เริ่มงานที่ใหม่แต่กลัวเข้ากับใครไม่ได้ทำไงดีคะ

พอจะต้องเริ่มทำงานที่ใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ในใจลึก ๆ ของคนทำงานเองก็จะมีความกังวลอยู่ว่าเราจะไปเจอกับอะไร เพื่อนร่วมงานเป็นแบบไหน สไตล์การทำงานของหัวหน้าเป็นยังไง เราจะเข้ากับทีมได้ไหม JobThai Tips กระทู้นี้เราเลยมีเทคนิคดี ๆ มาฝาก   
 
1. ตรงต่อเวลาดีที่สุด 
เรื่องเวลาเข้าและออกงานเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับพนักงานใหม่ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่หัวหน้างานรวมถึงเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ มองเห็นได้ชัดเจน การมาถึงบริษัทให้ตรงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเรามาก่อนเวลางานอย่างน้อยสัก 15 นาที รวมไปถึงช่วงพักกลางวัน ก็ควรรักษาเวลาให้เป็นไปตามกฎของบริษัท ถึงบางบริษัทอาจจะไม่เคร่งครัดเรื่องเวลา แต่การรักษาเวลาก็ดีกว่า 
  
2. เข้าไปทำความรู้จักก่อนไม่เสียหาย 
พอไปถึงที่ทำงานแล้วเราสามารถแนะนำตัวและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานก่อนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้เขาเป็นคนถาม อาจจะเริ่มต้นทำความรู้จักคนในแผนก หรือคนที่ต้องทำงานร่วมกันก่อน ทักทายเวลาเจอพวกเขาในที่ต่าง ๆ เข้าไปพูดคุยในช่วงพัก หรือก่อนเริ่มงาน ในกรณีที่บริษัทมีพนักงานเป็นจำนวนมาก เราไม่จำเป็นต้องจำคนในบริษัทให้ได้ทุกคน แต่อย่างน้อยก็พยายามจำชื่อเพื่อนในทีมหรือคนที่เราต้องทำงานด้วย 
  
3. เรียนรู้ Culture องค์กร 
รู้จักเพื่อนร่วมงานแล้ว เราก็ต้องรู้จักองค์กรด้วย ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ หรือระบบการทำงาน ทุกบริษัทจะมีวัฒนธรรมองค์กรหรือการปฏิบัติตัวต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เขียนอยู่ในคู่มือพนักงาน แต่เราจะสังเกตได้จากเพื่อนพนักงาน หรือการพูดคุยถามคนในทีมหรือหัวหน้า แบบนี้ก็จะทำให้เรามีโอกาสวางตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้เร็วขึ้น 
 
4. อย่าทำตัวเหมือนน้ำเต็มแก้ว 
ไม่ว่าเราจะเก่งมากจากไหน แต่เมื่อเริ่มงานที่ใหม่ ให้ทำตัวเหมือนแก้วน้ำที่พร้อมรับความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอด ในวันแรกของการทำงานที่ใหม่ เราอาจจะได้งานที่ใช้เวลาทำไม่นานก็เสร็จ แต่แทนที่จะนั่งรอหัวหน้าเดินมาสั่งงานต่อไป เราควรจะเป็นคนเดินไปถามเขาเองว่ามีงานอะไรให้ทำต่อ หรือไปถามเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยได้บ้าง หรือเรามีงานส่วนไหนให้เราศึกษาไหม  
  
5. อย่าอายที่จะถามและขอความช่วยเหลือ 
ถ้าไม่รู้ก็ถาม หรือมีปัญหาก็ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น อย่าให้คำว่าไม่กล้ามาทำให้ทุกอย่างแย่ลง ไม่มีใครคาดหวังว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หรือรู้ทุกอย่างบนโลกใบนี้ตั้งแต่วันแรกที่มาทำงาน ดังนั้นเมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหาอะไรก็ตาม การถามหรือขอความช่วยเหลือจึงไม่ใช่เรื่องผิด มันดีกว่าการที่เราทำงานไปจนเสร็จเรียบร้อย แต่ผิดพลาด ซึ่งทำให้เสียเวลา และไม่ดีต่อหน้าที่การงานในอนาคต  
 
6. Hang out สร้างความสัมพันธ์ 
นอกเหนือจากในเวลางานแล้ว การพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานนอกเวลา เช่น ออกไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน เล่นกีฬา หรือสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานในตอนเย็นหลังเลิกงานบ้างเมื่อมีโอกาส ก็จะทำให้เราและเพื่อนร่วมงานรู้จักกันมากขึ้น  
  
7. เลี่ยงการนินทาและการเมือง 
ข่าวลือหรือการนินทาเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกสังคม สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ไม่พูดถึงคนอื่นลับหลังในทางที่ไม่ดี อยู่ให้ห่างจากกลุ่มคนที่ชอบนินทา และอย่าทำอะไรที่จะเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดว่าเราเป็นคนชอบนินทา รวมทั้งอย่าข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในที่ทำงานด้วย เพราะการเมืองคือเรื่องที่เซนซิทีฟมาก เราไม่มีทางรู้ว่าใครมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไร  
 
8. แต่งกายให้เหมาะสม 
เราควรแต่งตัวให้สุภาพ และเป็นทางการ บางบริษัทอนุญาตให้พนักงานแต่งตัวแบบไม่เป็นทางการได้แต่ในช่วงแรกเราอาจจะยังไม่รู้วัฒนธรรมองค์กรที่นั่นควรจะแต่งตัวสุภาพไว้ก่อน แล้วสังเกตว่าคนที่ทำงานแต่งตัวแบบไหน แล้วค่อยปรับเปลี่ยนการแต่งตัว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่