  นางสุดา ชื่นบาน  ศ.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร  นายนพพล โกมารชุน  นายวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์  นางผ่องศรี วรนุช  นายสิงห์คม บริสุทธิ์  นายวิรัช อยู่ถาวร  นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ  นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง  นายธงชัย รักปทุม และ พันโทวิชิต โห้ไทย  โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม  ทายาทศิลปินแห่งชาติ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม เข้าร่วมร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ รวมถึงผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม  เพื่อร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันงดงาม เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย  ซึ่งการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพรัก อันจะช่วยสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแด่ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้อาวุโสให้แก่องค์กรและประชาชนทั่วไป  และ บริเวณหน้างานยังมีนิทรรศการให้ความรู้ คุณค่า สาระ แนวทางปฏิบัติเนื่องในประเพณีสงกรานต์ อีกด้วย


นอกจากนี้ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ยังได้เชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๖ ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดังนี้

๑) งาน “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ในวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร กิจกรรมประกอบด้วย พิธีสรงน้ำพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พิธีรดน้ำขอพรผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและคณะทูตานุทูต การแสดงทางวัฒนธรรมไทย การสาธิตอาหารไทยและขนมไทย การสาธิตการละเล่นเด็กไทย การก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น

๒) งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๖ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สนับสนุนกิจกรรม ดังนี้ การแสดงทางวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงดนตรีไทย (จากโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์) การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง (โดยแม่ครูบัวผัน สุพรรณยศ สถาบันส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) การแสดงพื้นบ้านภาคใต้มโนราห์ (โดยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาสวิหาร) การแสดงพื้นบ้านภาคเหนือและการแสดงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โดยสถาบันวัฒนธรรมฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และ กิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรม อาทิ การสาธิตเครื่องหอมไทยในเทศกาลสงกรานต์ การสาธิตข้าวแช่ชาววัง และมะยงชิดลอยแก้ว  การสาธิตงานหัตถศิลป์ปีใหม่ไทย : พัดบุหงา / บุหงารำไป / มาลัยผ้าเช็ดหน้า / การพับใบเตยหอม   การสาธิตกวนกาละแม  การสาธิตการละเล่นสะบ้ามอญ/บ่อนสะบ้า  การสาธิตการทำตุงไส้หมู (ภาคเหนือ)  การสาธิตการทำมาลัยกรจากผ้าขาวม้า (ภาคกลาง) และการสาธิตการทำลูกปัดโนรา-สืบสานตำนานโนราเติม วิน วาด (ภาคใต้)


๓) งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 8 - 15 เมษายน ๒๕66 ประกอบด้วย สรงน้ำพระพุทธรูป การออกร้านอาหารไทย สินค้าและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย  กิจกรรมทางน้ำ (เรือเป็ด) ในคลองผดุงฯ สนับสนุนการแสดงพื้นบ้าน ๔ ภาค ดังนี้ ระหว่าง ๑๒ - ๑๕ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๗.๐๐ - ๑๗.๓๐ น. วันที่ ๑๒ การแสดงพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  วันที่ ๑๓ การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง (สมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) วันที่ ๑๔ การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ (บ้านรักศิลป์) วันที่ ๑๕ การแสดงพื้นบ้านภาคเหนือ (โรงเรียนสืบสาน ศิลปวัฒนธรรมล้านนา วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร กรุงเทพฯ)

๕) สนับสนุนสภาวัฒนธรรม ๕๐ เขต ในกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระประเพณีสงกรานต์ กับสำนักงานเขต ๕๐ เขต ของกทม. ในช่วงประเพณีสงกรานต์

๖) ในส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายจังหวัด จัดงาน “สืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ใน ๖ จังหวัด ได้แก่  

-จังหวัดเชียงใหม่ “สืบสานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองวิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ๑๒-๑๕ เม.ย. ๖๖ ณ วัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่

-จังหวัดขอนแก่น “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” ๑๒ - ๑๖ เมษายน ๒๕๖๖ ณ เฮือนโบราณวิถีไทบ้านขอนแก่น หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น 

-จังหวัดชลบุรี ประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน ๑๖-๑๗ เม.ย. ๖๖ ณ บริเวณชายหาดบางแสน และ วัดจุฑาทิศธรรม อำเภอเกาะสีชัง

-จังหวัดสมุทรปราการ ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ระหว่าง ๒๑-๒๓ เม.ย. ๖๖ ณ ลานที่ว่าการอำเภอพระประแดง

-จังหวัดนครศรีธรรมราช งานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร(วิถีพุทธ-พราหมณ์) ๑๓-๑๔ เม.ย. ๖๖ และ

-จังหวัดกระบี่ สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล วันที่ ๑๐-๑๑ เมษายน ๒๕๖๖ ณ บริเวณศาลากลางจังหวัด อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่


และ สวธ. ยังได้จัดพิมพ์หนังสือสงกรานต์ 2566 ในแบบ ๒ ภาษาไทยและอังกฤษ เผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าในประเพณีสงกรานต์ให้คนไทยและชาวต่างชาติ โดยสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และข้อมูลทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
และ line@วัฒนธรรม 

พาพันเคลิ้มพาพันซนพาพันอาบน้ำ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่