ทำไม บริษัทรถยนต์ มาเลเซีย และเวียดนาม ถึงไม่ประสบความสำเร็จ ในตลาดโลก

กระทู้ข่าว
อุตสาหกรรมรถยนต์ คือหนึ่งในสิ่งที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ ของหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งบอบช้ำจากสงคราม ให้ขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้

ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย และเวียดนาม จึงพยายามพัฒนารถยนต์แห่งชาติ เป็นของตัวเอง เพื่อตามรอยประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม โครงการรถยนต์แห่งชาติ ของมาเลเซีย และเวียดนาม กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะในเวทีโลก

ถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะอะไร รถยนต์ของประเทศเหล่านี้ ถึงไม่ประสบความสำเร็จ ในการเจาะตลาดโลก
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ

การจะพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ให้แข็งแกร่ง สำหรับประเทศที่ไม่มีพื้นฐานในการทำอุตสาหกรรมมาก่อน สิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ก็คือการปกป้องอุตสาหกรรม ไม่ให้รถยนต์จากต่างชาติ เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดในประเทศ

จากนั้นจึงค่อยเปิดให้พบกับ การแข่งขันจากต่างประเทศ เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ พัฒนาจนพร้อมแล้ว และสามารถตีตลาดในประเทศได้สำเร็จ   

เหมือนอย่างเช่น เกาหลีใต้ ที่แทบจะไม่มีพื้นฐานในการทำอุตสาหกรรมมาก่อนเลย จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม ในช่วงทศวรรษ 1960

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองของเรานั้น ก็พบว่าแตกต่างกับแนวทางการพัฒนา ของประเทศที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก

- ไม่สามารถตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมได้ 

ในตอนที่ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ณ ขณะนั้น อย่างคุณมหาเธร์ โมฮัมมัด เริ่มโครงการรถยนต์แห่งชาติ ที่ชื่อว่า Proton 

ทางรัฐบาลมาเลเซีย ก็ได้มีการตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของตัวเองเช่นกัน โดยภาษีนำเข้ารถยนต์ของมาเลเซีย สูงสุดจะอยู่ที่ 300%

จากนั้นรถ Proton ก็ได้ถูกส่งออกไปตีตลาดโลกอย่าง สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ รวมถึงไทยด้วย

แต่หลังจากมาเลเซียเข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียน ก็ทำให้จำเป็นที่จะต้องยกเลิกการตั้งกำแพงภาษีเหล่านั้น ส่งผลให้อัตราภาษีรถยนต์นำเข้าสูงสุดของมาเลเซีย ลดลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น

รถยนต์ต่างประเทศที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย และอินโดนีเซีย ก็ได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากรถยนต์มาเลเซีย

ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามนั้น กว่าที่จะเริ่มพัฒนาก็ล่วงเลยไปถึงปี 1995 แล้ว โดยหลังจากนั้นไม่นาน เวียดนามก็เข้าร่วมเขตการค้าเสรีอาเซียน

ส่งผลให้เวียดนาม ไม่มีโอกาสได้ตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่อยู่ในระยะแรกเริ่มของการพัฒนาได้ และถูกรถยนต์ต่างชาติตีตลาดไป

- ตลาดในประเทศไม่แข็งแกร่ง

เมื่ออุตสาหกรรมไม่เกิดการพัฒนา ก็ทำให้แบรนด์รถยนต์ของมาเลเซีย และเวียดนาม มีปัญหาเรื่องคุณภาพตามไปด้วย ผู้บริโภคในประเทศจึงพอใจที่จะซื้อรถต่างชาติมาใช้มากกว่า 

โดยในกรณีของประเทศมาเลเซียนั้น ถึงแม้ว่ายอดขายของทั้งสองแบรนด์รถยนต์สัญชาติมาเลเซีย อย่าง Proton และ Perodua จะคิดเป็นสัดส่วนถึง 58% ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ที่ขายได้ในมาเลเซีย จนดูเหมือนว่ารถยนต์มาเลเซีย สามารถตีตลาดในประเทศได้สำเร็จ

แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง ก็มาจากการที่รถยนต์แบรนด์มาเลเซีย อาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องราคาที่ถูก ไม่ใช่เพราะเรื่องของคุณภาพ

ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์มาเลเซีย ถูกท้าทายโดยรถยนต์นำเข้ามือสอง ที่มีคุณภาพสูงกว่ารถยนต์มาเลเซียมาก แต่ราคาแพงขึ้นอีกนิดหน่อยเท่านั้น

ชาวมาเลเซีย จึงนิยมซื้อรถยนต์แบรนด์มาเลเซียไว้ใช้ไปก่อน เพื่อรอเปลี่ยนเป็นรถยนต์มือสองจากต่างชาติ เมื่อมีเงินเพียงพอที่จะซื้อแล้ว

สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ใหม่ของมาเลเซีย ในปี 2022 ที่แม้จะสูงถึง 640,000 คัน แต่ยอดขายรถยนต์มือสอง ก็สูงมากถึง 400,000 คัน เช่นกัน

ส่วนในเวียดนามนั้น แบรนด์รถยนต์เวียดนาม ไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์จากต่างประเทศได้เลย สะท้อนจากส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์ของเวียดนาม ที่ยอดขายรถยนต์สัญชาติเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 24% เท่านั้น

- เร่งรีบตีตลาดต่างประเทศจนเกินไป

เมื่อการตีตลาดในประเทศยังไม่ประสบความสำเร็จ การจะส่งรถยนต์ของตัวเองออกไปตีตลาดต่างประเทศ ที่รสนิยมของผู้บริโภค ต่างจากตลาดในประเทศมาก ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จเช่นกัน

อย่างเช่น รถยนต์ Proton ของมาเลเซีย ในช่วงแรกก็พยายามส่งออกรถยนต์ไปขายยัง สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ หรือแม้แต่ประเทศไทย เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน

แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพ จนปัจจุบันต้องหันไปส่งออกยังประเทศที่มีขนาดตลาดเล็กลงมากอย่าง ปากีสถาน, แอฟริกาใต้ และบรูไน แทน

ส่วนแบรนด์รถยนต์สัญชาติเวียดนามอย่าง VinFast ที่คิดการใหญ่ โดยส่งรถยนต์ไปตีตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน เนื่องจากราคาที่แพงเกินไป เมื่อเทียบกับคุณภาพของตัวรถเอง และคู่แข่ง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เอง จึงทำให้ท้ายที่สุดแล้ว รถยนต์จากประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย และเวียดนาม ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดโลกอย่างที่คิด

จากเรื่องนี้เองก็สามารถเป็นกรณีศึกษา ให้กับประเทศไทยได้ว่า แม้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยรถประจำชาติ จะสามารถยกระดับประเทศได้จริง

แต่ด้วยบริบทของปัจจุบันนี้แล้ว การจะทำรถประจำชาติให้ประสบความสำเร็จ อย่างประเทศพัฒนาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากทีเดียว..

BillionMoney

ติดตาม BillionMoney ช่องทางอื่นได้ที่
Website  :  billionmoney.com
Blockdit  :  blockdit.com/billionmoney
Facebook  :  facebook.com/BillionMoneyTH
Twitter  :  twitter.com/BillionMoneyTH
Instagram  :  instagram.com/billionmoneyth/
Youtube  :  youtube.com/billionmoney

References
-https://www.worldscientific.com/doi/10.1142/S0218927512500150
-https://www.statista.com/statistics/828911/malaysia-passenger-vehicle-market-share-by-brand-sales-volume/
-http://www.maa.org.my/statistics.html
-https://www.thestar.com.my/business/business-news/2022/09/01/strong-demand-seen-for-used-car-segment
-https://www.jri.co.jp/english/periodical/rim/1998/RIMe199803vietnam/
-https://asean.org/vietnam-in-asean-toward-cooperation-for-mutual-benefits/
-http://vama.org.vn/Data/upload/files/2022/T12-2022/VAMA%20sales%20report%20December%202022%20-%20Summary.pdf
-https://www.autodeft.com/deftreport/2021-proton-thailand-return-in-very-near-future
-https://paultan.org/2022/12/23/proton-exported-5028-cars-as-of-nov-2022/
-https://www.sanook.com/auto/86403/
-https://rb.gy/kb9ifa
-https://rb.gy/ysndxx



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่