หากคุณมีอาการเจ็บปวดเวลาเดินหรือวิ่งเมื่อลงน้ำหนักที่เท้า อาการเบื้องต้นเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอาการเท้าผิดรูปแบบ “อุ้งเท้าสูง” ได้ เนื่องจากส่วนโค้งตรงกลางระหว่างปลายเท้าและส้นเท้ามีความสูงมากกว่าปกติ ทำให้ปวดบริเวณที่รับน้ำหนักอย่างฝ่าเท้าและส้นเท้ามากกว่าคนทั่วไป
เริ่มสังเกตอาการตัวเองได้ดังนี้
- ผู้ที่มีภาวะอุ้งเท้าสูงนิ้วเท้าจะมีลักษณะโก่งขึ้นมา
- หากวิ่งหรือเดิน เมื่อวางเท้าลง เท้าด้านนอกสัมผัสพื้นก่อนเสมอ
- เมื่อลองเอาเท้าจุ่มน้ำให้เปียก แล้วมาเหยียบบนผ้า หากมีภาวะอุ้งเท้าสูง รอยเปียกช่วงกลางเท้าจะหายไป
หากมีอาการที่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับคำแนะนำและแนวทางการรักษาที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากบางรายมีอาการปวดส้นเท้ารุนแรง ทำให้เอ็นร้อยหวายอักเสบ กล้ามเนื้อน่องตึง เป็นตะคริวได้ง่าย เสี่ยงต่อข้อเท้าพลิกเมื่อมีการสวมใส่รองเท้าส้นสูง
และอาจจะกระทบไปยังกระดูกเท้าในตำแหน่งอื่นด้วย แต่หากอาการไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนรองเท้าที่พอดีกับลักษณะเท้า พื้นรองเท้านิ่ม หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง หรือการตัดแผ่นรองเท้า แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ในปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น
เช็กเลย ! เท้าผิดรูปแบบไหนเข้าข่าย “อุ้งเท้าสูง”