" บ่วงโลกีย์ "

" บ่วงโลกีย์ " 
 
" ปุตโต คีวัง " บุตรเป็นห่วงผูกคอ 
" ธะนัง หัตเถ " แปลว่า ทรัพย์เป็นห่วงผูกมือ 
" ภริยา ปาเท " ภรรยาเป็นห่วงผูกเท้า
 
ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อกิตติวุฑโฒ กล่าวถึงพิธีเก่าแก่นี้ไว้ว่า 
พิธีมัดตราสัง สัปเหร่อเอาด้ายสายสิญจน์พันที่คอก่อนเป็นเปลาะที่หนึ่ง ในขณะที่พันจะบริกรรมว่า " ปุตโต คีวัง " แล้วโยงมาที่ข้อมือ พันอีกเปลาะหนึ่ง บริกรรมว่า " ธะนัง หัตเถ " ส่วนเปลาะสุดท้ายที่เท้า บริกรรมว่า " ภริยา ปาเท " 
.....คำบริกรรมนี้ คนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นคาถากันผีดุ ไม่ให้มาหลอกลูกหลาน ซึ่งไม่ใช่ แท้จริงแล้วเป็นการสอนทั้งคนเป็นและคนตายว่า " ปุตโต คีวัง " บุตรเป็นห่วงผูกคอ " ธะนัง หัตเถ " แปลว่า ทรัพย์เป็นห่วงผูกมือ และ " ภริยา ปาเท " ภรรยาเป็นห่วงผูกเท้า 
  
......เป็นสัจธรรมชี้ให้เห็นความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า คนส่วนใหญ่ที่เกิดมาบนโลกนี้ มักจะถูกบ่วงทั้งสามมัดอยู่จนไม่สามารถพ้นไปจากวัฏสงสารได้ ยังต้องมีทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น 
.....มองผิวเผินอาจไม่เข้าใจว่า บุตรภรรยาจะเป็นห่วงได้อย่างไร ต่างกันต่างไปด้วยตนเองได้ ในที่นี้พระพุทธองค์ตรัสว่า บุตรภรรยาเป็นพันธนาการที่แน่นหนาที่สุด เหตุเพราะไม่ได้ผูกพันแค่กาย แต่เป็นพันธะทางใจอยู่ตลอดเวลา โซ่ธรรมดาเอากุญแจมาไขยังเป็นอิสระได้ แต่โซ่ทางใจนั้นยากแสนยาก 
.....คำว่า บุตรเป็นห่วงผูกคอ คนเป็นพ่อแม่จะเข้าใจดี ไม่ว่าลูกจะอายุมากขนาดไหนยังคงห่วงเหมือนตอนเป็นเด็กอยู่เสมอ คำว่าทรัพย์เป็นห่วงผูกมือ คนยิ่งมีทรัพย์มากยิ่งหวงแหนมาก ตระหนี่ไม่ยอมบริจาคทานกุศล อยากมีให้มากขึ้นอยู่ร่ำไป คำว่า ภรรยาเป็นห่วงผูกเท้า ข้อนี้อธิบายได้ไม่ยาก เป็นทั้งความห่วง หวง หึง กันและกันไม่มีที่สิ้นสุด 
  
.....ที่ว่าสอนคนเป็น คือ ให้คลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ อย่าได้ประมาทในชีวิต เพราะคนเราตายไปแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ นอกจากบุญกับบาป ที่ว่าสอนคนตาย คือ ผู้ละโลกหากยังมีห่วงกังวลจิตจะเศร้าหมอง ไม่อาจไปสุคติ เพราะทุกข์หลังความตายนั้นยาวนาน ฉะนั้น อย่ามัวห่วงคนอื่นอยู่เลย ตัวเราเองนี่แหละ " น่าเป็นห่วงที่สุด "
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่