สนามบินลับบ้านโคกตลาด อ เลิงนกทา จ ยโสธร (พศ 2508)..////

ช่วงสงครามเวียดนามไม่ได้มีเฉพาะกองทัพสหรัฐเท่านั้นที่เข้ามาทำสงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ชาติพันธมิตรอื่นๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติการในประเทศไทยด้วย อังกฤษ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่ได้ส่งทหารไปร่วมรบในเวียดนามโดยตรง แต่ทั้งสามชาติก็ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งการช่วยเหลือสร้างถนน สนามบิน ตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เห็นว่าเหมาะสม
.
หนึ่งในสนามบินที่อังกฤษเป็นโต้โผใหญ่ในการสร้างก็คือสนามบินเลิงนกทา ถนนชยางกูร บ้านโคกตลาด (บ้านโคกสำราญในปัจจุบัน) อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นอำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ยกระดับเป็นจังหวัด 1 มีนาคม 2515) ในครั้งแรกมีชื่อว่าสนามบินคราวน์ แอร์ฟิลด์ (Crown Airfield) มีเนื้อที่กว่า 5,700 ไร่
.
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2506 อังกฤษลำเลียงเครื่องกล เครื่องมือก่อสร้างมาทางเครื่องบิน ใช้เวลา 3 ปี จึงดำเนินการแล้วเสร็จ รันเวย์เป็นพื้นคอนกรีตยาว 1,530 เมตร มีหัวท้ายลาดด้วยแอสฟัลต์ด้านละ 150 เมตร ความกว้างของรันเวย์ 40 เมตร ใช้เป็นสนามบินสำรองเอาไว้เพื่อให้เครื่องบินที่ถูกยิงขัดข้องไว้ลงจอดในสนามบินที่ใกล้ที่สุด และใช้ประโยชน์ในการลำเลียงยุทธภัณฑ์สงคราม
.
นอกจากนี้ไม่ไกลจากสนามบินโคกตลาด ฝ่ายสหรัฐได้สร้างฐานเรดาร์ขึ้นบนยอดภูหมู ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น"วนอุทยานภูหมู" อยู่ในพื้นที่ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร 50 กว่าปีที่แล้ว ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (ยโสธร-อำนาจเจริญ-มุกดาหาร) ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สีแดงมีการเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
.
การสร้างสนามบินลับและฐานเรดาร์ ถูกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์นำไปเป็นประเด็นปลุกระดมชาวอีสานชี้ให้เห็นถึงการรุกรานของจักรวรรดินิยมอเมริกาตามทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และระบุว่าไทยได้กลายเป็น"เมืองขึ้น"ของสหรัฐไปแล้ว
.
ในปัจจุบันสนามบินเลิงนกทา กลายเป็นสนามบินร้างแต่ยังอยู่ในความดูแลของกองทัพบก เหลือเนื้อที่ราว 640 ไร่ สงวนไว้ใช้สำหรับฝึกภาคสนามของหน่วยงานทหาร แต่มักมีกลุ่มวัยรุ่นลักลอบเข้าไปมั่วสุมแข่งรถ และในบางโอกาสประชาชนในท้องที่ได้ขอใช้เป็นลานตากข้าวเปลือกและมันสำปะหลัง
.
ปัจจุบันท้องถิ่นมีความหวังให้ทางการเข้ามาพัฒนายกระดับสนามบินให้เป็นท่าอากาศยานเลิงนกทาเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถช่วยให้จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลประโยชน์จากท่าอากาศยานแห่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าในการลงทุน
.
ภาพถ่ายชุดนี้พาย้อนไปชมสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตผู้คน บ้านเรือน บางส่วนของชาวบ้านโคกตลาด หรือบ้านโคกสำราญในปัจจุบัน ช่วงที่มีการก่อสร้างสนามบินเลิงนกทา ก่อนเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2508
-------------------
ความจริงไม่น่าใช่สนามบินลับ แต่เป็นสนามบินที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากกว่า....จขกท
ขอบคุณ/เครดิต เพจ ใครทันบ้าง ในเฟสบุ้ค
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่