WARRIX x มาดามแป้ง สรุปดีลถ่ายบอลไทยจอยักษ์ โดย เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง

ในที่สุด ประเทศไทยก็ไม่มีถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน กลายเป็นชาติเดียวจาก 10 ชาติที่ร่วมแข่งรายการนี้ ที่ไม่มีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทางโทรทัศน์ หรือ ออนไลน์  

สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ แล้วอีเวนต์ที่ Warrix จัดดูบอลจอยักษ์ที่ Stadium one เอาน้าหัง-อัฐชพงษ์ สีมา กับ คุณฟลุ้ค-ธีรยุทธ์ บัญหนองสา ไปพากย์สดแบบนั้น หรือที่มาดามแป้งเอาจอยักษ์เปิดให้แฟนๆ เข้ามาดูฟรี ที่สนามแพท สเตเดี้ยม มันสามารถทำได้หรอ?

คำตอบคือ ทำได้ครับ และเป็นการทำอย่างถูกกฎด้วย

อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ในการขายสิทธิ์ถ่ายบอลชิงแชมป์อาเซียนนั้น ทาง AFF จะจ้างบริษัท outsource ชื่อสปอร์ตไฟว์ จากเยอรมัน เป็นคนกลาง ในการคุยกับผู้สนใจซื้อลิขสิทธิ์

บริษัท สปอร์ตไฟว์ จะขายสิทธิ์ 2 แบบคือ

1) Official Broadcaster (ผู้ซื้อลิขสิทธิ์การแพร่ภาพ) สามารถเอาไปฉายได้ทุกแพลตฟอร์มถ่ายทอดสด ไม่ว่าจะเป็น ฟรีทีวี, เคเบิ้ลทีวี, OTT ทางไหนก็ได้ โดยคนซื้อจะเป็นสถานีโทรทัศน์ก็ได้ หรือจะเป็นคนกลางอย่าง Plan B ซื้อแล้วเอาไปแยกขายให้ทรูวิชั่นส์ กับ AIS Play ก็ได้

แต่ข้อบังคับของ Official Broadcaster คือ "ต้องซื้อครบ 26 นัด ทั้งทัวร์นาเมนต์" ในราคา 2.2 ล้านดอลลาร์ (76 ล้านบาท) เท่านั้น คุณจะถ่ายลงทีวีกี่นัดก็แล้วแต่ แต่ทางสปอร์ตไฟว์จะไม่ขายแยกเป็นบางนัด

2) Public Viewing (ผู้ซื้อสิทธิ์การจัดอีเวนต์ดูบอลนอกสถานที่) ด้วยความที่ศึก AFF ยิ่งถ้ารอบลึกๆ เมื่อกระแสมันมาแล้ว ประเทศต่างๆ จะมีความต้องการจัดอีเวนต์ทีวีจอยักษ์ เพื่อให้คนมารวมตัวกันดูบอล ยิ่งช่วงปลายปีแบบนี้ อากาศดีแบบนี้ ก็เหมาะมากกับการดูบอลนอกบ้าน

AFF ขายสิทธิ์การ Public Viewing อยู่ที่ราวๆ 250,000  ดอลลาร์ (8.6 ล้านบาท) คนที่ซื้อสิทธิ์นี้ไปแล้ว จะสามารถจัดอีเวนต์ดูบอลจอยักษ์ได้ จะจัดกี่ที่ก็ได้ หรือเอาสิทธิ์ไปขายต่อให้ใครก็ได้

สำหรับ Warrix นั้น เป็นแบรนด์เสื้อแข่งทีมชาติ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือ "กระแส" ยิ่งถ้าทีมช้างศึกฟอร์มดีๆ คนก็จะยิ่งซื้อเสื้อมากขึ้นเรื่อยๆ

และอีเวนต์ที่มีแนวโน้มว่าจะได้ยอดขายมากที่สุด คือศึกชิงแชมป์อาเซียน เพราะเป็นรายการที่ไทยมีลุ้นจะเป็นแชมป์อย่างจริงจัง ปัจจุบันไทยก็เป็นแชมป์เก่า และเป็นแชมป์สูงสุด 6 สมัย

หลักการเหมือนกับ ไนกี้, อาดิดาส, พูม่า ต่างรออีเวนต์ฟุตบอลโลกทั้งนั้น เพราะยอดขายเสื้อจะพุ่งสูง ดังนั้น Warrix ก็รอคอยรายการนี้อยู่

ด้วยความที่ปี 2023 ไทยจะไม่มีอีเวนต์อะไรแข่งเลย เพราะเอเชียนคัพก็เลื่อนไปแล้ว ส่วนซีเกมส์ เสื้อแข่งเป็นของแกรนด์สปอร์ต จะมีอีกทีก็ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกเดือนตุลาคม ดังนั้น ถ้าไม่ขายตอนนี้แล้วจะไปขายตอนไหน

แต่แน่นอน เมื่อไม่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ไม่มีคนเป็น Official Broadcaster ส่งผลให้ "การพูดถึง" ของประชาชนก็จะน้อยลง

เมื่อไม่มีการพูดถึง ยอดขายเสื้อก็ควรจะลดลงตามไปด้วย โดยทาง Warrix อดทนรอจนวันสุดท้ายว่า จะมีใครซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่ แต่ก็ไม่มี

โดยมีรายงานว่า ทางสปอร์ตไฟว์ได้เข้าไปคุยกับไทยรัฐ ทีวี เป็นเจ้าสุดท้าย แต่ด้วยความกะทันหันจึงโดนปฏิเสธกลับมา

ถามว่าราคาที่ สปอร์ตไฟว์ตั้งไว้ 76 ล้านบาท แพงไหม? คำตอบคือแพงทีเดียว แต่พวกเขาคำนวณจากสถิติว่า เรตติ้งทีวีจากนีลเซ่น ในประเทศไทยปี 2564 พบว่ารายการยอดคนดูสูงสุดอันดับ 1 2 3 ก็คือฟุตบอล AFF ทั้งหมด ดังนั้นถ้าเรตติ้งดีขนาดนั้น ราคาราวๆ นี้ ก็ดูสมเหตุสมผลดี

ตอนแรกมีโทรทัศน์บางช่องไปเจรจาขอให้แยกขายเฉพาะนัดที่ไทยลงแข่ง คือคุณจะเอามาทำไม 26 นัด บรูไน vs กัมพูชาใครจะไปดู แต่สปอร์ตไฟว์ไม่ขาย คือถ้าทำแบบนั้นกับไทยได้ ต่อไปประเทศอื่นๆ เขาก็ไม่ซื้อทั้งแพ็คเกจแล้ว เขาก็ซื้อแยกเป็นนัดๆ ของประเทศตัวเองอย่างเดียว มูลค่ารายการก็จะลดลง

สปอร์ตไฟว์ ลดราคาลงมาอีกเหลือ 1.95 ล้านดอลลาร์ (67 ล้านบาท) แต่ก็ยังหาคนซื้อไม่ได้อีก

ทาง Warrix นั้นกลุ้มใจมาก เพราะถ้าไม่มีถ่ายอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว กระแสไม่เหลือแน่ ดังนั้นทาง Warrix ก็ตัดสินใจว่า เอาวะ งั้นลองเจรจาขอสิทธิ์ Public Viewing ละกัน ถ้าถ่ายทอดสดทางทีวีไม่ได้ มีอีเวนต์ให้ดูตามจุดต่างๆ ก็ยังดี จะได้พอมีการถูกพูดถึงบ้าง

ด้วยความที่ Warrix เป็นสปอนเซอร์ของรายการนี้อยู่แล้ว พวกเขาเป็นผู้สนับสนุน "ลูกบอล" สำหรับการแข่งขัน จึงสามารถคุยกับทางสปอร์ตไฟว์ได้โดยตรง และสปอร์ตไฟว์ก็แจ้งราคามา คือราวๆ 250,000 ดอลลาร์ หรือ 8.6 ล้านบาท

Warrix ก็ต้องมาคำนวณเหมือนกัน เพราะจ่ายค่า Public Viewing 8.6 ล้านบาท บวกกับจ้างคน จ้างซัพพลายเออร์ มาติดตั้งทีวีจอยักษ์ จัดหาสถานที่ ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่าง รวมแล้วค่าใช้จ่ายมีสิทธิ์พุ่งสูงถึง 10 ล้านบาท

แล้วการซื้อสิทธิ์ Public Viewing มา ก็ต้องเปิดให้ประชาชนดูฟรีอยู่แล้ว จะไปเก็บตังค์เขาก็ไม่ได้ (ใครจะมาดู) เท่ากับว่าตัวเลข 10 ล้านนี่ Warrix แทบจะเสียฟรีเลย

ทางสปอร์ตไฟว์ ให้เดดไลน์ถึงวันที่ 19 ธันวาคม หนึ่งวันก่อนแข่ง ถ้าไม่ซื้อ พวกเขาก็จะไม่ขายสิทธิ์ Public Viewing แล้วทั้งทัวร์นาเมนต์ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ประเทศไทยจะไม่มีช่องทางลิขสิทธิ์ดูเลยแม้แต่ที่เดียว และกระแสก็คงไม่เหลือแน่ๆ

ด้วยความที่ตัวเลข 8.6 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงมาก ทาง Warrix จึงต้องไปหาพาร์ทเนอร์ ว่ามีใครพอช่วยจ่ายได้หรือไม่ ให้แบกคนเดียวก็หลังหักเหมือนกัน

และสรุปคือมีสองเจ้าที่ช่วย คือ เมืองไทยประกันภัย ของมาดามแป้ง และ เครื่องดื่ม M-150

ทาง Warrix ไม่ได้บอกเหตุผลกับผมนะครับ ว่าทำไมสองแบรนด์นี้เข้ามาช่วยซัพพอร์ท แต่ผมวิเคราะห์เองว่า มาดามแป้งเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย เธอก็ย่อมต้องการให้ทีมชุดนี้ถูกพูดถึงเช่นเดียวกัน คือมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเธอทำงานอย่างหนัก แต่คนทั่วประเทศ ไม่เห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่เธอตั้งใจทำ

ส่วน M-150 ผมเข้าใจว่า พวกเขาเป็นสปอนเซอร์ของทีมชาติไทย อุตส่าห์ไปตัดคลิป MV เชียร์ทีมชาติมาแล้วแท้ๆ แต่ถ้าไม่มีกระแส มันก็ไม่ส่งผลดีต่อการขายเช่นกัน

สุดท้ายเมื่อ Warrix ได้เงินซัพพอร์ทจากเมืองไทยประกันภัย และ M-150 จึงรวมเงินเอาไปซื้อสิทธิ์ Public Viewing จากสปอร์ตไฟว์ได้ทันแบบฉิวเฉียด นั่นเป็นที่มาของการจัดเตรียมสถานที่ดูบอลสดบริเวณ Stadium One อย่างรวดเร็วมากๆ ในเวลาไม่ถึง 1 วันเท่านั้น

แล้วมาดามแป้งได้อะไร? Warrix ก็อนุญาตให้เมืองไทยประกันภัย จัดอีเวนต์ดูบอลได้เช่นกัน นั่นคือเหตุผลที่มาดามแป้งจัดดูบอลทางจอ LED ที่สนามแพท สเตเดี้ยม ครบทุกนัดที่ไทยเตะ ตลอดทัวร์นาเมนต์ นั่นเองครับ

ส่วน M-150 ก็จะได้สิทธิ์ไปเปิดบูธขายของ และได้ติดแบนเนอร์โฆษณา ในอีเวนต์ทั้งที่ Stadium One และ แพท สเตเดี้ยมครับ

พูดตรงๆ คือผมก็เข้าใจว่า คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับฟุตบอล ที่เชื่อมโยงกับทีมชาติในช่วง AFF คงผิดหวังที่ไม่มีถ่ายทอดสด แต่พวกเขาก็พยายามทำในสิ่งที่ทำได้ จัดอีเวนต์ขึ้นมา อย่างน้อยอาจจะช่วยสร้างกระแสบางอย่างได้

สำหรับสเต็ปต่อมา Warrix บอกว่า ไหนๆ การถ่ายทอดสดทางทีวี ก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว ตอนนี้ถ้าหากในจังหวัดไหนทั่วประเทศ ใครอยากจัดอีเวนต์ดูบอลจอยักษ์ ติดต่อมาหา Warrix ได้เลย พวกเขายินดีส่งต่อสิทธิ์ให้จัดได้ฟรีๆ เลย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อาจแค่มีขอความร่วมมือ ให้เอาเสื้อ Warrix ไปเปิดบูธขายใกล้ๆ กับสถานที่จัดงานแค่นั้น

โมเดลที่ดีที่สุด คือทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศ มีคนจัดอีเวนต์กันหมด ถ้าเป็นแบบนั้นความครึกครื้นก็น่าจะเกิดขึ้น ยอดขายของ Warrix ก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วย และกระแส "อาจจะ" กลับมาได้อีกครั้ง

แต่ปัญหาคือ ตามจังหวัดต่างๆ จะยอมทำหรือเปล่าก็ไม่รู้ พวกเขาอาจเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองที่จะมาจัดอีเวนต์ดูบอลจอยักษ์ ในกิจกรรมที่คนจัดอาจต้องขาดทุน ไม่ได้อะไรกลับคืนมา

บทสรุปของเรื่องนี้ก็เป็นแบบนี้ครับ ประเทศไทยได้สิทธิ์ Public Viewing สามารถจัดอีเวนต์ได้ แต่เราไม่ได้สิทธิ์ Official Broadcaster (ในตอนนี้) และไม่รู้ว่าช่วงเวลาที่เหลือจะมีใครสนใจหรือไม่

การไม่มีคนซื้อลิขสิทธิ์ ใช่ มันก็น่าเสียดายสำหรับคนดูบอล แต่สุดท้ายแล้ว ผมว่าทุกคนก็มีเหตุผลของตัวเอง

ภาคเอกชนถ้าคำนวณแล้วมันไม่น่าจะคุ้มเงิน เขาก็ไม่อยากลงทุนหรอกครับ ส่วนภาครัฐก็อาจต้องมาตีโจทย์ว่า ฟุตบอล AFF ถือเป็นอีเวนต์ที่สำคัญระดับไหน จำเป็นไหมที่ต้องเข้าไปเป็นคนกลางแบบฟุตบอลโลก

และที่เหนืออื่นใด เราก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า ในขณะที่เอกชนชาติอื่นเขามองว่าบอล AFF ยังเป็นการลงทุนที่ "คุ้ม" อยู่ จนซื้อลิขสิทธิ์ไปครบทุกประเทศ แต่ทำไมภาคเอกชน หรือภาครัฐของไทย จึงมองว่าการซื้อลิขสิทธิ์บอลไทยใน AFF กลายเป็นอะไรที่ "ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน" ไปซะแล้ว

#AFFDRAMA

Credit: https://www.facebook.com/jingjungfootball/photos/a.1763433500538559/3230370413844853/?type=3
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่