กล้ามเนื้อสลาย ภัยที่นักวิ่งระยะไกลต้องระวัง


ช่วงนี้โควิด -19 ผ่อนคลายลงแล้ว กิจกรรมและอีเวนต์ต่าง ๆ ก็เริ่มกลับมาจัดกันอย่างคึกคัก รวมถึงงานวิ่งต่าง ๆ ทั้งวิ่งในเมือง วิ่งต่างจังหวัด วิ่งเทรล แล้วก็จะเริ่มได้ยินข่าวนักวิ่ง เสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้น หัวใจวาย หรือ ถูกหามส่งโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะไตวาย กล้ามเนื้อสลาย ขาดน้ำ และอีกหลายสาเหตุ วันนี้พี่หมอจะขอหยิบยกเรื่องของ “ภาวะกล้ามเนื้อสลาย” มาเล่าให้ฟังนะครับ 
 
แต่….สายวิ่ง สายออกกำลังทั้งหลาย อย่าเพิ่งตกใจ เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ถ้าเรามีความรู้ สังเกตตัวเอง ระมัดระวัง และไม่ฝืน เราก็สามารถวิ่งและออกกำลังได้อย่างสนุก ปลอดภัย และมีร่างกายที่แข็งแรงครับ

🏃ทำความรู้จักภาวะกล้ามเนื้อสลาย 
มีรายงานว่า พบผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อสลายในสหรัฐอเมริกา ประมาณปีละ 25,000 ราย ภาวะกล้ามเนื้อสลายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่พบในเพศชาย เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้มีภาวะโรคอ้วน และอายุมากกว่า 60 ปี โดยพบอัตราการเสียชีวิตที่ไม่มีภาวะไตวาย ประมาณ 20% และเสียชีวิตมากถึง 50% สำหรับผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากภาวะกล้ามเนื้อสลาย ที่น่าสนใจคือ 10 - 30% ของภาวะกล้ามเนื้อสลายมีสาเหตุจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกาย

กล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) เป็นภาวะทางการแพทย์ที่ร้ายแรง ซึ่งการสลายของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อโดยตรงหรือจากการออกแรงของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะการวิ่งระยะไกลและการวิ่งลงเนิน นอกจากนี้ กล้ามเนื้อสลายยังเกิดจากอาการกดทับจากอุบัติเหตุ รวมถึงผลกระทบจากยาบางชนิด และพันธุกรรมได้ด้วยครับ

ความร้อน ภาวะขาดน้ำ และการออกกำลังกายหรือกีฬาแบบเอ็กซ์ตรีมเป็นสาเหตุร่วมที่พบบ่อยที่สุด เมื่อเกิดการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อลาย (Skeletal muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่พบเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 40 % ของมวลกาย มีหน้าที่สำคัญคือทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ) จะปล่อยโปรตีนไมโอโกลบิน (Myoglobin) ซึ่งมีขนาดใหญ่สีแดง ทำหน้าที่เก็บออกซิเจนในเซลล์กล้ามเนื้อ รวมถึงปล่อยเอนไซม์ซีเค (Creatine kinase: CK)  ซึ่งเซลล์ต่างๆ ใช้ช่วยในการทำงานและปล่อยเกลือแร่ เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม เมื่อโปรตีนไมโอโกลบิน เอนไซม์ซีเคและเกลือแร่ รั่วไหลออกจากเซลล์ที่เสียหายเข้าสู่กระแสเลือด นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนมากมาย เช่น  ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น และภาวะไตวาย

🌞สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อสลาย
แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1.   สาเหตุทางกายภาพ 
·    นักวิ่งที่เพิ่มความเข้มข้นในการฝึกซ้อมอย่างกะทันหัน หลังจากช่วงเวลา ปรับสภาพร่างกาย เช่น การฟื้นตัวจากอาการป่วยหรือการพักการฝึก  
·    การออกกำลังกายหรือใช้แรงอย่างหักโหม เช่น วิ่งมาราธอน
·    การแข่งกีฬาในระดับความหนักและนานกว่าที่เคยฝึกซ้อมมากๆ 
·    การฝึกซ้อมหรือการแข่งขันในขณะที่ขาดน้ำ ในวันที่อากาศร้อนจัด หรือภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติเป็นเวลานาน
·    อุบัติเหตุรุนแรงต่อกล้ามเนื้อในลักษณะบด อัด กด ทับ (Crush injury) เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ดินถล่ม 
·    การชักเกร็งอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคลมชัก 
 
2.   สาเหตุที่ไม่ใช่ทางกายภาพ 
●  ผลกระทบจากการรับประทานยาสแตติน เพื่อลดคอเลสเตอรอล ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้ และยาทางจิตเวช รวมถึงยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS)       
●  อาการป่วยจากไวรัสหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ปัญหาต่อมไร้ท่อ ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์   
●  ความผิดปกติทางพันธุกรรม 
●  ภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือด เช่น ภาวะติดเตียงเป็นเวลานาน
●  การดื่มแอลกอฮอล์
●  การผ่าตัด หรือได้รับยาสลบ  
 
สัญญาณเตือนภาวะกล้ามเนื้อสลาย
อาการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับภาวะกล้ามเนื้อสลาย  ได้แก่  ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง และปัสสาวะลดลงหรือปัสสาวะมีสีโค้ก  นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ซึ่งอาจแสดงออกหลังออกกำลังกาย นานถึง 24 - 48 ชั่วโมง เช่น
●  อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
●  ปวดข้อ
●  สับสน
●  อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น 
●  คลื่นไส้ อาเจียน 
●  ภาวะขาดน้ำ 
●  ปวดท้อง 
●  เอนไซม์ซีเค เพิ่มขึ้น 5-10 เท่าจากระดับปกติ (สามารถวัดได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น)
 
🩺การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อสลาย
แม้อาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง และปัสสาวะเป็นสีโค้ก เป็นลักษณะเฉพาะของภาวะกล้ามเนื้อสลาย แต่ผู้ป่วยมากกว่า 50% อาจไม่มีอาการเหล่านี้ อาการปวดกล้ามเนื้อเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด และพบได้ในผู้ใหญ่ประมาณ 50% ของผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อสลาย ขณะที่ปัสสาวะสีโค้กพบประมาณ 30- 40%  อาการอ่อนแรงมักเกี่ยวข้องกับกลุ่มกล้ามเนื้อใกล้เคียง อาจไม่มีอาการจำเพาะ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ตึง กล้ามเนื้อบวม วิงเวียน ปวดท้อง คลื่นไส้ ใจสั่น มีไข้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย 
 
ผลเลือดของผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อสลายจะพบว่า มีระดับ CK ที่สูงขึ้น (ระดับ CK ปกติคือ 20 - 200 IU/Lอย่างน้อย 5 เท่า หรือเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักพันหรือหลักหมื่น 
 
การสลายตัวของเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอิเล็กโทรไลต์ เช่น ระดับโพแทสเซียม ฟอสเฟต และแคลเซียม   
แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ เช่น การนับเม็ดเลือด  ตรวจการทำงานของระบบเมตาบอลิซึม ทดสอบการทำงานของตับ วิเคราะห์ปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ (EKG) และเอกซเรย์ทรวงอก
 
👩‍⚕การรักษาภาวะกล้ามเนื้อสลาย
ในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อสลายจากการบาดเจ็บ ควรเริ่มต้นด้วยการให้น้ำเกลือโดยเร็วที่สุด ความล่าช้าในการช่วยชีวิตอาจทำให้ช็อกจากการขาดน้ำ (Hypovolemic Shock) ควรให้ของเหลวในปริมาณมากถึง 10 - 20 ลิตรเพื่อรักษาน้ำภายในหลอดเลือดและช่วยขับสารพิษออกทางปัสสาวะ  เมื่อผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล การตรวจติดตามปริมาณปัสสาวะอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการตรวจสอบระดับ CK แบบต่อเนื่องทุกวัน  
นอกจากนี้ภาวะกล้ามเนื้อสลายยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของไต ภาวะขาดสมดุลของโพแทสเซียม แคลเซียม กรดยูริก และฟอสเฟต จึงจำเป็นต้องรักษาระดับเกลือแร่ให้สมดุลด้วยนะครับ
 
💊การดูแลแบบอื่น ๆ
●  การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม กรณีมีภาวะติดเชื้อร่วมด้วย  
●  ผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อสลาย ควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและวิธีลดความเสี่ยง 
การป้องกันภาวะกล้ามเนื้อสลาย  
●  วางแผนการดื่มน้ำที่เหมาะสม โดยเฉพาะนักวิ่งเทรลควรทดสอบแผนการดื่มน้ำระหว่างการฝึก เพื่อค้นหากลยุทธ์เฉพาะบุคคลที่ดีที่สุด 
●  หลีกเลี่ยงการเพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกายหรือการฝึกอย่างกะทันหัน
●  หลีกเลี่ยงการแข่งหรือฝึกซ้อมอย่างหนักในขณะที่มีอาการเจ็บป่วย  
●  24 ชั่วโมง หลังการวิ่งเทรลหรือวิ่งระยะไกล ควรให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำ การรับประทานอาหาร รวมถึงการดื่มน้ำที่มีอิเล็กโทรไลต์ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม ผักและผลไม้สด ซึ่งช่วยในการทดแทนอิเล็กโทรไลต์ และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อช่วยในการรักษาเนื้อเยื่อที่จำเป็นอื่นๆ
●  พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเกี่ยวกับความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อสลายที่สัมพันธ์กับการฝึกและยาที่ใช้อยู่
●  นักกีฬาควรชั่งน้ำหนักตัวเองในวันถัดไปหลังจากวิ่งระยะไกล หากน้ำหนักลดลงเกิน 2% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด หรือสังเกตเห็นว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจบ่งบอกถึงความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ที่ตกค้างหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ นักกีฬาหลายคนชั่งน้ำหนักตัวเองก่อนและหลังการฝึกเพื่อประเมินการสูญเสียของเหลวทั้งหมดเทียบกับการเปลี่ยนระหว่างการฝึกซ้อม เพื่อกำหนดปริมาณของน้ำที่ควรได้รับ ผู้เชี่ยวชาญบางคนสนับสนุนให้ใช้ความรู้สึกกระหายน้ำเป็นตัวกำหนดการดื่ม มากกว่าการดื่มตามปริมาณที่นักวิชาการแนะนำ และมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนที่แนะนำให้ใส่ใจกับปริมาณและสีของปัสสาวะด้วย 
 
ความตระหนักรู้ การฝึกฝน และการดื่มน้ำที่เหมาะสม จะช่วยให้ นักวิ่งเทรล นักวิ่งอัลตรา และนักวิ่งระยะไกล รวมถึงคนที่ชอบออกกำลังกายหนักๆ สามารถหลีกเลี่ยงผลร้ายแรงหรืออาจถึงแก่ชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อสลาย   
สิ่งสำคัญคือฟังร่างกายตัวเอง  หากพบสัญญาณเตือนภาวะกล้ามเนื้อสลายควรรีบพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยไว้ พี่หมอเป็นห่วงนะครับ ขอให้มีความสุขกับการวิ่งและการออกกำลังกายนะครับทุกคน 😊
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่