การเข้ามาของการแพทย์แบบตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมกับมิชชันนารีชาวอเมริกัน แตกต่างกับการเข้ามาของการแพทย์ตะวันตกในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น การแพทย์มีความก้าวหน้าไปมาก จากการค้นพบกระบวนการสันดาปของอังตวน ลาวัวร์ซิเอร์ การคิดค้นเครื่องมือต่าง ๆ ในทางการแพทย์อย่าง เช่น หูฟัง เทอร์โมมิเตอร์ หรือ การค้นพบเชื้อโรค หรือการผ่าตัดที่พัฒนาไปอย่างมากในอเมริกา ด้วยประสบการณ์ในการรักษาผู้ที่บาดเจ็บจากการรบในสงครามกลางเมือง
แพทย์มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามได้นําเอาความรู้สมัยใหม่ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 18-19 นี้เข้ามาด้วย และได้แสดงความสามารถราวกับเป็นหมอผู้วิเศษ ให้ชาวสยามได้ประจักษ์ในหลายเรื่อง ตัวอย่างที่โดดเด่นเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การผ่าตัดครั้งแรกในเมืองไทยที่หมอบรัดเลย์เขียนไว้ในบันทึกของตนไว้ว่า เป็นการผ่าก้อนเนื้อเหนือคิ้วของชายชาวจีนผู้หนึ่ง
ในเวลาต่อมา หมอบรัดเลย์ได้ทําการผ่าตัดใหญ่เป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2380 เนื่องจากเจ้าพระยาพระคลังจัดงานฉลองวัดประยุรวงศาวาส ปืนใหญ่ที่ใช้ยิ่งไฟพะเนียง เกิดระเบิดขึ้น ทําให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด เจ้าพระยาพระคลังจึงได้เรียกหมอบรัดเลย์ที่อยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุมาทําการรักษาคนบาดเจ็บ แต่มีผู้สมัครใจยอมให้หมอบรัดเลย์รักษาเพียง 2 คนเท่านั้น ส่วนมากไปรักษากับหมอไทย มีภิกษุรูปหนึ่งที่บาดเจ็บถึงขั้นกระดูกแขนแตกยอมรับการรักษา หมอบรัดเลย์จึงทําการตัดแขนผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ
หมอบรัดเลย์ได้สรุปไว้ในบันทึกของตนเองว่า คนไทยไม่มีความรู้เรื่องการผ่าตัด และพระสงฆ์ ที่ผ่านการรักษาโดยการผ่าตัดไม่นานก็หายดี แม้ว่าตอนนั้นจะไม่มียาสลบหรือยาชาสําหรับการผ่าตัด และยังอ้างด้วยว่าคนที่ได้รับการรักษาจากมิชชันนารีหายดีหมด แต่คนที่ไม่ยอมรักษาตายเพราะบาดแผลเป็นจํานวนมาก
หมอหลวง เกร็ดประวัติศาสตร์ 13 มกราคม 2380 หมอบรัดเลย์ “ผ่าตัดใหญ่” เป็นครั้งแรกในไทย