🇹🇭❤มาลาริน❤🇹🇭เบาะแสใหม่ เพิ่มน้ำหนักทฤษฎี “ต้นตอโควิด-19 มาจากตลาดค้าสัตว์/จุดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฟรีในต่างจังหวัด มี.ค.

พบเบาะแสใหม่ เพิ่มน้ำหนักทฤษฎี “ต้นตอโควิด-19 มาจากตลาดค้าสัตว์”



นักวิทย์พบหลักฐานใหม่ที่ยิ่งเพิ่มน้ำหนักว่า ต้นตอโควิด-19 จริง ๆ แล้วน่าจะมาจากตลาดค้าสัตว์ มากกว่าจากแล็บจีนตามที่สหรัฐฯ อ้าง

แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 3 ปีนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและสาธารณสุขยังคงพยายามหาคำตอบให้เจอว่า โรค้ายที่ทำเอาโลกปั่นป่วนไป 2-3 ปีเต็มนี้ มีที่มาจากไหนกันแน่?

2 ทฤษฎีหลักที่มีกันอยู่ในตอนนี้คือ “มาจากห้องแล็บของจีนในอู่ฮั่น” และ “มาจากตลาดค้าสัตว์ในอู่ฮั่น” ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ และพรรครีพับลิกันยังคงยืนยันโดยไม่เสนอหลักฐานว่าน่าจะมาจากแล็บจีน แต่ในฝั่งวิทยาศาสตร์ หลักฐานที่มีส่วนใหญ่กลับบ่งบอกว่า น่าจะมาจากตลาดมากกว่า



ล่าสุด มีเบาะแสใหม่ที่เหมือนจะยิ่งตอกย้ำชัดว่า โควิด-19 อาจมาจากตลาดค้าสัตว์ในอู่ฮั่นจริง ๆ

ตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่จีนเก็บช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2020 จากตลาดอาหารสดหัวหนานในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการค้าขายสัตว์ป่าด้วยนั้น เดิมทีมีการอัปโหลดแค่ตัวอย่างที่พบเชื้อโควิด-19 และดีเอ็นเอของมนุษย์เท่านั้น

แต่ล่าสุด ได้มีการอัปโหลดตัวอย่างลำดับพันธุกรรมชุดใหม่ขึ้นไปบนฐานข้อมูลการจัดลำดับพันธุกรรม GISAID ทำให้นักวิจัยพบเข้ากับตัวอย่างที่ติดเชื้อโควิด-19 บางตัว ที่เต็มไปด้วยดีเอ็นเอของ “จิ้งจอกแร็กคูน” (Raccoon Dog) รวมถึงชะมด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ แต่มีดีเอ็นเอของจิ้งจอกแร็กคูนมากที่สุด

นักวิจัยบอกว่า การค้นพบนี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าจิ้งจอกแร็กคูนหรือสัตว์อื่น ๆ ที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นตัวการทำให้เกิดโรคระบาด แต่เนื่องจากไวรัสไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นเวลานานได้ การค้นพบสารพันธุกรรมไวรัสจำนวนมากปะปนกับสารพันธุกรรมจากจิ้งจอกแร็กคูนจึงเป็นการชี้นำอย่างมากว่าพวกมันอาจเป็นพาหะได้ และเป็นหลักฐานที่เพิ่มความเป็นไปได้ของทฤษฎีโควิด-19 มาจากตลาดค้าสัตว์



ลำดับพันธุกรรมที่เพิ่งถูกอัปโหลดนี้ต้นพบโดย โฟลฮองซ์ เดบาร์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการแห่งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส เธอแจ้งเตือนเรื่องนี้ต่อ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นักภูมิคุ้มกันวิทยาและนักจุลชีววิทยาจากศูนย์วิจัยสคริปส์ในแคลิฟอร์เนีย, เอ็ดเวิร์ด โฮล์มส์ นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ และไมเคิล โวโรบีย์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา

“ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแหล่งที่มาของโควิด-19 มีโอกาสเป็นตลาดมากยิ่งขึ้น” แอนเดอร์เซนกล่าว

เดบาร์กล่าวว่า เธอกำลังจัดทำรายงานการค้นพบนี้ ซึ่งจะเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป อย่างไรก็ดี ข้อมูลลำดับพันธุกรรมที่เจ้าหน้าที่จีนอัปโหลดขึ้นไปล่าสุดนั้น ขณะนี้ถูกลบออกไปแล้ว

เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า  องค์การได้รับรู้ถึงเรื่องของลำดับพันธุกรรมดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา
“ทันทีที่เราทราบข้อมูลนี้ เราได้ติดต่อ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคจีน (China CDC) และขอให้พวกเขาแบ่งปันข้อมูลกับ WHO และบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล” เทดรอสกล่าว

กลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาต้นกำเนิดของเชื้อโรคใหม่ (SAGO) ซึ่งยังคงทำงานตรวจสอบต้นตอของโควิด-19 บอกว่า พวกเขาได้ข้อมูลทั้งจากนักวิทยาศาสตร์จีนที่เคยศึกษาลำดับพันธุกรรมมาก่อน เช่นเดียวกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้รายงานค้นพบครั้งนี้ แต่ยังคงไม่ได้ข้อสรุป พวกเขายังไม่สามารถบอกได้ว่าไวรัสรั่วไหลออกมาจากห้องทดลองหรือแพร่กระจายจากสัตว์สู่มนุษย์ตามธรรมชาติหรือไม่

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามที่ว่าการแพร่ระบาดเริ่มต้นขึ้นอย่างไร แต่ข้อมูลทุกชิ้นมีความสำคัญในการทำให้เราเข้าใกล้คำตอบนั้นมากขึ้น” เทดรอสกล่าว
เจ้าหน้าที่ของ WHO กล่าวว่า สิ่งที่ลำดับพันธุกรรมชุดใหม่นี้พิสูจน์ได้คือ จีนมีข้อมูลที่อาจเกี่ยวข้องกับต้นกำเนิดของโรคระบาดมากกว่าที่บอกกับโลก ซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันให้ทั้งโลกได้รับทราบร่วมกัน

เทดรอสบอกว่า “ข้อมูลนี้ควรได้รับการแบ่งปันตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เรายังคงเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและดำเนินการสอบสวนที่จำเป็นและแบ่งปันผลลัพธ์ การทำความเข้าใจว่าการแพร่ระบาดเริ่มขึ้นอย่างไรยังคงเป็นความจำเป็นทั้งทางศีลธรรมและวิทยาศาสตร์

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/192733

จุดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฟรีในต่างจังหวัดเดือนมีนาคม 2566 




https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/558668

นักวิจัยยังคงตามหาต้นตอโควิด-19 อยู่ค่ะ

อย่าลืมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนไปแอ่วสงกรานต์นะคะ....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่