แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๔

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 (ต่อจากครั้งที่แล้ว https://ppantip.com/topic/41745805 )

ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ครั้นท่านสุเมธบัณฑิตคิดดังกล่าวมานี้แล้ว จึงคิดยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า บุรุษผู้ชอบแต่งตัวสวยๆ ทิ้งซากศพที่คล้องคอเสีย ก็พึงเป็นสุขไป แม้ฉันใด แม้เราก็ทิ้งกายอันเน่านี้เสีย ไม่อาลัย พึงเข้าไปยังมหานครคือ "นิพพาน" ก็ฉันนั้น อนึ่ง บุรุษสตรีถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงที่พื้นดินอันเปื้อนอุจจาระปัสสาวะแล้ว ก็หาเอาใส่ชายพกหรือเอาชายผ้าห่ออุจจาระปัสสาวะนั้นพาไปไม่ ที่แท้ก็พากันเกลียด ไม่อยากแม้แต่จะดู ไม่อาลัย ทิ้งไปเลยฉันใด แม้เราก็ไม่อาลัยกายอันเน่านี้ ควรที่จะละทิ้งเข้าไปยังอมตนครคือ "นิพพาน" ก็ฉันนั้น อนึ่ง ธรรมดานายเรือทั้งหลาย ก็ละทิ้งเรือชำรุดอันน้ำรั่วเข้า ไม่เยื่อใยไปเลย ฉันใด แม้เราก็ละทิ้งกายที่ของโสโครกไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ แผลนี้ ไม่เยื่อใย จักเข้าไปยังมหานครคือ"นิพพาน" ก็ฉันนั้น

    อนึ่ง บุรุษบางคนพกพารัตนะมากอย่าง มีแก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์ เป็นต้น เดินทางไปกับหมู่โจร จำต้องละทิ้งโจรเหล่านั้น เพราะกลัวสูญเสียรัตนะ เลือกถือเอาแต่ทางที่เกษมปลอดภัย ฉันใด ความติดในกายอันเน่า นี้ก็เสมือนโจรปล้นรัตนะ ถ้าเราจักทำความอยากในกายนี้ รัตนะคืออริยมรรคและกุศลธรรมของเราก็จักสูญเสียไป เพราะฉะนั้น จึงควรที่เราจำต้องละทิ้งกรัชกายที่เสมือนมหาโจรนี้ แล้วเข้าไปยังมหานครคือนิพพาน ก็ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า บุรุษเกลียดซากศพที่ผูกคออยู่ ปลดออกไปเสีย ก็มีสุข มีเสรี มีอิสสระ ฉันใด เราทิ้งกายอันเน่านี้ที่สะสมซากต่างๆ ไว้ไปเสีย ไม่อาลัย ไม่ต้องการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษสตรีทิ้งอุจจาระไว้ในที่ถ่ายอุจจาระ ไปเสียไม่อาลัย ไม่ต้องการ ฉันใด เราทอดทิ้งกายนี้ที่เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ เหมือนทิ้งที่ถ่ายอุจาระไป ก็ฉันนั้น

    เจ้าของเรือ ทิ้งเรือลำเก่าชำรุด น้ำรั่วไป ไม่เยื่อใย ไม่ต้องการฉันใด เราก็ทอดทิ้งกายนี้ ที่มี ๙ ช่อง เป็นที่ไหลออกของสิ่งโสโครกอยู่เป็นนิตย์ไป เหมือนเจ้าของเรือสละทิ้งเรือลำเก่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษพกพาของมีค่าไปกับพวกโจร แลเห็นภัยจากการเสียหายของของมีค่า จึงละทิ้งโจรไป ฉันใด กายนี้ก็เปรียบเสมอด้วยมหาโจร เพราะกลัวการเสียหายของกุศล เราจึงต้องละทิ้งกายนี้ไป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ไม่ว่าจะโดยนัยของพระอภิธรรม พระสูตร หรือแม้แต่พุทธวงศ์ เพื่อที่จะให้เห็นว่า แม้ในครั้งโน้น พระองค์ก็จะต้องทรงมีปัญญาที่จะแสวงหาหนทาง ฉันใด พุทธบริษัทซึ่งได้ฟังพระธรรม และพิจารณารู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย ก็ควรที่จะเห็นความน่ารังเกียจของโลภะ ซึ่งเป็นสมุทัยโดยประการต่างๆ เพื่อจะได้แสวงหาทางที่จะดับ ชาติความเกิด เพียงระลึกว่า โลภะทุกขณะที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสมุทัย รู้เท่านี้ก็มีประโยชน์

    แล้วก็รู้อีกบ่อยๆ ไม่ว่าจะกำลังสนุกสนานรื่นเริง ดูหนัง ดูละคร ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ กำลังเพลิดเพลินขณะใดรู้ว่าเป็นสมุทัยในขณะนั้น ก็ยังมีประโยชน์ เพราะเห็นโทษ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะว่าปัญญาของปุถุชนนั้นไม่ใช่ปัญญาของพระอริยบุคคล จึงไม่สามารถจะดับกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันก็ดับความเห็นผิดซึ่งถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าผู้ที่จะดับกิเลสได้นั้นต้องเป็นผู้ที่อดทน และมีปัญญารู้ว่าการดับกิเลสนั้น คือดับกิเลสในชีวิตประจำวัน ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย และคิดนึก เพราะว่า วันหนึ่งๆ ที่จะไม่คิดนึกนั้นเป็น ไปไม่ได้ เห็นสิ่งใดก็คิดเรื่องสิ่งที่เห็น จากโทรทัศน์บ้าง จากหนังสือบ้าง จากที่ได้ยินได้ฟังบ้าง สิ่งที่ปรากฏทางตาเงียบไม่มีเสียงก็ยังไม่พอ ต้องฟังทางหูประกอบกับสิ่งที่ได้เห็นทางตา ให้รู้เรื่องนั้นๆ มากขึ้นไปอีก

    นี่ก็เห็นได้แล้วว่า กิเลสทั้งหลายกลุ้มรุมเหมือนโจรที่ล้อมไว้อย่างหนาแน่นเพียงไร อย่างนักประวัติศาสตร์ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด เห็นวัตถุโบราณต่างๆ เพียงเห็นเท่านั้น ก็ไม่สามารถรู้ถึงประวัติความเป็นมาของสิ่งนั้นได้ ต้องอาศัยการฟังเรื่องราวของสิ่งนั้นอีก เพราะฉะนั้น ทั้งที่เห็นทั้งทางตาและที่ได้ยินทางหูก็ประกอบกันเป็นเรื่องราว ซึ่งทำให้จิตใจหมกหมุ่นครุ่นคิดในแต่ละเรื่องด้วยโลภะซึ่งเป็นสมุทัย แล้วเมื่อไรจะดับได้ ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงว่า "ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งๆ "

    จิตที่เห็นทางตาเพียงเห็นไม่ได้คิด แต่เมื่อเห็นแล้วจิตก็คิดต่อทางใจ ฉะนั้น ทุกครั้งที่คิดก็ให้ทราบว่าเป็นจิตขณะหนึ่งๆ เรื่องราวทั้งหลายที่ยาวมากเพราะจิตคิดเป็นเรื่องเป็นราว การวิพากษ์วิจารต่างๆ ก็เกิดจากจิตที่คิดเรื่องนั้นๆ ทีละคำ จิตผูกพันในเรื่องที่คิดจนไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งเป็นสมุทัยด้วย

    เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะอดทนที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ และเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะให้กิเลสเบาบางลง มิฉะนั้น ไม่มีหนทางเลยที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ เพราะเหตุว่าเป็นหนทางที่ยาวนานและไกลมาก เมื่อมีสติก็จะรู้สภาพของจิตละเอียดขึ้นว่าเต็มไปด้วยโลภะในวันหนึ่งๆ มากมายเพียงใด

    ข้อความในมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ กถาปรารภคัมภีร์ มีว่า ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ประกอบอยู่ในสมาธิโดยเคารพ ละความฟุ้งซ่าน ไม่มีจิตเป็นอื่น จงตั้งโสตปสาทดังภาชนะทองรองรับมธุรส คือพระธรรม คนที่ต้องตายเป็นผู้รู้ จะต้องละกิจอื่นเสียให้หมดแล้ว ฟังก็ดี กล่าวก็ดี ในที่นี้ได้ตลอดกาลเป็นนิจ โดยเคารพ ด้วยว่ากถานี้เรียบเรียงได้แสนยากแล

    พระธรรมทั้งหมดที่พระเถระได้รับฟังสืบๆ ต่อกันมาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งรวบรวมเป็นพระไตรปิฏกและอรรถกถา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะกระทำได้โดยง่ายเลย เมื่ออ่านพระสูตรๆ หนึ่ง ตั้งแต่ต้นจนจบแล้วให้กล่าวทวนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ไหม แต่คนสมัยนั้นทำได้ เพราะปัญญาของท่านละความฟุ้งซ่าน ไม่มีจิตเป็นอย่างอื่น ฟังก็ดี กล่าวก็ดี ในที่นี้ได้ตลอดกาลเป็นนิจโดยเคารพ ทำให้พระไตรปิฏกและอรรถกถาสืบทอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ เพราะฉะนั้นทุกท่านก็คงจะเห็นคุณของพระธรรมทั้ง ๓ ปิฏกและอรรถกถา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่