ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระสารีบุตรผู้ให้ศีลแก่ทุกคนที่ตนพบเห็น แต่ไม่ค่อยมีคนรักษาศีล ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์เมืองพาราณสี มีชื่อว่าการันทิยะ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มแล้วได้ไปศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกศิลา ได้เป็นหัวหน้าคณะศิษย์อาจารย์ของเขา อาจารย์นั้นได้ให้ศีลแก่คนพบเห็นทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวประมงชาวนาผู้ไม่ขอศีลเลย โดยบอกว่า "ท่านทั้งหลายจงรับศีล รักษาศีลนะ" ปรากฏว่าคนเหล่านั้นก็ยอมรับศีลแต่ไม่ได้รักษา เมื่ออาจารย์ทราบเรื่องจึงมักบ่นให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เป็นประจำว่า "อ้ายพวกนี้ ไม่รู้จักทำคุณงามความดี รับศีลไปแล้วก็ไม่รู้จักรักษา"
อยู่มาวันหนึ่ง มีชาวบ้านแห่งหนึ่งมาเชิญให้ไปสวดพิธีพราหมณ์ อาจารย์จึงเรียกการันทิยะมาพบแล้วมอบให้เป็นหัวหน้าคณะไปแทนตน และได้กล่าวกำชับว่า "การันทิยะ ฉันจะไม่ไปนะ มอบให้เธอเป็นหัวหน้าพาหมู่คณะไป แต่อย่าลืมนำส่วนของฉันมาด้วยล่ะ"
เมื่อการันทิยะพาคณะไปแล้ว ขากลับมาได้พากันนั่งพักผ่อนอยู่ข้างเขาลูกหนึ่งใกล้สำนักเรียน เขาคิดหาวิธีที่จะเตือนสติอาจารย์ให้เลิกให้ศีลคนทั่วไป ให้รู้จักให้ศีลแก่ผู้ที่ขอเท่านั้น เดินไปเห็นซอกเขา ฉุกคิดขึ้นมาได้ จึงจับก้อนหินโยนลงไปที่ซอกเขานั้น พวกศิษย์คนอื่น ๆ เห็นจึงถามว่าทำอะไร? ก็ไม่ยอมบอก พวกลูกศิษย์จึงพากันกลับสำนักเรียนไปบอกอาจารย์
อาจารย์พอมาถึงที่นั้นก็ถามขึ้นว่า "การันทิยะ จะมีประโยชน์อะไรกับการทิ้งก้อนหินลงไปในซอกเขานี้ เจ้าทำไปทำไม?"
การันทิยะตอบว่า "ผมจักทำแผ่นดินให้เรียบเสมอกันดังฝ่ามือครับอาจารย์"
อาจารย์ "เธอคนเดียวย่อมไม่สามารถถมหุบเหวให้เต็ม ทำแผ่นดินให้ราบเรียบได้หรอก เกรงว่าเธอตายไปก็ยังทำไม่ได้"
การันทิยะ "ถ้าผมคนเดียวไม่สามารถทำแผ่นดินให้ราบเรียบเสมอกันได้ อาจารย์ก็ไม่สามารถทำมนุษย์ผู้มีทิฏฐิต่าง ๆ กันให้มีศีลธรรมเสมอกันได้เช่นกันนะ ขอรับ"
อาจารย์ได้ฟังแล้วกลับได้สติ รู้ว่าตนคิดเห็นผิดแล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
"การันทิยะ เจ้าได้บอกความจริงแก่เรา ข้อนี้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ แผ่นดินนี้มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้ราบเรียบได้ ฉันใด เราก็ไม่อาจทำมนุษย์ทั้งหลายให้มาอยู่ในอำนาจของเราได้ ฉันนั้น"
นับตั้งแต่วันนั้น อาจารย์ก็เลิกให้ศีลแก่ผู้ไม่ขอศีล ให้ศีลเฉพาะแก่ผู้ที่ขอเท่านั้น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า :
คนเรามีทิฏฐิต่างกัน พึงเลือกสอนคนที่ควรสอนเท่านั้น
พระพุทธองค์ยังทรงเปรียบบุคคลเสมือนดอกบัว ๔ เหล่า, ๓ พวกแรกสอนได้ พวกหลังสุดจำต้องปล่อยทิ้งไปเสีย
( ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม
http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt40.php )
🌷🤍🌷 นิทานชาดก ๐๔๐ (การันทิยชาดก) : ลูกศิษย์สอนอาจารย์ 🌷🤍🌷
การันทิยะตอบว่า "ผมจักทำแผ่นดินให้เรียบเสมอกันดังฝ่ามือครับอาจารย์"
อาจารย์ "เธอคนเดียวย่อมไม่สามารถถมหุบเหวให้เต็ม ทำแผ่นดินให้ราบเรียบได้หรอก เกรงว่าเธอตายไปก็ยังทำไม่ได้"
การันทิยะ "ถ้าผมคนเดียวไม่สามารถทำแผ่นดินให้ราบเรียบเสมอกันได้ อาจารย์ก็ไม่สามารถทำมนุษย์ผู้มีทิฏฐิต่าง ๆ กันให้มีศีลธรรมเสมอกันได้เช่นกันนะ ขอรับ"
"การันทิยะ เจ้าได้บอกความจริงแก่เรา ข้อนี้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ แผ่นดินนี้มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้ราบเรียบได้ ฉันใด เราก็ไม่อาจทำมนุษย์ทั้งหลายให้มาอยู่ในอำนาจของเราได้ ฉันนั้น"
พระพุทธองค์ยังทรงเปรียบบุคคลเสมือนดอกบัว ๔ เหล่า, ๓ พวกแรกสอนได้ พวกหลังสุดจำต้องปล่อยทิ้งไปเสีย